‘พาณิชย์’ เผยตัวเลขส่งออกเดือนพ.ค.63 ติดลบ 22.5% หดตัวมากสุดในรอบ 130 เดือนหรือกว่า 10 ปี จากผลกระทบโควิด-19 เศรษฐกิจโลกชะลอตัว มองการส่งออกในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้ายังไม่ฟื้น หลังการนำเข้าเครื่องจักร-วัตถุดิบร่วงหนัก
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพ.ค.63 ว่า การส่งออกไทยในเดือนพ.ค. มีมูลค่า 16,278 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 22.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 5 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.63) มีมูลค่า 97,899 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 3.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม หากหักตัวเลขการส่งออกสินค้าเกี่ยวกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ จะพบว่าตัวเลขส่งออกในเดือนพ.ค.63 ติดลบ 27.19% และเมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มสินค้าจะพบว่า การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ ติดลบ 62.6% , น้ำมันสำเร็จรูป ติดลบ 42.4% ,เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ติดลบ 39.5% ,เครื่องจักรและส่วนประกอบ ติดลบ 37% ,เคมีภัณฑ์ ติดลบ 30% และเม็ดพลาสติก ติดลบ 26.7% เป็นต้น
“มูลค่าส่งออกเดือนพ.ค.63 ต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับจากเดือนเม.ย.59 และเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 130 เดือนหรือในรอบกว่า 10 ปี นับจากเดือนก.ค.52 โดยมีสาเหตุจากผลกระทบของโควิดที่ชัดและมีนัยสำคัญ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประกอบกับมูลค่าส่งออกเดือนพ.ค.62 อยู่ที่ 21,015 ล้านดอลลาร์ เมื่อฐานเดิมสูง ทำให้ส่งออกติดลบเยอะ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลายตัวหดตัวมาก เพราะมีปัญหาโลจิสติกส์” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
สำหรับการนำเข้าในเดือนพ.ค. มีมูลค่า 13,584 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 34.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การนำเข้าในช่วง 5 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.63) มีมูลค่า 88,808 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 11.64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในเดือนพ.ค.ไทยเกินดุลการค้า 2,694.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ 5 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.63) ไทยเกินดุลการค้า 9,090.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า เมื่อมองไปข้างหน้า การส่งออกไทยไม่น่าจะต่ำไปกว่าเดือนเม.ย.-พ.ค.แล้ว เพียงแต่ว่าขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะฟื้นเมื่อไหร่ และต้องอยู่ในภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องไม่มีการระบาดของโควิดรอบใหม่ หรือมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การนำเข้าที่หดตัว 34.41% นั้น เป็นการหดตัวของการนำเข้าเครื่องจักร และวัตถุดิบ ทำให้คาดว่าการส่งออกไทยในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า จะยังไม่มีฟื้นตัว ขณะที่เงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่า
“การฟื้นตัวของการส่งออกจะเป็นรูปอะไร เราคงไม่คิดไปถึงตรงนั้นแล้ว ซึ่งตอนนี้น่าจะต่ำสุดแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะฟื้นตัวเมื่อไหร่” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
น.ส.พิมพ์ชนก ยังระบุว่า แม้ว่าการส่งออกเดือนพ.ค.63 จะหดตัวค่อนข้างมาก แต่จะพบว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้ากลุ่มอาหารกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 22% ของมูลค่าการส่งออก จากเดิมที่มีสัดส่วน 15-16% ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยจะต้องเน้นไปที่การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารมากขึ้น พร้อมทั้งมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อโควิดในกระบวนการผลิตและโรงฆ่าสัตว์ หลังจากมีข่าวในต่างประเทศว่ามีการติดเชื้อโควิดจากโรงฆ่าสัตว์
ส่วนแนวโน้มการส่งออกทั้งปี 63 น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า สนค.ไม่ได้ตั้งเป้าหมายตัวเลขส่งออกไว้ แต่จากการคำนวณเบื้องต้น หากการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ กลับมามีมูลค่าเฉลี่ย 1.7-1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน การส่งออกปี 63 จะติดลบ 5% แต่หากตัวเลขดีกว่านั้น การส่งออกติดลบน้อยลง
นอกจากนี้ สนค.ได้มีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ 6 ข้อ ได้แก่ 1.ช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางให้ดำเนินธุรกิจอยู่ได้ ในภาวะที่การส่งออกยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว เพราะหากธุรกิจเหล่านี้ปิดตัวไปก็จะกระทบการจ้างงานเป็นจำนวนมาก และแม้ว่ารัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมาตรการเสริมสภาพคล่อง โดยสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) แล้ว แต่พบว่าบริษัทกลุ่มนี้ยังเข้าถึงซอฟท์โลนได้ยาก
2.สนับสนุนการรุกตลาดส่งออกที่ยังมีศักยภาพ มีกำลังซื้อ ฟื้นตัวจากโควิดได้เร็ว และมีความต้องการสินค้าจากไทย เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ 3.ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตสินค้าที่เป็น new normal ซึ่งมีการกิน อยู่ ใช้ บริโภคทุกวัน เช่น สินค้าที่มีความปลอดภัย สินค้าด้านสุขภาพ รวมถึงสินค้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับ work from home เป็นต้น
4.ประสานงานและช่วยแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังมีต้นทุนที่สูงมาก และมีปัญหาการปฏิบัติ และ5.สนับสนุนผู้ส่งออกในเรื่องการประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยภาครัฐจะต้องมีมาตรการที่ทำให้ผู้ส่งออกเข้าถึงการประกันความเสี่ยงได้ง่ายขึ้น และ6.การเชื่อมโยงนโยบายการค้าและการลงทุน โดยสนับสนุนซัพพลายเชนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะซัพพลายเชนที่ย้ายฐานการผลิตมาจากจีน
อ่านประกอบ :
ชำแหละ ‘รายจ่าย-แผนกู้’ ปีงบ 64 รัฐบาล ‘ประยุทธ์’ มองข้ามช็อต 'ศก.ฟื้น-โควิดยุติต้นปีหน้า'
แบงก์ชาติ : เราคงไม่ปล่อยให้ NPLs ไปถึงร้อยละ 50-อาจมีเรื่องระบาดระยะที่สอง
แจง 5 มาตรการขั้นต่ำช่วยลูกหนี้! ธปท.สั่งพักหนี้ 'บ้าน-รถ' อีก 3 เดือน-ลดค่างวด-ชะลอยึดทรัพย์
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ทั่วโลกอัดฉีดฟื้นเศรษฐกิจ ‘ยังไม่เห็นผล’ ส่งออกไทย รอสร่าง ‘ไข้โควิด’ ปีหน้า
เช็กกระสุนฟื้นโควิด ‘บิ๊กตู่’ เหลือ 'เงินกู้-งบกลาง' ในมือ 4 แสนล้าน-จับตาพายุหนี้ 19 ล้านล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/