'สตง.'เตือนโครงการ 'รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน' ล่าช้า รัฐเสี่ยงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โครงการ ‘เมืองการบิน-ไฮสปีดไทย-จีน’ ชี้ปรับสัญญาให้ ‘รัฐ’ จ่ายเงินเร็วขึ้น-แบ่งจ่ายค่าสิทธิ ‘แอร์พอร์ต เรลลิงก์’ ส่อกระทบหลักการ ‘ร่วมลงทุนฯ’
............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง- สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) แล้ว พร้อมทั้งจัดส่งรายงานฯฉบับดังกล่าวไปให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. แล้ว
สำหรับรายงานฯฉบับนี้ สตง.ตรวจสอบพบว่า การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี 10 เดือน ทำให้การก่อสร้างและการเปิดให้บริการเดินรถของโครงการฯล่าช้า ส่งผลให้ประชาชนเสียโอกาสในการใช้บริการรถไฟความเร็วสูง และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสียโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเอกชนคู่สัญญาภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
รวมถึงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะต้องชดเชยความเสียหายจากการดำเนินโครงการฯ ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการอื่นๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
นอกจากนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาการดำเนินโครงการฯของเอกชนคู่สัญญา โดยการปรับการชำระเงินโดยรัฐต้องจ่ายเร็วขึ้น และการแบ่งชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ที่ รฟท. ยังไม่ได้รับการชำระจากเอกชนคู่สัญญามีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อหลักการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนบางส่วน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการลงทุนและลดภาระทางการเงินและการคลังของรัฐและวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายโอนความเสี่ยงให้เอกชน
อีกทั้งจะทำให้ รฟท. และรัฐเสียโอกาสในการนำเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ เพื่อไปใช้สำหรับการบริหารงานหรือดำเนินโครงการอื่นๆ ที่จำเป็นเร่งด่วน
ทั้งนี้ ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน สตง.ได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบเชิงป้องกัน เพื่อให้ รฟท. ดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยต้องให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย และให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของหลักการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน อีกทั้งคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ เพื่อให้โครงการฯสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชน และไม่สูญเสียหลักการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2567 ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน มีมติเห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) โดยการปรับปรุงสัญญาร่วมลงทุนเพื่อผลักดันให้โครงการ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ บนพื้นฐานที่ภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และภาคเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร โดยจะเสนอการแก้ไขสัญญาต่อ ครม. เพื่อพิจารณาใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย
1.วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิม จ่ายเมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ แล้ว รัฐจะแบ่งจ่ายเป็นเวลา 10 ปี ปีละเท่าๆ กัน รวมเป็นจำนวน 149,650 ล้านบาท เปลี่ยนเป็น จ่ายเป็นงวด ตามความก้าวหน้าของงานก่อสร้างที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท. ) ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท โดยเอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 160,000 ล้านบาท (สำหรับค่างานโยธาและค่าระบบรถไฟฟ้า) เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงฯ ได้ภายใน 5 ปี ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของภาครัฐ (รฟท.) ทันทีตามงวดของการจ่ายเงิน
2.กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้ เอกชนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท. ต้องรับภาระ
3.กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกันต่อไป
4.การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท. สามารถออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมดนี้
5.การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น
อ่านประกอบ :
บอร์ดอีอีซี อนุมัติเงียบ แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน เร่งชงครม. ต.ค.นี้