‘เศรษฐพุฒิ’ ย้ำจุดยืนไม่จำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ยตาม ‘เฟด’ ขอพิจารณา outlook ใน 3 ปัจจัย ‘แนวโน้มเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ-เสถียรภาพการเงิน’ หากมุมมองเปลี่ยนไป ก็พร้อมปรับนนโยบาย
............................................
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5% สู่ระดับ 4.75-5% ว่า การที่เฟดลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา 0.5% สำหรับเฟดแล้วถือว่าไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้ส่งกระทบต่อตลาดมากนัก เนื่องจากตลาดรับรู้ข่าวและได้ price in ไปแล้ว ส่วนผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น หลักๆแล้วจะเป็นในฝั่งตลาดเงิน
“เหมือนที่เราเห็นกันในช่วงก่อนหน้านี้ ด้วยความที่คนคาดการณ์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยค่อนข้างเยอะ เราก็เห็นดอลลาร์ฯอ่อนมาพอสมควร และเงินในภูมิภาค รวมถึงเงินบาท มีการแข็งค่า ช่องทางที่มันมากระทบเศรษฐกิจไทย หลักๆแล้ว ก็เป็นฝั่งตลาดเงิน ผลกระทบในแง่พวกบอนด์ยีลด์ก็มีบ้าง แต่โดยรวมแล้ว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจไม่ได้ร้ายแรง หรือมากมายขนาดนั้น เพราะเราเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งระบบแบงก์เป็นส่วนใหญ่ ช่องที่กระทบเยอะ จึงเป็นเรื่องค่าเงิน
อย่างที่เราเห็น ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น มาจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ฯ และอีกอย่างที่ไปซ้ำเติมผลกระทบต่อค่าเงินของเรา คือ เราเห็นทอง all time high ซึ่งค่าเงินของไทยกับทองมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างสูง และสูงกว่าสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค เมื่อทองราคาขึ้น เราก็จะเห็นบาทแข็งซ้ำเติมไปด้วย ส่วนผลในแง่เศรษฐกิจ การที่เฟดเขาชั่ง แล้วลดดอกเบี้ยลงมา 0.5% มันสะท้อนว่า เขาอยากให้น้ำหนักกับการ Make sure (ทำให้มั่นใจ) ว่า เขาจะ Soft Landing
เขาให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลเศรษฐกิจมากกว่า เมื่อเทียบกับความเป็นห่วงในด้านเงินเฟ้อ ดังนั้น ในแง่เศรษฐกิจ ผมคิดว่าอันนี้ก็อาจทำให้เราเหมือนสบายใจขึ้นได้หน่อยว่า โอกาส Soft landing ที่อเมริกามีอยู่สูงขึ้น และตัวเลขก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้น่ากลัวอะไรขนาดนั้น คือ อเมริกาก็ดูค่อนข้างโอเค ผมคิดว่าอันนี้ ถ้าพูดกัน ก็เหมือนกับการซื้อประกัน เพื่อ Make sure ว่า โอกาสที่จะเกิด hard landing มีน้อยๆ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
เมื่อถามว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟด จะมีผลต่อการดำเนินนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หรือไม่ เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า “เรื่องนโยบายการเงิน ที่เราเน้นหลักๆ คือ ภายในประเทศ สิ่งที่เราดูมี 3 ปัจจัยหลักๆ คือ 1.ดูแนวโน้มเศรษฐกิจและการเติบโตว่ามันจะเข้าสู่ศักยภาพหรือเปล่า 2.เรื่องเงินเฟ้อ เงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อของเราหรือเปล่า และ 3.เสถียรภาพทางด้านการเงิน ซึ่งตัวที่สำคัญที่เราให้ความสำคัญในช่วงที่ผ่านมา
แต่การดูทั้ง 3 ตัวนี้ ก็หนีไม่พ้นว่าจะต้องคำนึงถึงในภาพรวม ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ตอนนี้ธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ของโลกเขาปรับเปลี่ยนนโยบาย ซึ่งก็จะไปกระทบต่อภาพรวม แล้วมันก็จะมามีนัยยะต่อประเด็นพวกนี้ด้วย ก็เลยต้องคำนึงถึง เพราะมันก็เข้ามาผ่าน 3 ปัจจัยตรงนี้”
นายเศรษฐพุฒิ ระบุด้วยว่า “เมื่อดูจากทั้ง 3 ปัจจัย ซึ่งมีนัยยะต่อการตัดสินใจเรื่องนโยบายดอกเบี้ยนั้น ตอนนี้ก็ไม่ได้เห็นอะไรที่ทำให้ภาพการประเมินเรื่องเศรษฐกิจอย่างที่เราเคยประเมินไว้ แตกต่างจากที่เรามองไว้ ไม่ได้เห็นภาพเงินเฟ้อที่แตกต่างไปจากที่เคยมองไว้ ส่วนที่เรากังวลเรื่องเสถียรภาพด้านการเงินนั้น เพราะเราเห็นว่า credit risk เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อมันชะลอตัวลง และในวงกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม”
เมื่อถามว่า ดอกเบี้ยของไทยตอนนี้ยัง Neutral (เป็นกลาง) หรือไม่ เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า “เราไม่ได้ Fixed อะไรในเรื่องพวกนี้ ศัพท์ที่เราใช้ตลอด คือ outlook dependent ถ้ามีอะไรเปลี่ยนไปจาก outlook ที่เรามองไว้ ก็เปลี่ยนได้ แต่ ตอนนี้ outlook เศรษฐกิจก็คล้ายๆเดิม outlook เงินเฟ้อ ก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไร ซึ่งรวมถึง outlook ในฝั่งเสถียรภาพด้วย และการที่เราย้ำเรื่อง outlook dependent นั้น ผมคิดว่าเป็นการตัดสินใจหรือเป็นกรอบความคิดที่เหมาะสมแล้ว และถูกต้อง
เพราะเราเห็นว่า ที่อื่นเหมือนว่าเน้น data dependent แต่มันสร้าง noise (เสียงรบกวน) ต่อตลาดเยอะ ตอนที่ข้อมูลออกมาแบบหนึ่ง เราจะเห็นว่าตลาดจะคาดการณ์อย่างโน้นอย่างนี้ มันพลิกเปลี่ยนเร็วมาก...เมื่อความไม่แน่นอนและความผันผวนเยอะอยู่แล้ว เราไม่ต้องการให้การคาดการณ์เกี่ยวกับนโยบายไปซ้ำเติมในเรื่องความผันผวน ดังนั้น การที่เราตอบสนองต่อข้อมูลล่าสุด จึงเป็นอะไรที่ไม่เหมาะสม เราจึงเน้น outlook”
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า “ขาตอนที่เราขึ้น (ดอกเบี้ย) เราไม่ได้รีบขึ้นเหมือนชาวบ้าน และตอนนี้เราไม่ได้ Fixed และไม่ได้บอกว่า จะต้องยึดติดกับอะไร เรามอง outlook dependent ถ้า outlook มันเปลี่ยน และเหมาะที่เราจะปรับนโยบายดอกเบี้ย เราก็พร้อมที่จะปรับ”
เมื่อถามว่า การที่เฟดลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา ทำให้เกิดแรงกดดัน และคนพุ่งเป้าว่า กนง.น่าจะมีโอกาสลดดอกเบี้ย นั้น นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า “แรงกดดันมันมาตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ว่าเฟดจะลดหรือไม่ลด มันมีอยู่แล้ว แต่นั่นเป็นเรื่องของเฟด ไม่ใช่ว่าถ้าเฟดลดแล้ว เราต้องลด แต่การที่เฟดลดดอกเบี้ย มันกระทบปัจจัยหลายอย่าง มันกระทบเรื่องภาพรวม มันกระทบต่อตัวแปรต่างๆที่เราต้องคำนึงถึงในการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ย”
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า “ถ้าเราเป็นประเทศที่ Fixed ค่าเงินกับดอลลาร์ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีน้อยแล้ว อย่างฮ่องกง และตะวันออกกลาง ที่เขา fixed ค่าเงินไว้กับดอลลาร์ฯพวกนี้ ถ้าเฟดลดดอกเบี้ย เขาก็ต้องลด แต่เราไม่ได้เป็นอย่างนั้น”
เมื่อถามว่า มีความคาดหวังว่า หากมีการปรับลดดอกเบี้ยลงมา จะมีส่วนช่วยทำให้จีดีพีเติบโต และทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับลดลงมา นั้น นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า “ถ้าดูสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ตัวหนี้มันเชื่อมโยงกับเรื่องดอกเบี้ยอย่างไร ก็ต้องบอกว่ามี 2 ส่วน คือ ผลกับหนี้เก่า ซึ่งถ้าลดดอกเบี้ย จะมีผลทำให้ภาระดอกเบี้ยที่จ่ายบนหนี้เก่าลดลง แต่อีกฝั่งหนึ่ง คือ หนี้ใหม่ คำถาม คือ ถ้าลดดอกเบี้ยแล้วทำให้สินเชื่อโตเร็วขึ้น ตัวหนี้โดยรวมก็จะเพิ่มขึ้น”
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า การลดดอกเบี้ยมีผลที่ส่งไปถึงภาระหนี้ได้ไม่เต็มที่นัก เพราะหนี้บางอย่างเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยคงที่ การจะไปคาดหวังว่าเมื่อดอกเบี้ยลดลงแล้ว ภาระหนี้ทุกคนจะลดลง คงไม่ใช่ ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างหนี้จะส่งผลดีกับลูกหนี้มากกว่าการลดดอกเบี้ยในภาพรวม ซึ่ง ธปท.ได้ออกมาตรการ Responsible Lending ที่กำหนดให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งก่อนและหลังลูกหนี้มีปัญหา ซึ่งจะมีการติดตามให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ ธปท.ออกไป
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ได้รับผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยของเฟด ว่า ธปท.ไม่ได้อยากเห็นค่าเงินผันผวนขนาดนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะในช่วงหลัง ค่าเงินบาทแข็งค่อนข้างเร็ว ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีต้นจนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้ว 3.1% โดยมีปัจจัยจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงปัจจัยเฉพาะของไทย คือ คนอาจเห็นความชัดเจนทางการเมือง
“เคสนี้มาจากดอลลาร์ฯที่อ่อนค่า ซึ่งเป็นผลมาจากเฟดลดดอกเบี้ย เป็นการปรับตามกลไกตลาด แต่สิ่งที่เราไม่ค่อยอยากเห็น คือ การเคลื่อนไหวที่เร็ว และไม่ได้มาจากปัจจัยเชิงพื้นฐาน คือ เป็นพวกร้อนที่เข้ามาเก็งกำไร แล้วทำให้ความผันผวนเกิดขึ้น โดยไม่ได้สะท้อนพื้นฐาน อันนี้เราจะอ่อนไหวกว่า
ส่วนภาพรวมของเงินทุนนั้น ปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว โดยปีนี้การไหลออกน้อยกว่าปีที่แล้วเยอะ ปีที่แล้วมีเงินทุนไหลออกสุทธิ 9.9 พันล้านดอลลาร์ฯ แต่ตอนนี้เงินทุนไหลออก 2.2 พันล้านดอลลาร์ฯ และในช่วงหลังจะเป็นการไหลเข้ามา ซึ่งมาจากปัจจัยทั้งโลก และปัจจัยเฉพาะของเรา คือ คนอาจเห็นความชัดเจนทางการเมือง” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ระบุด้วยว่า “ตอนนี้ยังไม่เห็นการเก็งกำไร” ส่วนค่าเงินบาทที่ผันผวนสูงนั้น “เราติดตามอย่างใกล้ชิด”
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงการแข็งค่าของเงินบาทที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออก ว่า หากพิจารณาจากข้อมูลในอดีต จะเห็นค่อนข้างชัดเจนว่า การปริมาณการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะเป็นเท่าไหร่นั้น จะขึ้นอยู่กับสภาพตลาดและความต้องการของโลก หากจีดีพีของประเทศคู่ค้าเราดี การส่งออกของไทยก็จะดี อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทที่แข็งค่า จะมีผลต่อกำไรของผู้ส่งออกลดลง และผลกระทบจะผ่านเข้าจากตรงนั้น
ส่วนกรณีที่มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง และจะมีผลกระทบต่อค่าเงินบาท นั้น นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การคาดการณ์การตัดสินใจของเฟดในเรื่องดอกเบี้ยนั้น เป็นลักษณะของตลาดที่มองไปข้างหน้าตลอดเวลา ซึ่งการที่เฟดลดดอกเบี้ยลงมา 0.5% ในช่วงที่ผ่านมานั้น ก็ถือว่าไม่น้อย แต่หลังจากนี้ก็ต้องดูว่าเฟดจะทำอะไรต่อไปข้างหน้า และจากตัวอย่างที่ผ่านมา ก็ชัดเจนว่ายังมีความไม่แน่นอนว่าอะไรจะเกิดขึ้น
เมื่อถามว่า กนง.จะเป็นไปตามตารางเดิม และไม่มีการประชุมนัดพิเศษใช่หรือไม่ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ณ ตอนนี้การประชุม กนง.ยังเป็นไปตามกำหนดเดิม และหากเราเห็นว่ามีความจำเป็นต้องมีประชุมเพิ่มเติมพิเศษ ก็ทำได้
อ่านประกอบ :
'ดอกเบี้ยต่ำ'กระตุ้นเศรษฐกิจ'โตเร็ว'ระยะสั้น อาจสะสมความเปราะบาง-นำไปสู่วิกฤติร้ายแรงได้
ผู้ว่าฯธปท.ชี้ 3 ปัจจัยฉุดปท.ไทย‘โตแบบเดิม’ไม่ได้ ชูโมเดล‘ท้องถิ่นสากล’-SEZ ไม่ใช่ทางออก
‘ผู้ว่าฯธปท.’เผย‘กนง.’กังวลสภาวะการเงิน‘ตึงตัว’ ย้ำ 3 เงื่อนไขปรับดบ.-ปัดตอบลดค่าฟี FIDF
ผู้ว่าฯธปท.ห่วง'หนี้ครัวเรือน'โตไม่หยุด 'จบไม่ดี'เหมือนปี 40-ชี้บริโภคกระจุก'คนรายได้สูง'
เศรษฐพุฒิ : ศก.'โตต่ำ-ฟื้นช้า'ซ่อนทุกข์ปชช.-'แบงก์'ไม่อยากเป็นตัวร้าย โทษ'ธปท.'คุมสินเชื่อ
‘ผู้ว่าฯธปท.’จี้ลงทุน-รื้อโครงสร้างศก.ดันGDPโตเกิน 3%-ย้ำขยับ‘กรอบเงินเฟ้อ’กระทบเครดิต