‘บอร์ด กกพ.’ เคาะ ‘ค่าเอฟที’ งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.67 พุ่ง 11-44% หลังต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเพิ่ม-คืนหนี้ ‘กฟผ.’ ดันค่าไฟฟ้าแตะ 4.65-6.01 บาท/หน่วย ลุ้นรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชน
..................................
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา กกพ. มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 และมีมติเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟที (ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ) สำหรับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.67 ซึ่งประกอบด้วย 3 กรณี ได้แก่
กรณีที่ 1 ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด) ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 222.71 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค.2567 จำนวน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. จำนวน 98,495 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 163.39 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นจำนวน 188.41 สตางค์ต่อหน่วย
โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนตั้งแต่เดือน ก.ย.2564-เม.ย.2567 ในช่วงสภาวะวิกฤตของราคาพลังงานที่ผ่านมา คืนทั้งหมดภายในเดือน ธ.ค2567 เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้มีสถานะทางการเงินคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้น 44% จากระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน (งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2567)
กรณีที่ 2 กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 3 งวด ค่า Ft ขายปลีก เท่ากับ 113.78 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค.2567 จำนวน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. กู้เงินมาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย.2564-เม.ย.2567 ออกเป็น 3 งวดๆ ละจำนวน 32,832 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 54.46 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 79.48 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้ กฟผ.มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถดำเนินการตามแผนชำระคืนหนี้เงินกู้ที่วางไว้เพื่อรักษาระดับความน่าเชื่อถือ และลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น
โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2567 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 65,663 ล้านบาท ในขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 18% จากงวดปัจจุบัน (งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2567)
กรณีที่ 3 กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด ค่า Ft ขายปลีก เท่ากับ 86.55 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค.2567 จำนวน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. กู้เงินมาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย.2564-เม.ย.2567 ออกเป็น 6 งวดๆ ละจำนวน 16,416 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 27.23 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 52.25 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถดำเนินการตามแผนชำระคืนหนี้เงินกู้ที่วางไว้เพื่อรักษาระดับความน่าเชื่อถือ และลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น
โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2567 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 82,079 ล้านบาท ในขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 11% จากงวดปัจจุบัน
“กรณีที่ 1 หากใช้หนี้ กฟผ. และค่าก๊าซ ทั้งหมด จะทำให้ค่าไฟรอบหน้า (งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2567) ขยับเป็น 6.01 บาท/หน่วย จากงวดก่อนที่อยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย แต่เนื่องจากมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชน หากเราจะผ่อนคลายภาระลง โดยใช้วิธีการแบ่งชำระให้ช้าลง ทอดระยะให้นานขึ้น โดยแบ่งชำระหนี้ กฟผ.เป็น 3 งวด หรือ 1 ปี และให้ค่า AF ก๊าซอยู่ที่ 25 สตางค์ ค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 4.92 บาท/หน่วย นี่เป็นกรณีที่ 2
กรณีที่ 3 หากเราพยายามผ่อนคลายให้มากที่สุด โดยให้ประชาชนตัวเล็กควรแบกให้น้อยที่สุด และให้ กฟผ. ซึ่งเป็นผู้ที่มีกำลังอยู่ ตรึงการจ่ายให้ช้าลง โดยแบ่งชำระเป็น 6 งวด คือ 2 ปี และคืนค่าก๊าซ 25 สตางค์/หน่วย ค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 4.65 บาท/หน่วย อย่างไรก็ดี กกพ. มีความห่วงกังวลและพยายามทำให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด แต่ก็ต้องคำนึงถึงระบบด้วย เพราะกฟผ.แบกหนี้มา 2 ปีแล้ว หากแบกต่อไปจะกระทบต่อการประเมินเครดิตได้” นายพูลพัฒน์ ระบุ
นายพูลพัฒน์ ระบุว่า ค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.67 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดก่อน เป็นผลจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาก๊าซ โดยคาดราคา Pool Gas จะอยู่ที่ 323 บาท/ล้านบีทียู เพิ่มขึ้น 8% จากงวดก่อน ,ราคา Spot LNG คาดว่าจะอยู่ที่ 13.58 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้น 31% ในขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากงวดก่อน 1.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนค่าลง 4% รวมทั้งต้องชำระหนี้ที่ค้างกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
นายพูลพัฒน์ กล่าวว่า กกพ.ได้มอบหมายสำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์ สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12- 26 ก.ค.2567 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายนโยบาย คือ รัฐบาลต้องการทำให้อัตราค่าไฟฟ้าลดลงจากทั้ง 3 กรณี ก็ต้องจัดสรรงบประมาณหรือมีนโยบายสนับสนุนในการลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชน
อ่านประกอบ :
อุดหนุน 8.3 พันล.! ครม.ไฟเขียวมาตรการตรึง‘ดีเซล-ก๊าซหุงต้ม’ ลดค่าไฟฟ้า 19.05 สต./หน่วย
‘บอร์ด กกพ.’ เคาะค่าไฟฟ้าเดือน พ.ค.-ส.ค.2567 เฉลี่ย 4.18 บาท/หน่วย เท่างวดก่อน
‘สภาผู้บริโภค’จี้‘กกพ.’ทบทวน FT งวดใหม่ คาดกดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่ำกว่า 4 บาท/หน่วยได้
กกพ. ชี้ค่าไฟงวด พ.ค. - ส.ค. 67 ที่ 4.18 ต่อหน่วยตอบโจทย์ทุกฝ่าย
ต่ำสุด 4.18 บ./หน่วย! 'กกพ.'เคาะ 3 ทางเลือก คิดค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค.67-ทยอยคืนหนี้'กฟผ.'
‘หม่อมอุ๋ย’นำทีมยื่น‘จม.เปิดผนึก’ร้อง‘นายกฯ’ทบทวนอุดหนุนพลังงาน หลังรัฐแบกหนี้ 2.2 แสนล.
กกพ.เคาะค่าไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย. 4.18 บาท-'ครัวเรือน'ใช้ไม่เกิน 300 หน่วย/ด. เหลือ 3.99 บ.
ครม.เห็นชอบมาตรการพลังงาน ตรึงดีเซล 30 บาท - ค่าไฟกลุ่มเปราะบาง 3.99 บ. 4 เดือน
‘บอร์ดค่าจ้าง’ นัดถกทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำ 20 ธ.ค.-ชง ‘ครม.’ หั่นค่าไฟไม่เกิน 4.2 บ./หน่วย
‘กกร.’ร้องรัฐตรึงค่าไฟงวดใหม่ 3.99 บ./หน่วย ก่อนรื้อโครงสร้างฯ-มองGDPปี 67 เสี่ยงต่ำ 3%