‘สุรเชษฐ์ ประชาชน’ ตั้งกระทู้ถามนายกฯปมแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน ฉะ 5 หลักเกณฑ์ที่อีอีซีอนุมัติแก้สัญญา เอื้อเอกชน ด้าน ‘พิชัย’ แจงแต่ละเงื่อนไขที่แก้ รัฐได้ประโยชน์ ชี้สร้างไป-จ่ายไป บีบวางแบงก์การันตี ส่วนค่าแอร์พอร์ตลิ้งก์ก็ให้วางหลักประกัน ขณะที่ส่วนแบ่งรายได้ถ้าขาดทุนเอกชนรับเละ แต่ถ้ามีกำไรต้องให้ รฟท. ยันทบทวนสัญญาเพื่อให้โครงการไปต่อ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 17 ตุลาคม 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณากระทู้ถามสดของนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในประเด็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยเป็นการตั้งกระทู้ถามนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งในที่ประชุมแจ้งว่า นายกฯได้มอบหมายนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ตอบแทน
นายสุรเชษฐ์ ตั้งกระทู้ว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ลงนามในสัญญาไปตั้งแต่ปี 2562 และเร็วๆนี้มีข่าวว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีมติยืนตามหลักการแก้สัญญา โดยยึดหลักการว่า ภาครัฐไม่เสียประโยชน์และเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร แต่การแก้สัญญาครั้งนี้คือการแก้สัญญาเพื่อเอื้อเอกชน ทั้งๆที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง ซึ่งบอร์ดอีอีซีเห็นชอบการแก้สัญญาใน 5 ประเด็นคือ
1.การจ่ายเงินที่รัฐร่วมลงทุน จากเดิมเอกชนต้องสร้างให้เสร็จทั้งหมด แล้วรัฐค่อยทยอยจ่าย แต่เปลี่ยนเป็นการสร้างไปจ่ายไป สิ่งที่ทำเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนเห็นๆ
2.การกำหนดค่าใช้สิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท เดิมต้องจ่ายทีเดียว แต่ข้อตกลงใหม่คือให้แบ่งจ่ายเป็น 7 งวด ซึ่งเอกชนค้างชำระมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว
3.ส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน แม้หลักการจะดีว่า ถ้าเอกชนมีรายได้มากพอต้องแบ่งคือรัฐ แต่โอกาสเกิดขึ้นมันไม่ง่าย และเปิดช่องให้โกงได้ง่าย เพราะมีการเขียนไว้ว่า “มีสิทธิ์เรียกเอกชนจ่ายส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ตามจำนวนที่ตกลงกัน” ซึ่งจะรู้ได้อย่างไรว่าโปร่งใสหรือไม่ แล้วเอกชนจะซ่อนตัวเลขทางบัญชีอะไรหรือไม่ จะตรวจสอบได้หรือเปล่า
4.ยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP:Notice to Proceed) เป็นการแก้ปัญหาที่รัฐก่อไว้เองจากการทำสัญญาไม่รอบคอบ เปิดช่องให้เกิดเงื่อนไขพิเศษ เช่น เงื่อนไขการได้รับส่งเสริมการลงทุน (BOI)
5.มีการเพิ่มเติมป้องกันปัญหาในอนาคตจากเหตุการณืที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสถานะการเงินของโครงการ โดยเฉพาะในส่วนข้อเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ซึ่งอาจผิดกหลักการรัฐร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) หรือไม่ เพราะโครงการนี้เป็น PPP Net Cost เอกชนต้องรู้ว่า ต้องรับความเสี่ยงทั้งหมด ไม่ใช่ PPP Gross Cost ที่รัฐบาลลงทุนเองแล้วจ้างเอกชนมาวิ่งเดินรถ
นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า ทั้ง 5 ประเด็นนี้นำมาสู่คำถามว่า จะแก้ทำไม เพราะสัญญาก็ลงนามไปแล้ว และเงื่อนไขในสัญญาก็ต้องรับรู้กันมาก่อน พอมาแก้แบบนี้ ก็ต้องมาตีความอีกว่า อะไรคือเหตุสุดวิสัย ต้องแล้วแต่การเจรจากับผู้มีอำนาจหรือไม่ เป็นการตีเช็คเปล่าอีกแล้วหรือไม่ ทั้งที่ PPP Net Cost นายทุนต้องรับความเสี่ยงทั้งหมดและคำถามที่จะต้องถามคือ จาก 5 ประเด็นที่เห็นชอบไป มีข้อใดไม่จริงบ้าง หากจริง การแก้สัญญาเป็นการเอื้อประโยชน์นายทุนหรือไม่
- เปิดรายงาน‘สตง.’ชำแหละ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ล่าช้า เสี่ยง‘ค่าโง่’-พบ‘คู่สัญญา’ขาดสภาพคล่อง
- สตง.เตือน‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’เสี่ยงค่าโง่-แบ่งจ่าย'แอร์พอร์ตเรลลิงก์’กระทบหลักการร่วมทุนฯ
- บอร์ดอีอีซี อนุมัติเงียบ แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน เร่งชงครม. ต.ค.นี้
ด้านนายพิชัยลุกขึ้นชี้แจงว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) เป็นโครงสร้างที่สำคัญของเศรษฐกิจประเทศไทยที่รัฐบาลต้องการให้เกิด เพราะวันนี้อุตสาหกรรมใหม่หลายประเภทผ่านเข้ามา ก็ต้องมาอยู่ในพื้นที่อีอีซี จะมีการลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์ การเดินทางไปมาเร็วขึ้น นี่คือประโยชน์ทีทุกคนจะได้รับ
ส่วนกระบวนการในการทำสัญญาและดำเนินการ นายพิชัยระบุว่า ในช่วงก่อนการก่อสร้างมีหลายอย่างที่ต้องทำทั้งการส่งมอบพื้นที่ การเวนคืนที่ดิน ซึ่งจากที่มีการลงนามไปเมื่อปี 2562 ก็ต้องใช้เวลาไปกับการส่งมอบพื้นที่แล้ว 2562-2564 แถมช่วงเวลานี้ก็มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย และมีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในประเทศยูเครน ซึ่งกระทบกับภาวะการเงินโลก โดยเฉพาะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนไป การหาแหล่งเงินทุนของเอกชนก็ยากขึ้น รัฐก็ต้องเข้าใจถึงปัญหาเหล่านี้ด้วย
@สร้างไปจ่ายไปไม่เอื้อเอกชน เพราะบีบให้วางแบงก์การันตี-หลักประกันก่อน
ทั้งนี้ ในการแก้ไขสัญญา นายพิชัยยืนยันว่า การจ่ายเงินจะต้องไม่มากไปกว่าเดิมในเชิงมูลค่าปัจจุบัน ในประเด็นที่ 1 การจ่ายเงินร่วมลงทุนรัฐประมาณ 149,000 ล้านบาท ซึ่งหากจ่ายในช่วงนี้ค่าเงินที่ต้องจ่ายจะลดลงเหลือ 120,000 ล้านบาท เพราะหากทอดเวลาออกไปเป็น 149,000 ล้านบาท คือ มูลค่าที่รวมดอกเบี้ยเข้าไปด้วย ดังนั้น จึงมีการปรับแก้เงื่อนไขการจ่ายเงินของรัฐใหม่ โดยให้มีการส่งมอบงานเป็นครั้งๆ รวม 5-6 ครั้ง ถ้าการส่งมอบงานแต่ละครั้งเป็นไปตามที่มีการระบุไว้ก็จะจ่ายเงินออกไป
แต่การจ่ายเงินของรัฐนั้น มีเงื่อนไขคือ ในวันที่ลงนามสัญญาที่ได้รับการแก้ไขแล้ว เอกชนจะต้องเอาหนังสือค้ำประกันโดยธนาคาร (Bank Guarantee) มาวางให้เท่ากับมูลค่าที่รัฐต้องจ่ายให้ คือ 120,000 ล้านบาท และถ้าหากมีเหตุทำให้การก่อสร้างไม่สำเร็จ รัฐเองก็สามารถหาผู้รับเหมารายใหม่เข้ามาแทนได้ทันที เพราะการจ่ายเงินแต่ละครั้ง จะเท่ากับว่า เอกชนจะต้องส่งมอบงานในแต่ละงวดให้เป็นรัฐด้วย นอกจากการวาง Bank Guarantee แล้ว ยังให้เอกชนที่ไปร่วมกลุ่มกันมาลงทุนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันของกลุ่มกิจการร่วมค้าด้วย เป็นการคุม 2 ชั้น
“การเงินนี้ไม่ได้ทำให้รัฐต้องจ่ายมากขึ้น ไม่ได้เอื้อ แต่เป็นการทำให้โครงการเกิดขึ้น รวมถึงผลประโยชน์รัฐก็ไม่ได้เสีย แต่ผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและผลประโยชน์ที่จะตกสู่ธุรกิจและประชาชน ก็จะสามารถกลับเข้ามาได้ นอกจากนี้เอกนจะต้องลงทุนอีก 40,000 ล้านบาทในส่วนของระบบไฟฟ้าและขบวนรถด้วย” นายพิชัยกล่าว
@แบ่งจ่าย 7 งวด แอร์พอร์ตลิ้งก์ ก็ต้องวางหลักประกัน 7 ครั้ง ขาดทุนบักโกรก 363 ล้าน
นายพิชัยกล่าวต่อว่า ในส่วนของค่าใช้สิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ จะเห็นว่าเงื่อนไขเดิมที่ให้จ่ายครั้งเดียว 10,671 ล้านบาทก้อนเดียวหลังลงนาม 2 ปีนั้น จะเห็นว่าช่วงนี้ (2562-2564) มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดคือ การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่มีผู้โดยสารเดินทางเลย จึงเป็นที่มาของการให้ผ่อนจ่าย 7 งวด แม้จะให้ผ่อนจ่าย 7 งวด แต่รัฐก็วางเงื่อนไขให้มีการวางหลักประกันเช่นกันรวม 7 ฉบับ
ขณะที่ส่วนแบ่งรายได้ นายพิชัยตอบว่า ในสัญญาจะให้เอกชนเข้ามารับผิดชอบโครงการตั้งแต่ปี 2564 ถ้ามีรายได้เกิดขึ้นต้องนำส่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถ้าหักรายได้แล้วไม่มีกำไร เอกชนก็ต้องรับภาระไป แต่ถ้าหักแล้วมีกำไรจะต้องส่งให้ รฟท. เท่านั้น โดยตั้งแต่ที่เอกชนเข้ามารับภาระเมื่อปี 2564 ประสบภาวะขาดทุนไปแล้ว 363 ล้านบาท
@ยกเงื่อนไข BOI ปลดล็อก NTP
ด้านการส่งมอบหนังสือ NTP นายพิชัยกล่าวว่าไม่ได้สามารถส่งมอบได้ทันที เพราะมีเงื่อนไขหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ตอนนี้ติดเรื่องผลประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนในภาษี ถ้ายังไม่จบก็เริ่มงานไม่ได้ โดยเป็นประเด็นที่เกี่ยวพันกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จึงมีความเห็นร่วมกันให้แก้สัญญาในเรื่องนี้ โดยให้ไปคุยกันภายหลัง
@เหตุสุดวิสัย มีไว้เพื่อความคล่องตัว
ขณะที่การแก้สัญญาโดยเพิ่มเหตุสุดวิสัย นายพิชัยระบุว่า กรณีนี้มีขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้นโดยไม่ได้เกิดจากความผิดของทั้งรัฐและเอกชน จึงเห็นควรให้มีการหารือกัน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหาระหว่างรัฐและเอกชนก็เท่านั้น
“การแก้ไขสัญญานี้ ยึดหลักการเดิมคือ คณะกรรมการอีอีซีให้นำเสนอครม.บนพื้นฐานของกฎหมายที่รัฐไม่เสียผลประโยชน์ เพื่อรถไฟไทยและอีอีซีดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนตามขั้นตอนในข้อ 21 ของประกาศอีอีซี เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการร่วมลงทุนกับเอกชน 2560 การแก้สัญญาเป็นการเอื้อเอกชนไหม? ก็อยากจะเรียนอย่างนี้ครับว่า ในมุมมองของเรา ถ้ามันเกิดเหตุขึ้นมาแล้วเป็นสิ่งที่ทำให้โครงการเดินต่อไม่ได้ ผมคิดว่ามันไม่ใช่เฉพาะโครงการนี้ ที่ผ่านมาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด รัฐบาลได้ช่วยเหลือในหลายๆอย่างมากมายเลย ทั้งรายเล็กรายใหญ่ โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ ผมคิดว่าน่าจะเรียกว่าเป็นการทบทวนสัญญา ทบทวนมติครม.บนหลักเกณฑ์ของสิ่งที่เราจะต้องไม่เสียผลประโยชน์ เพียงแต่ว่ามีการปรับแต่งเกณฑ์บางอย่างเพื่อให้โครงการมันเดินไปได้โดยที่รัฐไม่เสียผลประโยชน์” นายพิชัยระบุ