‘เศรษฐพุฒิ’ แนะเร่ง ‘ลงทุน-ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ’ ดันจีดีพีไทยโตเกิน 3% ชี้กระตุ้น ‘ระยะสั้น’ แต่สุดท้ายกลับมาอยู่ในเทรนด์เดิม ย้ำขยับ ‘กรอบเงินเฟ้อ’ เสี่ยงกระทบเครดิต-ทำเงินเฟ้อสูงขึ้น พร้อมระบุ ‘ดอกเบี้ย’ ไม่ได้เป็นเครื่องมือเดียวในการช่วยเหลือ ‘ประชาชน’ ที่ลำบาก
..............................................
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน ‘Meet the Press : ผู้ว่าการพบสื่อมวลชน’ โดยระบุตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับ 3% แต่หากต้องการทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเกิน 3% หรือมากกว่านั้น จะต้องมีการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ในขณะที่การกระตุ้นระยะสั้นนั้น จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ระยะหนึ่งก่อนจะกลับลงมาอยู่ในเทรนด์เดิม
“ถ้าปล่อยไปอย่างนี้ ก็คือ 3% ถ้าจะปรับตรงนั้น มันต้องเรื่องเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่แนวกระตุ้น เพราะการกระตุ้น คุณก็จะเห็นตัวเลขมันโต มันจะโตแป๊บหนึ่ง แล้วจะกลับมาเทรนด์เดิม ผมว่าเราทำอย่างนี้มาเยอะแล้ว จะใช้ฝั่งสินเชื่อ จะใช้ฝั่งการคลังมากระตุ้น มันไม่ยั่งยืน และไม่ยกศักยภาพ แล้วของที่อยากเห็น ซึ่งจะช่วยยกศักยภาพ คือ แรงงาน และประสิทธิภาพแรงงาน แรงงานก็มีเท่าที่มีและมีต่างด้าวเข้ามาระดับหนึ่ง
แต่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้เยอะ ถามว่าประสิทธิภาพจะมาอย่างไร ก็หนีไม่พ้นต้องมีการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานฝั่งภาครัฐ ฝั่งเอกชนที่ต้องลงทุนเทคโนโลยี ต้องเห็นของพวกนั้น หรือคุณภาพของแรงงาน และ R&D (การวิจัยและการพัฒนา) อะไรต่างๆตรงนั้น จะช่วยยก 3% นี้ขึ้น ผมก็เห็นด้วยว่ามันควรขึ้น เพราะเราโตเท่ากับเกาหลีใต้ แต่เกาหลีรวยกว่าเราเยอะ ถ้าเราโตอย่างนี้ ก็ไม่มีวันเจริญ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้มาก โดยปัจจัยหลักๆที่ทำให้เศรษฐกิจ 2 ไตรมาสล่าสุด คือ ไตรมาส 4/2566 และไตรมาส 1/2567 ค่อนข้างอ่อนแอ เป็นเพราะงบประมาณที่ล่าช้า ทำให้จีดีพีหายไปประมาณ 0.8% หากบวกตรงนี้กลับมาจีดีพีน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องสต๊อกสินค้า รวมถึงการส่งออกที่อ่อนแรงกว่าคาดไว้ แต่เมื่อดูในแง่อุปสงค์หรือการบริโภคภายในประเทศไทยแล้ว จะเห็นว่าไม่ได้อ่อนแรงลงไปเลย
“ถ้าดูอุปสงค์ในประเทศ การบริโภค ไม่ได้อ่อนแรงเลย ซึ่งดอกเบี้ยจะไปช่วยตรงนั้น ช่วยเรื่องการกู้เพื่อบริโภคเป็นหลัก แต่ถ้าเราปล่อยให้การกู้เพื่อการบริโภคมันเยอะ เราเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพ และหนี้ครัวเรือน ทางเราเองก็เหนื่อย วันหนึ่งก็เห็นพาดหัว โดนต่อว่าหนี้ครัวเรือนมันสูงมาก อีกวันหนึ่งก็บอกว่า คนไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ก็โดนต่อว่า หรือ NPLs ขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้มันไปด้วยกัน แก้อันหนึ่ง ก็ต้องบาลานซ์อีกอันหนึ่ง” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
เมื่อถามว่า ปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 3% นั้น นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า “คิดว่า 3% จะไปถึงได้ แต่ช้ากว่าที่คิด และตัวที่จะทำให้ตัวเลขมันเด้งเลย คือ การส่งออก ถ้าส่งออกมา มันจะเด้งเลย ถ้าพระเอกส่งออกตัวเดิมๆของเรา ทั้งปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ มันดีดขึ้นมา แต่ทั้ง 3 อันนี้ มีของถ่วงหมดเลย ยานยนต์เจอสภาวะการแข่งขันที่หนัก ปิโตรเคมีก็เจอจากจีน และอิเล็กทรอนิกส์ของเราก็อยู่ในเซ็กเตอร์ที่ล้าหลัง”
@ย้ำปรับ‘กรอบเงินเฟ้อ’ส่อกระทบความน่าเชื่อถือ
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังมีข้อเสนอในเรื่องการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากปัจจุบันที่อยู่ที่ 1-3% ว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ กระทรวงการคลัง และธปท. ต้องตกลงร่วมกัน อย่างไรก็ดี การปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าว จะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือได้
“ตอนนี้เป็นช่วงหารือ และต้องตกลงร่วมกัน ผมก็เห็นที่คลังเขาออกมาพูดในเวทีต่างๆว่า ข้อเสนอของเขามีอะไร ตอนนี้ก็รับไปพิจารณา แต่ต้องถอยกลับมาก่อนว่า เหตุผลที่ต้องมีกรอบเงินเฟ้อ มันมีไว้เพื่ออะไร โดยกรอบเงินเฟ้อมีไว้เพื่อยึดเหนี่ยวเกี่ยวกับการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต และยึดเหนี่ยวในเรื่องความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ การปรับกรอบ จึงเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อน และต้องชั่งหลายอย่าง
มีตัวอย่างในต่างประเทศ หลายประเทศเงินเฟ้อไม่ได้อยู่ในกรอบ แต่ถามว่ามีใครเขาไปขยับกรอบหรือเปล่า จากที่ดู ประเทศหลักๆ ไม่มีที่ไหนเลยปรับกรอบ เพราะตรรกะของการที่มีกรอบ ก็เพื่อสร้าง credibility (ความน่าเชื่อถือ) ต่างๆ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ ถ้าไปปรับและทำให้ตรงนี้เปลี่ยน ก็จะไม่ตอบโจทย์ที่ว่า ทำไมถึงต้องมีกรอบเงินเฟ้อในครั้งแรก ดังนั้น เรื่องการขยับกรอบเงินเฟ้อ จึงต้องชั่งให้ดี” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า “ถ้ามีการขยับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แล้วทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อปรับเปลี่ยนไป อันแรกเลย ถ้าการคาดการณ์เงินเฟ้อเริ่มปรับสูงขึ้น ซึ่งอาจสูงขึ้นจากการขยับกรอบ หรือสูงขึ้นจากการที่กรอบที่เคยมี แต่ไม่มีแล้ว จะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ถ้าการคาดการณ์เงินเฟ้อของคนเพิ่มขึ้น โอกาสที่เงินเฟ้อจริงจะสูงขึ้น ก็เป็นเรื่องธรรมดาปกติที่จะเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว ทำให้เวลาคนจะไปต่อรองเรื่องราคา หรือค่าจ้าง คนก็จะขอราคาหรือค่าจ้างที่สูงขึ้น ตลาดก็เหมือนกัน ตลาดจะตอบสนองทันที ต้นทุนการกู้ยืม ตลาดบอนด์ยีลด์อะไรต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้นทันทีจากเรื่องพวกนี้”
เมื่อถามว่า กระทรวงการคลังมองว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อขอบล่างที่ 1% ต่ำเกินไป ทำให้ไม่มีการผลิต และส่งกระทบทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัว นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เงินเฟ้อของประเทศไทยที่ขยายตัวในระดับต่ำเพียง 1% นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่กรอบเงินเฟ้ออยู่ที่ 1-3% แต่อย่างใด โดยอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำนั้น เป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน การอุดหนุนด้านพลังงาน และการเผชิญกับแรงกดดันในด้านการแข่งขัน โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีน
“ที่เงินเฟ้อต่ำ 1% มาจากอะไร ถามว่ากรอบเงินเฟ้อ มันไปบังคับคนอะไรขนาดนั้นหรือเปล่า คำตอบ คือ ไม่ใช่ เงินเฟ้อที่ต่ำอยู่ในตอนนี้ มาจากปัจจัยทางด้านอุปทาน ปัจจัยเรื่องการอุดหนุนพลังงาน ที่สำคัญตอนนี้ เป็นเรื่องของการแข่งขัน คือ ธุรกิจไม่สามารถขึ้นราคาต่างๆได้ เพราะเจอแรงกดดันเรื่องการแข่งขัน ซึ่งสอดคล้องกับตอนที่เราสำรวจ Business Sentiment Index (BSI) โดยไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ 600 บริษัท
เขาลิสต์มาเลยว่า ข้อกังวลสูงสุดของเขา คือ 1.ต้นทุนเพิ่มเยอะ 2.มีความสามารถในการปรับราคายาก ซึ่งความสามารถในการปรับราคายากนั้น ถามว่ามาจากอะไร มาจากกรอบเงินเฟ้อเหรอ ขอให้ลองคิดให้ดีว่า เป็นเพราะกรอบเงินเฟ้อเป็นกรอบที่เราใช้หรือเปล่า และเรา ธปท. ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ ที่จะไปบังคับคุณห้ามขึ้นราคา เราไม่ใช่เป็นประเภทอย่างนั้น ตรงนี้ก็คิดว่ามันไม่ใช่เป็นสาเหตุหลักที่ควรนำไปสู่การปรับกรอบเงินเฟ้อ
แล้วถามว่า ถ้าเงินเฟ้อสูง แน่นอนผู้บริโภคไม่อยากเห็น ส่วนผู้ประกอบการ ถ้าเงินเฟ้อสูง ต้นทุนก็เพิ่ม โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการอยากเห็น คือ การขึ้นราคาการขายของได้ แต่อันนั้น ถามว่ากรอบเงินเฟ้อเป็นตัวที่ไปมีผลต่อการขึ้นราคาขายของของเขาหรือเปล่า คำตอบก็คือ ไม่ เพราะตอนนี้ก็เห็นอยู่แล้วว่า เงินเฟ้อที่แท้จริงต่ำกว่ากรอบ และอย่างที่เรียนไป เราไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแบบกระทรวงพาณิชย์ที่มานั่งบังคับว่า ห้ามขึ้นราคาต่างๆ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
เมื่อถามว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบันเหมาะสมแล้วใช่หรือไม่ นายเศรษฐพุฒิ ตอบเพียง “เป็นช่วงที่เรากำลังหารือ”
นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนั้น ธปท.จะต้องปรับลดดอกเบี้ยตามเฟดหรือไม่ ว่า การพิจารณาในเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (flexible inflation targeting) นั้น ธปท.ไม่ได้พิจารณาปัจจัยจากต่างประเทศ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย เป็นหลัก แต่หากเฟดมีการปรับอัตราดอกเบี้ย ก็เป็นปัจจัยที่ ธปท. ต้องจับตามอง
“เขาลง เราต้องลง เขาขึ้น เราต้องขึ้นตาม คงไม่ใช่ สิ่งที่เรามอง คือ ภาพรวมเศรษฐกิจ การเติบโตเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เสถียรภาพด้านการเงิน แต่ด้วยความที่เราเป็นประเทศเล็ก เป็นประเทศเปิดมากๆ เป็น open economy มีเรื่องส่งออกนำเข้า ท่องเที่ยว มันมีผลกับเราเยอะ หนีไม่พ้นที่เราต้องเหลียวตามองดูเรื่องเสถียรภาพฝั่งต่างประเทศด้วย การคำนึงถึงเรื่องที่ว่าเฟดทำอะไร และมีผลต่อค่าเงิน ถ้าไปกระทบดอลลาร์ มันก็หนีไม่พ้นที่จะกระทบเรื่องบาท” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
ส่วนการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ลำบากในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีนั้น นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า “อย่าคิดว่าดอกเบี้ยเป็นเพียงเครื่องมือเดียว มันมือเครื่องมืออื่นๆ เช่น เรื่อง Responsible Lending (การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม) และการปรับโครงสร้างหนี้ ที่จะเหมาะกว่าสำหรับคนที่ลำบากจริงๆ เพราะถ้าลดดอกเบี้ย ทุกคนมันได้ ซึ่งก็จะมีทั้งคนที่จ่ายได้ และคนที่ลำบาก แต่เราอยากจะช่วยคนที่ลำบากจริงๆ ซึ่งวิธีตรงนี้จะช่วยเป็นเนื้อเป็นหนังได้มากกว่า”
นายเศรษฐพุฒิ ระบุด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบัน เชื่อว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs แต่ตัวที่เป็นอุปสรรค คือ การไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้