‘รมว.คมนาคม’ ปัดครม.เห็นแย้งปมเสนอ 2 รอบ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ คาดไม่เกิน 2 เดือนเคาะ ก่อนเผยเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่รีบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 จากกรณีที่แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่มีวาระการพิจารณาการแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพราะที่ประชุมเห็นไม่ตรงกันในการเสนอให้ ครม. พิจารณาจำนวน 2 ครั้ง
โดยฝั่งของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยืนยันว่าการเสนอให้ ครม.พิจารณา ต้องมีการรับทราบมติบอร์ดกพอ.ก่อน ส่วนถ้ามีการพิจารณาประเด็นเฉพาะ หน่วยงานต้นสังกัดจะต้องกลับไปดำเนินการให้เรียบร้อย แล้วค่อยเสนอ ครม. เห็นชอบตามที่ดำเนินการ
แต่ในที่ประชุม ครม. ก็มีรัฐมนตรีส่วนหนึ่งมองว่า ควรเอาประเด็นทั้งหมดไปดำเนินการให้เสร็จสิ้นแล้วค่อยเอากลับมานำเสนอในคราวเดียว จะได้ไม่เสียเวลา ซึ่งจากความเห็นที่แตกต่างนี้ ยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใดนั้น
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสอบถามนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะกำกับดูแล รฟท. ถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งนายสุริยะเปิดเผยว่า ไม่มีความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าว เพียงแต่ยังมีบางประเด็นยังไม่เรียบร้อย จึงยังไม่ได้มีการเสนอให้ครม.พิจารณา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานบอร์ดกพอ.ตรวจทานความถูกต้องอยู่
เมื่อถามว่า แล้วจะเสนอ ครม.ได้เมื่อไหร่ เพราะเป็นเรื่องที่ล่าช้ามานานแล้วนั้น นายสุริยะกล่าวว่า ประเด็นนี้จะต้องมีการตรวจทานให้ถูกต้องและรอบคอบก่อน ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่รีบ
เมื่อถามต่อว่า แต่ถ้าหากยังไม่มีการเสนอ ครม.เห็นชอบ แล้วยังไม่สามารถส่งมอบหนังสือให้เริ่มดำเนินการ (NTP: Notice to Proceed) จะส่งผลให้การก่อสร้างโครงการล่าช้าออกไปอีกหรือไม่ เพราะโครงการก็ล่าช้ามาหลายปีแล้ว นายสุริยะตอบว่า คาดไม่เกิน 2 เดือนนี้ น่าจะเสนอให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง- สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่จัดทำโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เมื่อเดือน ต.ค. 2567 ระบุว่า การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี 10 เดือน ทำให้การก่อสร้างและการเปิดให้บริการเดินรถของโครงการฯล่าช้า ส่งผลให้ประชาชนเสียโอกาสในการใช้บริการรถไฟความเร็วสูง และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสียโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเอกชนคู่สัญญาภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
อ่านประกอบ
- ‘พรรคร่วมฯ’ ขวาง ดันแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบินเข้า ครม.
- ‘สุริยะ’ ยันแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน ไม่มีเอื้อ ซี.พี.
- ปะชาชน’ ถามแก้สัญญาไฮสปีดเอื้อเอกชนหรือไม่? ‘พิชัย’ โต้แต่ละเงื่อนไขบีบวางหลักประกัน
- เปิดรายงาน‘สตง.’ชำแหละ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ล่าช้า เสี่ยง‘ค่าโง่’-พบ‘คู่สัญญา’ขาดสภาพคล่อง
- สตง.เตือน‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’เสี่ยงค่าโง่-แบ่งจ่าย'แอร์พอร์ตเรลลิงก์’กระทบหลักการร่วมทุนฯ
- บอร์ดอีอีซี อนุมัติเงียบ แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน เร่งชงครม. ต.ค.นี้