‘เศรษฐพุฒิ’ ชี้ประเทศไทย ‘โตแบบเดิมๆไม่ได้แล้ว' พร้อมฉายภาพ 3 ปัจจัยฉุดรั้ง ชูโมเดลปั้น ‘ท้องถิ่นที่สากล’ กระตุ้นท้องถิ่นแข่งขันตลาดโลก ระบุ SEZ ไม่ตอบโจทย์กระจายความเจริญ
.......................................
เมื่อวันที่ 13 ก.ย. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ท้องถิ่นที่สากล: อนาคตประเทศไทย Globally Competitive Localism: Future of Thailand” ภายในงานครบรอบ 14 ปี สำนักข่าว ‘ไทยพับลิก้า’ ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยจะเติบโตแบบเดิมๆไม่ได้แล้ว แต่จะต้องหารูปแบบการเติบโตที่ใหม่และแตกต่างจากที่เคยเติบโตมา โดยมี 3 เกร็ดที่สะท้อนว่า ประเทศไทยจะเติบโตแบบเดิมๆไม่ได้แล้ว ได้แก่
ประเด็นแรก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของประเทศไทยในแง่ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ไม่ได้สะท้อนไปสู่ความมั่งคั่งหรือรายได้ของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร เห็นได้จาก Nominal GDP ที่เติบโตจาก 100 มาเป็น 180 นั้น แต่พบว่ารายได้ครัวเรือนในภาคเหนือ อีสาน และใต้ เติบโตน้อยกว่า GDP อีกทั้งเมื่อมองไปข้างหน้า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือ GDP มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น เรื่องโครงสร้างประชากร
“การเติบโต มันจะสะท้อนไปสู่รายได้ของครัวเรือน ความมั่นคั่ง และชีวีตที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ที่ผ่านมาตัวเลข GDP ที่โต แต่ไม่ได้หมายความว่า รายได้อะไรต่างๆมันเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เหตุผลจริงๆที่เราแคร์เรื่องพวกนี้ เช่น เรื่องเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ใช่ว่าเราแคร์เรื่องตัวเลข แต่ที่เราแคร์ เพราะว่ามันจะนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีที่ขึ้น” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ประเด็นที่สอง หากพิจารณาในมุมของธุรกิจแล้ว จะเห็นได้ว่าธุรกิจมีการกระจุกตัวค่อนข้างสูง โดยธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 5% ของธุรกิจทั้งหมด มีสัดส่วนรายได้สูงถึง 89-90% ของรายได้ของธุรกิจทั้งหมด และเพิ่มขึ้นจากในช่วงก่อนหน้านี้ที่ธุรกิจขนาดใหญ่มีสัดส่วนรายได้ 85% ของรายได้ของธุรกิจทั้งหมด ในขณะที่คนตัวเล็ก ธุรกิจที่เกิดใหม่หรือธุรกิจที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี ในช่วงหลังมานี้ พบว่ามีอัตราการตาย หรือ exit rate เพิ่มสูงขึ้น
ประเด็นที่สาม บริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้อานิสงส์ที่ประเทศไทยเคยได้รับอาจไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว โดยเฉพาะความสามารถในการพึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาเป็นอย่างดีนั้น แต่ต่อไปคงพึ่งพาอย่างเดิมไม่ได้แล้ว สะท้อนได้จากส่วนแบ่ง FDI ของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 0.57% ของโลก ในช่วงปี 2544-2548 ซึ่งสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ล่าสุดส่วนแบ่ง FDI ของประเทศไทย แทบไม่ไปไหน โดยอยู่ที่ 0.63% ของโลก ในปี 2565 ขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนาม มีส่วนแบ่ง FDI สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“นี่ไม่ได้บอกว่า เราไม่ควรไปดึงดูดการลงทุน การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศยังเป็นตัวสำคัญ เพราะจะนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ประสิทธิภาพต่างๆที่เพิ่มขึ้น แต่มันสะท้อนว่า เราจะทำแบบเดิมไม่ได้ คือ สมัยก่อนเหมือนเรามีเสน่ห์ นั่งเฉยๆเขาก็วิ่งมาเรา แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เราต้องปรับตัว ต้องออกแรงมากขึ้น และระหว่างนี้ มันก็สะท้อนด้วยว่า เราจะไปพึ่งต่างชาติคงทำไม่ได้เหมือนเดิม เราจำเป็นต้องพึ่งความเข้มแข็งจากภายในมากขึ้น” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
@จีดีพีกระจุก‘กรุงเทพ-ปริมณฑล’ทำศก.ภาพรวมชะลอ
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวย้ำว่า “จากภาพที่ได้พยายามฉายมา สะท้อนว่า เราไม่ควรโตแบบล่าตัวเลขอย่างเดียว ล่าตัวเลข GDP ล่าตัวเลข FDI เพราะท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่เราแคร์ คือ ชีวิตความเป็นอยู่ของคน ซึ่งการเติบโตที่ผ่านมา ก็ไม่ได้สะท้อนหรือนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่ดีขึ้น ดังนั้น ตอนที่เราดูเรื่อง FDI หรือการลงทุนต่างประเทศ เราไม่ควรดูแค่ตัวเลข ซึ่งก็ไม่ได้มาแรงเหมือนสมัยก่อนแล้ว แต่ต้องดูว่า การลงทุนมันสร้างประโยชน์กับประเทศเราได้แค่ไหน
เราต้องทำให้มั่นใจตัวเลขเหล่านี้ มันนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คือ ถ้าจะล่าตัวเลข ตัวเลขที่ควรล่าคงไม่ใช่ตัวเลขพวกนั้น แต่ควรล่าตัวเลขที่มันสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ของคน ความมั่งคั่งของคน และตัวเลขอื่นๆที่สะท้อนคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคน เช่น เรื่องสาธารณสุข เรื่องการศึกษา และเรื่องโอกาสต่างๆ เพราะการล่าตัวเลข ตัวเลขก็คงไม่สวยหรูเหมือนสมัยก่อน และที่ผ่านมาก็ไม่ได้ส่งอานิสงส์ต่อเรื่องที่เราแคร์จริงๆ”
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า เมื่อการพึ่งพาการเติบโตที่กระจุกอยู่เพียงไม่กี่แห่ง ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืน ประเทศไทยจึงต้องวิธีการที่จะเติบโตและอยู่บนฐานที่กว้างกว่าเดิม รวมทั้งต้องเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเรื่องพวกนี้มีองค์ประกอบ คือ ต้องเน้นการเติบโตแบบ more local หรือเน้นการเติบโตในพื้นที่ท้องถิ่นมากขึ้น เนื่องจากประชากร 80% ของประเทศไทย อยู่นอกเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และธุรกิจเกือบ 80% ก็อยู่นอกกรุงเทพฯและปริมณฑลเช่นกัน
“บ้านเรา สังคมเมืองที่มีอยู่จะกระจุกตัวหนาแน่นและหนักอยู่ที่กรุงเทพฯ และถ้าจะไปกันอย่างนี้ อัตราการเติบโตต่างๆ หรือโอกาสที่จะสร้างความมั่นคั่งในวงกว้าง ก็จะน้อยลง ทั้งนี้ มีการศึกษาของธนาคารโลกที่พยายามคำนวณอัตราการเติบโตของ GDP ของกรุงเทพฯ พบว่า GDP ต่อหัวของกรุงเทพฯสูง คนเยอะ และประสิทธิภาพเยอะ แต่อัตราการเติบโตต่ำมาก ตัวเลขล่าสุดที่เราคำนวณออกมาอยู่ประมาณ 0.22% เท่านั้น
ถ้าเราพยายามอิงการโตแบบเดิมๆ มาที่กรุงเทพฯ อัตราการเติบโตในภาพรวมก็ชะลอตัวลง แต่การโตที่เน้นท้องถิ่น เน้น local ก็ต้องโตแบบแข่งขัน ต้องมีความเป็นสากลเข้ามาแฝง ไม่เช่นนั้นจะไม่ยั่งยืน ถ้าจะให้ชัด ต้องแข่งขันกับโลกด้วย เพราะเดี๋ยวนี้มันไม่ใช่การแข่งขันกันเอง ระหว่างจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ ตัวอย่างที่ชัด คือ เรื่องท่องเที่ยว ถ้าเราอยากดึงนักท่องเที่ยวให้มาที่ไหน ก็ต้องไปต่อท่อกับอุปสงค์ของโลก ไม่ใช่พึ่งแค่ในประเทศ” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
@ตั้ง‘เขตศก.พิเศษชายแดน’ต้องดูศักยภาพพื้นที่
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า การทำให้ท้องถิ่นแข่งขันได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีความท้าทาย 3 ด้าน คือ 1.คนในท้องถิ่นกระจายตัว ไม่ได้กระจุกตัวเหมือนในกรุงเทพฯ มีความหนาแน่นของประชากรต่ำ ทำให้อุปสงค์ไม่ค่อยมีและตลาดไม่ค่อยโต 2.ธุรกิจท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก และ3.ภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมในพื้นที่มีความหลากหลาย ซึ่งความท้าทายเหล่านี้ทำให้ไม่เกิดการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) ที่จะทำให้สินค้ามีต้นทุนต่ำลง
“ถ้าเราจะทำให้ท้องถิ่นแข่งขันได้ และก้าวข้ามอุปสรรคหรือความท้าทายที่พูดถึง ขอเริ่มด้วยของที่ไม่ควรทำก่อน อันหนึ่งที่ชัด คือ การพึ่งการเติบโตโดยการให้คนเข้ามาในกรุงเทพฯและปริมณฑล มันไม่ใช่แล้ว ตอนนี้ความหนาแน่นในกรุงเทพฯส่งผลในเชิงลบ เช่น ความแออัด รถติด และต้นทุนต่างๆสูงขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็ไปสะท้อนว่า ทำไม GDP ต่อหัวในกรุงเทพฯและปริมณฑลเริ่มชะลอตัวลง
อีกอันที่ผมคิดว่าสะท้อน คือ นโยบายของเราที่เน้นกระจายความเจริญ แบบกระจายให้สุดๆเลย อันนั้นก็ไม่ใช่ เพราะมันต้องดูว่าแต่ละที่จะพยายามกระจายไป มีศักยภาพอย่างไร จะกระจายให้ไปแบบทั่วไป ยังไงก็ไม่ประสบความสำเร็จ ตัวอย่างของนโยบายที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จอันหนึ่ง และคงไม่ใช่ทางออก คือ การไปพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ Special Economic Zones (SEZ) แล้วก็หวังว่า การไปสร้างโซนอะไรต่างๆพวกนี้ ในพื้นที่ที่อาจไม่เหมาะสมกับธุรกิจอะไรขนาดนั้น อยู่ดีๆจะไปดึงดูดการลงทุน และไปสร้างความมั่งคั่งต่างๆ มันเป็นไปได้ค่อนข้างยาก
จริงๆที่ผ่านมา เรามีนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ทำมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ถ้าถามว่า มูลค่าการลงทุนในพื้นที่เหล่านี้ (Special Economic Zones) เทียบกับมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดเป็นเท่าไหร่ ก็พบว่ามีนิดเดียว คือ แค่ 0.5% เท่านั้น เจตนารมณ์ของนโยบาย ผมเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ดี เราหวังว่าจะกระจายความเจริญ แต่ถ้าเราไม่ดูศักยภาพหรือความเป็นไปได้ต่างๆ แล้วจะกระจายแบบเหมือนจะให้กระจาย มันไม่ได้ นโยบายสไตล์พวกนี้ ผมคิดว่า ไม่ใช่” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า ส่วนหนึ่งที่เป็นคำตอบและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่จะทำให้ท้องถิ่นสามารถก้าวข้ามความท้าทายต่างๆและแข่งขันได้ คือ การทำให้เป็น ‘ท้องถิ่นที่สากล’ หรือ Globally Competitive Localism โดยใช้จุดแข็ง จุดเด่น และเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งแต่ละท้องถิ่นมีไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากร ทุนทรัพย์ ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ต่างๆ เพื่อทำให้ต้นทุนต่ำลงและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ การทำให้ ‘ท้องถิ่นที่สากล’ เกิดขึ้นได้และแข่งขันได้ ต้องมีองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้อย่างน้อย 6 เรื่อง ได้แก่ 1.การเชื่อมกับตลาดโลก เพื่อทำให้เกิด economy of scale ซึ่งกระแสออนไลน์ ทำให้การเชื่อมตลาดทำได้ง่ายขึ้น 2.การสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การสร้างเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ 3.การร่วมมือกับพันธมิตร (Partner) 4.การทำให้เมืองรองโต 5.การให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้มากขึ้น และ 6.การสร้างระบบติดตามพัฒนาการหรือความเจริญของท้องถิ่น
อ่านประกอบ :
‘ผู้ว่าฯธปท.’เผย‘กนง.’กังวลสภาวะการเงิน‘ตึงตัว’ ย้ำ 3 เงื่อนไขปรับดบ.-ปัดตอบลดค่าฟี FIDF
ผู้ว่าฯธปท.ห่วง'หนี้ครัวเรือน'โตไม่หยุด 'จบไม่ดี'เหมือนปี 40-ชี้บริโภคกระจุก'คนรายได้สูง'
เศรษฐพุฒิ : ศก.'โตต่ำ-ฟื้นช้า'ซ่อนทุกข์ปชช.-'แบงก์'ไม่อยากเป็นตัวร้าย โทษ'ธปท.'คุมสินเชื่อ
‘ผู้ว่าฯธปท.’จี้ลงทุน-รื้อโครงสร้างศก.ดันGDPโตเกิน 3%-ย้ำขยับ‘กรอบเงินเฟ้อ’กระทบเครดิต