‘สุริยะ’ ออกมาย้ำ การแก้สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ ซี.พี. ชี้ชัดเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินร่วมลงทุนของรัฐเป็นสร้างไปจ่ายไป ทางเอกชนต้องวางหลักประกันทุกงวดที่จ่าย ถ้าทำไม่ได้ รัฐมีอำนาจยึดหลักประกันและหารายใหม่มาทำต่อ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 24 ตุลาคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินนั้น ยืนยันว่าไม่มีนโยบายในการแก้ไขสัญญาเพื่อเอื้อเอกชนอย่างแน่นอน ซึ่งทางบจ.เอเชีย เอราวัน (ซี.พี.) ในฐานะเอกชนคู่สัญญาจะขอเปลี่ยนสัญญา เป็นรูปแบบทำไปจ่ายไป โดยไม่มีหลักค้ำประกัน ซึ่งเห็นว่ามีความเสี่ยงต่อการทิ้งงานและจะก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง
ขณะเดียวกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้มีความคิดเห็นตรงกันว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นโครงการที่มีประโยชน์มหาศาลทั้งในพื้นที่ EEC และประเทศชาติ และต้องการให้ การดำเนินโครงการไม่หยุดชะงัก ดังนั้นทุกฝ่ายจึงได้มีหารือกัน เพื่อให้โครงการดำเนินการต่อได้ โดยมีความโปร่งใสทุกขั้นตอนและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
นายสุริยะกล่าวต่อว่า หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้าไปเจรจา กับภาคเอกชน จนได้ข้อสรุปการแก้ไขปรับปรุงสัญญาที่เหมาะสม ให้บรรลุข้อตกลงให้โครงการสำเร็จตามแผน โดยระบุให้เอกชนต้องวางหลักค้ำประกันความสำเร็จของการเปิดเดินรถไฟในโครงการดังกล่าว โดยหากเอกชนทำไม่สำเร็จทางรัฐจะยึดหลักประกันทันที เพื่อนำมาสานต่อโครงการให้สำเร็จต่อไป
นายสุริยะย้ำว่า การปรับปรุงสัญญาครั้งนี้ไม่ได้เอื้อต่อเอกชน แต่ทำเพื่อให้โครงการดังกล่าวสำเร็จและประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุด โดยรัฐจะไม่เสียหายอย่างแน่นอน
อ่านประกอบ
- ‘ประชาชน’ ถามแก้สัญญาไฮสปีดเอื้อเอกชนหรือไม่? ‘พิชัย’ โต้แต่ละเงื่อนไขบีบวางหลักประกัน
- เปิดรายงาน‘สตง.’ชำแหละ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ล่าช้า เสี่ยง‘ค่าโง่’-พบ‘คู่สัญญา’ขาดสภาพคล่อง
- สตง.เตือน‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’เสี่ยงค่าโง่-แบ่งจ่าย'แอร์พอร์ตเรลลิงก์’กระทบหลักการร่วมทุนฯ
- บอร์ดอีอีซี อนุมัติเงียบ แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน เร่งชงครม. ต.ค.นี้