ครม.เห็นชอบปรับปรุง ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 67 ครั้งที่ 3 ก่อหนี้ใหม่เพิ่ม 1.12 แสนล้านบาท ชดเชยการขาดดุลงบปี 67 เพิ่มเติม ดัน 'หนี้สาธารณะต่อจีดีพี' แตะ 65.06%
...........................................
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ มีมติเห็นการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 3 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะ เสนอ โดยการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะฯ ดังกล่าว ได้ปรับแผนก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.12 แสนล้านบาท หรือจากเดิม 1,030,580.71 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,142,580.71 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียดการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 3 มีดังนี้
1.แผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่ม 112,000 ล้านบาท จากเดิม 1,030,580.71 ล้านบาท เป็น 1,142,580.71 ล้านบาท โดยเป็นแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล (รัฐบาลกู้มาใช้โดยตรง) ปรับเพิ่ม 112,000 ล้านบาท จากการปรับเพิ่มเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (เพิ่มเติม) จากเดิม 771,458.40 ล้านบาท เพิ่มเป็น 883,458.40 ล้านบาท
2.แผนการบริหารหนี้เดิม ปรับลด 12,603.87 ล้านบาท จากเดิม 2,042,314.06 ล้านบาท เป็น 2,029,710.19 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรับลดวงเงินกู้โครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรปีการผลิต 2554/55 และโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร ปีการผลิต 2555/56 จากเดิม 49,054.00 ล้านบาท เป็น 36,450.13 ล้านบาท เนื่องจาก ธ.ก.ส. ได้ชำระหนี้จากงบประมาณเพื่อชำระต้นเงินกู้วงเงิน 12,601.37 ล้านบาท และเงินระบายข้าววงเงิน 2.5 ล้านบาท
3.แผนการชำระหนี้ คงเดิมที่วงเงิน 454,168.87 ล้านบาท
พร้อมกันนั้น ครม.ได้อนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปให้กู้ต่อการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 มาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการพื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ.2545
รวมทั้งอนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาและการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้กรอบวงเงินของการปรับปรุงแผนฯ ปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 3 และให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้พิจารณากู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ
รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 3 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 65.74% จากเดิมที่อยู่ที่ 65.06% ในขณะที่สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณจะอยู่ที่ 33.76% จากเดิม 32.14%
อ่านประกอบ :
ครม.เคาะปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้ฯ’ปี 67ครั้งที่ 2-เพิ่มวงเงินกู้ชดเชยขาดดุลฯอีก 2.69 แสนล.
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ปีงบ 67 เผย‘ก่อหนี้ใหม่’เพิ่มขึ้น 5.6 แสนล้าน
ก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้าน! ครม.อนุมัติ ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 67
เปิดรายละเอียดกรอบงบ 67 รัฐลงทุน 7.19 แสนล. มองGDPปีหน้าโต 3.2%-หลายปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า
ขาดดุลฯ 6.93 แสนล.! ครม.ไฟเขียวเพิ่ม'กรอบวงเงิน'งบประมาณรายจ่ายปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน
เปิดยุทธศาสตร์งบ 67 รบ.'เศรษฐา'ดัน 28 เรื่องด่วน-คาดทูลเกล้าฯ'ร่างพ.ร.บ.งบฯ'เม.ย.ปีหน้า
ขาดดุลเพิ่มแสนล.! รบ.เคาะกรอบงบปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน-‘เศรษฐา’ย้ำแจก‘หมื่นบาท’ไม่กู้