บอร์ด กกพ. มีมติเห็นชอบคงค่า Ft ที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2567 อยู่ที่เฉลี่ย 4.18 บาท/หน่วย เท่ากับงวดปัจจุบัน
......................................
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2567 คงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8-22 มี.ค.2567 สำนักงาน กกพ. ได้เปิดรับฟังความเห็นผลการคำนวณค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2567 ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ซึ่งประกอบด้วย 3 กรณี ได้แก่
กรณีแรก จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมดในงวดเดียว แบ่งเป็น ค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ในงวดเดียวหรือ 146.03 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีเรียกเก็บ 165.24 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 5.4357 บาทต่อหน่วย
กรณีที่สอง จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 4 งวด แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค.2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ภายใน 4 งวดๆ ละ จำนวน 24,922 ล้านบาท หรือ 36.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บที่ 55.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค.2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็น 4.3405 บาทต่อหน่วย
กรณีที่สาม ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบันตามที่ กฟผ. เสนอ หรือจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างประมาณ 7 งวด แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ประมาณ 7 งวดๆ ละ จำนวน 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บคงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย แล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน
นายคมกฤช ระบุด้วยว่า การใช้ไฟฟ้าในระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้น ในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง สำนักงาน กกพ. จึงขอเชิญชวนผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ให้มีสภาพการใช้งานที่ดี เพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศร้อน
รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ง่ายๆ 5 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน ซึ่งทั้ง 5 ป. จะช่วยลดการนำเข้า LNG ลดการเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดรอบใหม่ (New Peak Demand) ในระบบไฟฟ้าและยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าเองด้วย
อ่านประกอบ :
‘สภาผู้บริโภค’จี้‘กกพ.’ทบทวน FT งวดใหม่ คาดกดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่ำกว่า 4 บาท/หน่วยได้
กกพ. ชี้ค่าไฟงวด พ.ค. - ส.ค. 67 ที่ 4.18 ต่อหน่วยตอบโจทย์ทุกฝ่าย
ต่ำสุด 4.18 บ./หน่วย! 'กกพ.'เคาะ 3 ทางเลือก คิดค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค.67-ทยอยคืนหนี้'กฟผ.'
‘หม่อมอุ๋ย’นำทีมยื่น‘จม.เปิดผนึก’ร้อง‘นายกฯ’ทบทวนอุดหนุนพลังงาน หลังรัฐแบกหนี้ 2.2 แสนล.
กกพ.เคาะค่าไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย. 4.18 บาท-'ครัวเรือน'ใช้ไม่เกิน 300 หน่วย/ด. เหลือ 3.99 บ.
ครม.เห็นชอบมาตรการพลังงาน ตรึงดีเซล 30 บาท - ค่าไฟกลุ่มเปราะบาง 3.99 บ. 4 เดือน
‘บอร์ดค่าจ้าง’ นัดถกทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำ 20 ธ.ค.-ชง ‘ครม.’ หั่นค่าไฟไม่เกิน 4.2 บ./หน่วย
‘กกร.’ร้องรัฐตรึงค่าไฟงวดใหม่ 3.99 บ./หน่วย ก่อนรื้อโครงสร้างฯ-มองGDPปี 67 เสี่ยงต่ำ 3%