‘เศรษฐพุฒิ’ ชี้ 3 บริบท ‘ปัจจัยเสี่ยง’ เศรษฐกิจโลก กระทบ ‘การค้าโลก-ส่งออก’ ระบุ 3 นโยบายรัฐบาลใหม่ ‘สหรัฐ’ ทำให้การ ‘ลดดอกเบี้ย’ ไม่เป็นไปตามคาด ห่วงกระตุ้น ‘บริโภค’ อาจไม่ทำให้ ‘ภาคการผลิตไทย’ โตตาม หลังสินค้านำเข้าจากจีนทะลัก
........................................
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘นโยบายด้านการเงิน : การสร้าง Resiliency for an uncertain world’ ในงานสัมมนา Thailand Next Move 2025 ตอนหนึ่ง ว่า สิ่งที่พอเห็นได้ว่า จะมีหรือเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ไม่ช้าก็เร็ว มีอย่างน้อย 3 เรื่อง เรื่องแรก คือ Geoeconomic Fragmentation หรือการค้าและการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่จะค่อยๆ ‘แยก’ เพิ่มขึ้น จากนโยบายกีดกันฯของสหรัฐ
“ถามว่า มันจะเกิดขึ้นเร็วแค่ไหน อันนี้ต้องติดตามดู เพราะว่าซัพพลายเชนต่างๆผูกกันค่อนข้างเยอะ จะแยกกันโดยสิ้นเชิงคงค่อนข้างลำบาก และผลข้างเคียงก็จะสูงเช่นกัน แต่เมื่อดูแล้ว คิดว่าตรงนี้น่าจะมา การค้าโลกยังไงๆ ก็ต้อง suffer พูดง่ายๆ คือ สัดส่วนการค้าโลกต่อการเติบโตจีดีพีโลก น่าจะเห็นการลดลง” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
เรื่องที่สอง นโยบายเศรษฐกิจประเทศหลักที่จะส่งผลต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก โดยสิ่งที่จะเห็นต่อไป คือ นโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศหลัก จะไม่ไปในทิศทางเดียวกันและการดำเนินนโยบายมีความรวดเร็วที่แตกต่างกัน ซึ่งแตกต่างจากในช่วงโควิดที่ทุกประเทศดำเนินนโยบายไปในทางเดียวกัน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศหลักๆ ไม่เท่ากัน
“ถ้าเรามานั่งดู ประเทศพี่ใหญ่ของเรา คือ สหรัฐ ในช่วงหลังๆ เศรษฐกิจสหรัฐ perform ดีกว่าเศรษฐกิจอื่นๆค่อนข้างมีนัยยะ เศรษฐกิจเขาดี ตลาดทุนของเขาดูดี แต่คำถามตอนนี้ คือ นโยบายของรัฐบาลใหม่ จะทำให้เกิดอะไรขึ้น…ถ้าเราพยายามจับของที่พอดูออก พอคลำออกว่า จะมีอะไรบ้าง นโยบายที่เป็นข่าวเยอะ คือ เรื่อง tariff (การขึ้นอัตราภาษีศุลกากร) ก็คงเห็น แต่อาจไม่เห็นมากเท่าที่ประกาศกัน แต่แนวการใช้ tariff ก็คงมี และผลต่อการค้าโลกก็จะตามมา
อันที่สองที่จะเห็น คือ นโยบายด้านการลดภาษีต่างๆ คงจะนำไปสู่เรื่องการขาดดุลการคลังของสหรัฐที่เพิ่มสูงขึ้น และอาจสูงขึ้นกว่าที่คนคาดการณ์ เพราะแม้ว่าตอนนี้มีกระแสว่า จะไปลดรายจ่าย ตัดการ spending (การใช้จ่าย) ของสหรัฐค่อนข้างเยอะ แต่การตัดรายจ่ายนั้น ในความเป็นจริงแล้ว คงทำอะไรได้ยาก สิ่งที่จะเห็น คือ ภาษีมันลด แต่รายจ่ายไม่ค่อยลงมาอย่างที่คิด การขาดดุลการคลังของสหรัฐจะยิ่งสูงไปใหญ่
อันที่สามที่คงเห็น เป็นเรื่อง deportation (การเนรเทศ) พวกลักลอบเข้าเมือง ถ้าเราไล่ทั้ง 3 เรื่อง tariff ,การขาดดุลการคลังที่สูงขึ้น และกวาดแรงงานแล้วส่งกลับ ทั้ง 3 เรื่องนี้ ล้วนแต่จะทำให้เงินเฟ้อที่สหรัฐฯสูงขึ้น และสิ่งที่เราจะเห็นจากทิศทางของสหรัฐ คือ ภาพที่เงินเฟ้อสหรัฐที่เดิมมองว่าจะลงสู่เป้า จะเข้าสู่เป้าได้ยากขึ้น ถ้าเงินเฟ้อเข้าสู่เป้ายากขึ้น ดอกเบี้ยที่เดิมคนคาดการณ์ว่าจะปรับ และผลต่อเศรษฐกิจ การเงินโลก อาจไม่เป็นอย่างที่คาดไว้” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เรื่องที่สาม เรื่อง Market & pricing of risk ถามว่าตลาดรับรู้ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนเหล่านี้ มากเท่าที่ควรหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่างๆเหล่านี้ ถูก Price In เข้าไปในตลาดไม่มากเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็น bond spread รวมถึงตลาดหุ้นสหรัฐที่ Outperform ค่อนข้างมากนั้น จะเห็นได้ว่า มาจากหุ้นไม่กี่ตัว โดยหลักๆ จะเป็นหุ้น Apple ,NVIDIA และ Microsoft
“เพื่อให้เห็นภาพว่าสถานการณ์ และ pricing มันดูไม่ธรรมดา คือ มาเก็ตแคปของหุ้นตัวเดียว คือ NVIDIA อยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านล้านเหรียญ หุ้นตัวเดียวใหญ่กว่ามาเก็ตแคปโดยรวมของแคนาดาทั้งประเทศ ของอังกฤษทั้งประเทศ ของฝรั่งเศสทั้งประเทศ และของเยอรมันทั้งประเทศ อันนี้ มันก็กลับมาว่า ของพวกนี้ ความเสี่ยงและความไม่แน่นอน ถ้าถูก Price ไม่ดี โอกาสที่ความเสี่ยงจะมาจากความผันผวนของตลาด คงมีในข้างหน้า” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
@กระตุ้นการบริโภค อาจไม่ทำให้‘ภาคผลิต’โต
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า ในเรื่อง Geoeconomic Fragmentation ที่จะมีการแบ่งขั้วกันต่างๆ ควบคู่ไปกับการที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตช้านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นและได้เห็นมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา คือ จีนมีการส่งออกสินค้ามากขึ้น โดยส่งออกมาที่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาค ซึ่งในช่วงปี 2020-2021 (พ.ศ.2563-2564) ตัวเลขนำเข้าสินค้าจากจีน เริ่มวิ่งและปักหัวขึ้น ทั้งนี้ การที่ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องดังกล่าว ส่งผลให้ภาคการผลิตของไทยขยายตัวในระดับต่ำ
“การนำเข้าสินค้าจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลอย่างไรต่อไทย สิ่งที่เราเห็น คือ เราเริ่มเห็นการฉีกของอัตราการเติบโตของการบริโภคสินค้าของไทย หรือพูดง่ายๆ คือ อุปสงค์ในประเทศที่มันโต และโตมาได้โอเคนั้น เริ่มไม่ค่อยส่งผลต่อภาคการผลิต เพราะว่าภาคการผลิตถูกกดดันจากสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นจากจีน จากเดิมที่ 2 เส้นนี้ จะไปควบคู่กัน คือ การบริโภคในประเทศโต การผลิตต่างๆก็โตตามไปด้วย แต่เราเริ่มเห็นสัญญาณว่ามันฉีกกัน
การบริโภคสินค้าโต แต่ภาคการผลิตไม่ค่อยโต และตัวเลขมันก็สะท้อน เพราะถ้าเราดูตัวเลข ในช่วงก่อน 2020-2021 จีดีพีภาคการผลิตของไทยเติบโตที่ 1.6% ขณะที่การบริโภคสินค้าก็โตอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน คือ 1.8% แต่ในช่วงหลัง จะเห็นว่าแม้ว่าการบริโภคจะโตสูงกว่าในอดีตด้วยซ้ำ คือ โต 2.1% แต่ภาคการผลิตแทบไม่โตเลย โตแค่ 0.6% โดยเราจะเห็นว่า ค่าความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคกับการผลิต ที่เคยอยู่ที่ 0.79% ล่าสุดลดลงมาเหลือ 0.05%
มันสะท้อนกลับมาว่า ถ้าเราเห็นว่า มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่มันโดนเรื่องการแข่งขันมาจากฝั่งซัพพลายค่อนข้างเยอะ ถ้าเราไปบอกว่า เราต้องกระตุ้นเรื่องการบริโภค ซึ่งจริงๆแล้ว เราก็เห็นว่า การบริโภคมันไม่ได้ชะลอขนาดนั้น เมื่อเทียบกับในอดีต ถ้าเราไปกระตุ้นการบริโภค ในขณะที่การแข่งขันจากสินค้าจากจีนสูงอย่างนี้ กระตุ้นไปสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ภาคการผลิตของเราอาจไม่โตก็ได้ กระตุ้นไปสิ่งที่จะตามมา ก็กลายเป็นเรื่องการนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้น
นี่ก็เป็นตัวอย่างของผลข้างเคียง ที่เราเห็นว่ามากระทบกับภาคการผลิตเรา และกระทบต่อเรื่องอื่นๆด้วย อย่างเช่น เรื่องสินเชื่อ สินค้ารถยนต์ที่เข้ามา รถยนต์ EV ต่างๆ ทำให้ราคารถยนต์มือสองลดลง เมื่อธนาคารเห็นราคารถยนต์มือสองลดลง ความเสี่ยงจากด้านสินเชื่อ expected credit loss (ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น) ก็เพิ่มขึ้นทันที อัตราการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ ก็เลยดรอปลง และปีต่อไปเราจะเจออารมณ์อย่างนี้เยอะ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
@ชู ‘Robust Policy’ รับมือบริบทโลกที่ไม่แน่นอนสูง
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในบริบทที่โลกมีความไม่นิ่ง มีความเสี่ยง และมีความไม่แน่นอนสูง นั้น ธปท.ได้มีการดำเนินการต่างๆ เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยมี Resiliency ซึ่งเรื่อง Resiliency นั้น ไม่แค่เรื่องความมีเสถียรภาพ (stability) เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน (buffer) และทางเรื่องอื่นๆ (option) และการสร้างโอกาสการเติบโตจากโอกาสหรือของใหม่ๆ (digital & transition) ผ่านการดำเนินนโยบาย Robust Policy เพื่อรองรับได้ในหลายสถานการณ์
“คำว่า Robust Policy ความหมายของมันมีเฉพาะคือว่า เป็นนโยบายที่เหมาะสมกับสถานการณ์หลายสถานการณ์ อาจจะไม่ใช่นโยบายที่เราเรียกว่า optimal คือ เหมาะที่สุดสำหรับสถานการณ์ตัวนี้ แต่ด้วยความที่มีความไม่แน่นอนสูง มีโอกาสที่อันโน้นอันนี้จะเปลี่ยนไปได้ เราจึงเลือกนโยบายที่เหมาะสมกับหลายสถานการณ์ และตัวนี้ (Robust Policy) จะช่วยเรื่อง Resiliency ได้ดีกว่า” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ ธปท.ทำเพื่อให้ได้มาในเรื่องเหล่านี้ คือ 1.ในด้านนโยบายการเงิน ธปท.พยายามทำในรูปแบบ policy integration framework คือ ไม่ใช้นโยบายใดนโยบายหนึ่งเพียงนโยบายเดียว อย่างเรื่องนโยบายการเงินนั้น เรื่องดอกเบี้ยจะต้องเล่นหลายบทบาท คือ จะต้องดูเรื่องเสถียรภาพภายในประเทศ ดูเรื่องเสถียรภาพต่างประเทศ และจะต้องดูเรื่องลูกหนี้และเจ้าหนี้ด้วย
“จะให้ดอกเบี้ยอันเดียวไปตอบโจทย์ทุกอย่างโดยตัวของมันเอง คงเป็นไปได้ยาก การดำเนินนโยบายให้มันมี Resiliency จะต้องเสริมด้วยอย่างอื่นมาควบคู่ไปด้วย ใช้นโยบายการเงินเรื่องดอกเบี้ยไปควบคู่กับมาตรการอื่นๆ เช่น มาตรการด้านการเงิน มาตรการแก้หนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ที่เข้ามาเสริม
อีกอันที่เราทำ คือ การ set นโยบายการเงิน และดูเรื่องดอกเบี้ยต่างๆ เราดู outlook dependent มากกว่าไปเน้น data dependent อันนี้ก็สอดคล้องกับที่เราเจอโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ผันผวนสูง ถ้าเราพึ่ง data ที่ออกมา data จะมี noise (เสียงรบกวน) จะมีความไม่แน่นอน มีความผันผวนของมัน
ถ้าเราไปตัดสินใจบน data ที่ออกมา จะทำให้นโยบายขาดเสถียรภาพ จะทำให้นโยบายมันเป๋เร็วไป และการทำนโยบายแทนที่จะลดความเสี่ยงในระบบ ลดความไม่แน่นอนในระบบ กลายเป็นจะทำให้ความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นไปใหญ่ คือ นโยบายกลายเป็น source ของความไม่แน่นอนเพิ่มเติม ซึ่งเราไม่อยากเห็น
อีกอย่างที่สำคัญของการดำเนินนโยบายที่ Robus คือ ต้องมีความยืดหยุ่นของมัน และที่เราพยายามไม่ทำ อย่างที่บางประเทศทำ และเราคิดว่า การทำไม่ทำ ถูกแล้ว คือ อย่าไปให้ forward guidance มากเกินไป เพราะการให้ forward guidance ที่ถูกต้องและเหมาะสม ทำได้ยาก...
สิ่งที่เราไม่ต้องการเห็น คือ การทำนโยบายไปทางหนึ่ง เสร็จแล้วเห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงไป แล้วต้องกลับลำ คงไม่เหมาะสม และไม่เป็นนโยบายที่เอื้อให้เศรษฐกิจไทย Resiliency” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า นอกจากเรื่องนโยบายการเงินแล้ว ธปท.ดูฝั่งอื่นๆ ที่จะช่วยเรื่องการสร้าง Resiliency ของเศรษฐกิจ คือ การสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน โดยออกมาตรการ Responsible Lending เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การจัดการภัยทุจริตทางการเงิน และการวางรากฐานเพื่อรองรับกระแสโลกใหม่ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม (Green) และเรื่องดิจิทัล (digital) เพื่อสร้าง Resiliency ให้เศรษฐกิจไทย
อ่านประกอบ :
'ผู้ว่าฯธปท.'ไม่รีบลดดอกเบี้ยตาม'เฟด'-ย้ำดู 3 ปัจจัย หาก outlook เปลี่ยนพร้อมปรับนโยบาย
'ดอกเบี้ยต่ำ'กระตุ้นเศรษฐกิจ'โตเร็ว'ระยะสั้น อาจสะสมความเปราะบาง-นำไปสู่วิกฤติร้ายแรงได้
ผู้ว่าฯธปท.ชี้ 3 ปัจจัยฉุดปท.ไทย‘โตแบบเดิม’ไม่ได้ ชูโมเดล‘ท้องถิ่นสากล’-SEZ ไม่ใช่ทางออก
‘ผู้ว่าฯธปท.’เผย‘กนง.’กังวลสภาวะการเงิน‘ตึงตัว’ ย้ำ 3 เงื่อนไขปรับดบ.-ปัดตอบลดค่าฟี FIDF
ผู้ว่าฯธปท.ห่วง'หนี้ครัวเรือน'โตไม่หยุด 'จบไม่ดี'เหมือนปี 40-ชี้บริโภคกระจุก'คนรายได้สูง'
เศรษฐพุฒิ : ศก.'โตต่ำ-ฟื้นช้า'ซ่อนทุกข์ปชช.-'แบงก์'ไม่อยากเป็นตัวร้าย โทษ'ธปท.'คุมสินเชื่อ
‘ผู้ว่าฯธปท.’จี้ลงทุน-รื้อโครงสร้างศก.ดันGDPโตเกิน 3%-ย้ำขยับ‘กรอบเงินเฟ้อ’กระทบเครดิต