ครม.ไฟเขียว ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 68 พบ ‘รัฐบาลแพทองธาร’ กู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 'งบปี 68-งบเพิ่มเติมปี 67' รวมกว่า 1 ล้านล้าน ดัน ‘หนี้สาธารณะ’ แตะ 66.80% ต่อจีดีพี
.............................................
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2568 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เสนอ ประกอบด้วย
1.แผนการก่อหนี้ใหม่ จำนวน 1,204,304.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61,723.73 ล้านบาท จากปีงบประมาณก่อน (แผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ปรับปรุงครั้งที่ 3) ที่มีจำนวน 1,142,580.71 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล จำนวน 1,097,259.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 109,648.60 ล้านบาท จากปีงบประมาณก่อนฯ ที่มีจำนวน 987,611.38 ล้านบาท
(2) แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 105,681.62 ล้านบาท ลดลง 26,287.71 ล้านบาท จากปีงบประมาณก่อนฯ ที่มีจำนวน 131,969 ล้านบาท และ (3) แผนการก่อหนี้ใหม่ของหน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวน 1,362.84 ล้านบาท ลดลง 21,637.16 ล้านบาท จากปีงบประมาณก่อนฯ ที่มีจำนวน 23,000 ล้านบาท
สำหรับแผนการก่อหนี้ใหม่ เช่น การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปีงบฯ 2568 จำนวน 865,700 ล้านบาท , การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปีงบฯ 2567 และการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม ปีงบฯ 2567 ที่มีการขยายเวลากู้เงินออกไปภายหลังจากวันสิ้นปีงบฯ สำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปี จำนวน 145,000 ล้านบาท
และแผนกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการหรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง เช่น บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 74,760.73 ล้านบาท
2.แผนการบริหารหนี้เดิม จำนวน 1,783,889.64 ล้านบาท ลดลง 245,820.55 ล้านบาท จากปีงบประมาณก่อนฯ ที่มีจำนวน 2,029,710.19 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) แผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐบาล จำนวน 1,681,732.13 ล้านบาท ลดลง 249,891.83 ล้านบาท จากปีงบประมาณก่อนฯ ที่มีจำนวน 1,931,623.96 ล้านบาท (2) แผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 101,157.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,071.28 ล้านบาท จากปีงบประมาณก่อนฯ ที่มีจำนวน 98,068.23 ล้านบาท และ (3) แผนการบริหารหนี้เดิมของหน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวน 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท จากปีงบประมาณก่อนฯ ที่ไม่มีการบริหารหนี้เดิมในส่วนนี้
3.แผนการชำระหนี้ จำนวน 489,110.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34,941.83 ล้านบาท จากปีงบประมาณก่อนฯ ที่มีจำนวน จำนวน 454,168.87 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) แผนการชำระหนี้ของรัฐบาลและหนี้หน่วยงานภาครัฐจากงบประมาณรายจ่าย จำนวน 410,253.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63,873.61 ล้านบาท จากปีงบประมาณก่อนฯ ที่มีจำนวน จำนวน 346,380.07 ล้านบาท และ (2) แผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่นๆ จำนวน 78,857.02 ล้านบาท ลดลง 28,931.78 ล้านบาท จากปีงบประมาณก่อนฯ ที่มีจำนวน จำนวน 107,788.80 ล้านบาท
รายงานข่าวแจ้งว่า ภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบฯ 2568 ดังกล่าว คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ประเมินว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 66.80% จากกรอบตามกฎหมายที่กำหนดว่าต้องไม่เกิน 70% ,สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณจะอยู่ที่ 34.84% จากกรอบตามกฎหมายที่กำหนดว่าต้องไม่เกิน 35%
อ่านประกอบ :
ครม.ปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้ฯ’ กู้เพิ่ม 1.12 แสนล.ชดเชยขาดดุลงบปี 67-‘หนี้สาธารณะ’ 65.06%
ครม.เคาะปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้ฯ’ปี 67ครั้งที่ 2-เพิ่มวงเงินกู้ชดเชยขาดดุลฯอีก 2.69 แสนล.
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ปีงบ 67 เผย‘ก่อหนี้ใหม่’เพิ่มขึ้น 5.6 แสนล้าน
ก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้าน! ครม.อนุมัติ ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 67
เปิดรายละเอียดกรอบงบ 67 รัฐลงทุน 7.19 แสนล. มองGDPปีหน้าโต 3.2%-หลายปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า
ขาดดุลฯ 6.93 แสนล.! ครม.ไฟเขียวเพิ่ม'กรอบวงเงิน'งบประมาณรายจ่ายปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน
เปิดยุทธศาสตร์งบ 67 รบ.'เศรษฐา'ดัน 28 เรื่องด่วน-คาดทูลเกล้าฯ'ร่างพ.ร.บ.งบฯ'เม.ย.ปีหน้า
ขาดดุลเพิ่มแสนล.! รบ.เคาะกรอบงบปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน-‘เศรษฐา’ย้ำแจก‘หมื่นบาท’ไม่กู้