‘สภาพัฒน์-แบงก์ชาติ’ แนะรัฐบาลจัดสรรงบประมาณคืน ‘ต้นเงินกู้’ ให้สอดคล้องกับขนาด ‘มูลหนี้-ดอกเบี้ย’ หลังภาระหนี้ ‘ดอกเบี้ยจ่าย’ มีแนวโน้มสูงขึ้น ชี้อาจสร้างข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ-เกิดความเสี่ยงทางการคลังในระยะต่อไป
......................................
จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2568 ซึ่งประกอบด้วย 1.แผนการก่อหนี้ใหม่ จำนวน 1,204,304.44 ล้านบาท 2.แผนการบริหารหนี้เดิม จำนวน 1,783,889.64 ล้านบาท และ 3.แผนการชำระหนี้ จำนวน 489,110.70 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ณ สิ้นปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 66.80% นั้น (อ่านประกอบ : ครม.ไฟเขียว‘แผนบริหารหนี้ฯ’ปีงบ 68 'รัฐบาล'กู้ชดเชยขาดดุลฯ 1 ล้านล.-‘หนี้สาธารณะ’ 66.8%)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการพิจารณาแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2568 ของ ครม. นั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. ว่า สำนักงานฯ มีความเห็นว่า ภาระดอกเบี้ยจ่ายต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีในระยะปานกลางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะต่อไป
ดังนั้น ในระยะต่อไปภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการทบทวนหรือยกเลิกมาตรการที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐบาลและไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายการบริหารเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ สำนักงบประมาณควรจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระหนี้คืนต้นต้นเงินกู้ให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้และดอกเบี้ย ทั้งในส่วนของหนี้รัฐบาลและหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รัฐให้ดำเนินโครงการของรัฐ ที่ครบกำหนดชำระในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังไว้สำหรับการดำเนินนโยบายสำคัญในระยะต่อไป และลดความเสี่ยงต่อความยั่งยืนทางการคลัง
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่า ด้วยวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณสำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปีอยู่ในระดับสูง การระดมทุนจากสถาบันการเงินและการกู้ยืมจากตลาดพันธบัตร จึงควรดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยรัฐบาลควรบริหารจัดการเครื่องมือในการระดมทุนให้หลากหลายและเหมาะสม ควบคู่กับสื่อสารกับตลาดอย่างชัดเจนและสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบที่อาจมีต่อตลาดการเงินและต้นทุนการกู้ยืมของภาครัฐและเอกชน
นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการชำระคืนคืนต้นเงินกู้ เนื่องจากการชำระหนี้ในระดับต่ำเกินไป อาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังในระยะต่อไปได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรเร่งรัดการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะให้ดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนด เพื่อให้การลงทุนของภาครัฐช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
สำหรับการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ความสามารถในการชำระหนี้ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561 แต่มีความจำเป็นต้องกู้เงิน ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการดำเนินงานตามแนวทางการแก้ไขปัญหาขององค์กรหรือแผนฟื้นฟูกิจการให้บรรลุผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อช่วยลดภาระความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาลในอนาคต
ทั้งนี้ ธปท. จะประสานงานกับกระทรวงการคลังในการบริหารหนี้สาธารณะอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การระดมทุนผ่านตลาดการเงินเป็นไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียว‘แผนบริหารหนี้ฯ’ปีงบ 68 'รัฐบาล'กู้ชดเชยขาดดุลฯ 1 ล้านล.-‘หนี้สาธารณะ’ 66.8%
ครม.ปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้ฯ’ กู้เพิ่ม 1.12 แสนล.ชดเชยขาดดุลงบปี 67-‘หนี้สาธารณะ’ 65.06%
ครม.เคาะปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้ฯ’ปี 67ครั้งที่ 2-เพิ่มวงเงินกู้ชดเชยขาดดุลฯอีก 2.69 แสนล.
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ปีงบ 67 เผย‘ก่อหนี้ใหม่’เพิ่มขึ้น 5.6 แสนล้าน
ก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้าน! ครม.อนุมัติ ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 67
เปิดรายละเอียดกรอบงบ 67 รัฐลงทุน 7.19 แสนล. มองGDPปีหน้าโต 3.2%-หลายปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า
ขาดดุลฯ 6.93 แสนล.! ครม.ไฟเขียวเพิ่ม'กรอบวงเงิน'งบประมาณรายจ่ายปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน
เปิดยุทธศาสตร์งบ 67 รบ.'เศรษฐา'ดัน 28 เรื่องด่วน-คาดทูลเกล้าฯ'ร่างพ.ร.บ.งบฯ'เม.ย.ปีหน้า
ขาดดุลเพิ่มแสนล.! รบ.เคาะกรอบงบปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน-‘เศรษฐา’ย้ำแจก‘หมื่นบาท’ไม่กู้