กกพ. ชี้ค่าไฟงวด พ.ค. - ส.ค. 67 ที่ 4.18 ต่อหน่วยตอบโจทย์ทุกฝ่าย
ค่าไฟเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายจำเป็นของทุกครัวเรือนส่งผลต่อค่าครองชีพ จากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ยังคงผันผวนต่อเนื่อง ทำให้ผู้ใช้ไฟต้องลุ้นค่าไฟกันทุกงวด ผสมโรงกับความต้องการไฟฟ้าที่สูงต่อเนื่องจากฤดูร้อนที่มีภาวะอากาศร้อนจัดที่มาเร็วกว่าที่เคย ความต้องการไฟฟ้าปริมาณมากขึ้นย่อมตามมาด้วยค่าไฟที่แพงขึ้น สำนักงาน กกพ. เลือกที่จะบริหารจัดการค่าไฟแบบที่ตอบโจทย์ทุกฝ่าย ให้อยู่ร่วมและเดินไปข้างหน้าด้วยกันได้ทั้งหมด
ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้แถลงข่าว เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางการปรับทบทวนค่าเอฟทีและค่าไฟค่าไฟฟ้างวด พ.ค. - ส.ค. 2567 โดยเสนอเป็น 3 แนวทางตั้งแต่ 4.18 – 5.44 บาทต่อหน่วย ขึ้นกับว่าจะเลือกแนวทางการชำระคืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างไร แนวทางในการอุดหนุนและแทรกแซงค่าไฟมีข้อจำกัดมากขึ้นจากภาระค่าเชื้อเพลิงคงค้างในงวดก่อนหน้า ทำให้ปัจจุบัน กฟผ. แบกรับภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิงสูงถึงเกือบแสนล้านบาท แม้ว่าจะได้รับคืนเงินค่าเชื้อเพลิง เพื่อบรรเทาภาระทางการเงินไปในงวดก่อนบ้างแล้ว แต่ก็ยังถือว่ามีภาระทางการเงินอยู่ระดับสูงถึงเกือบแสนล้านบาท
“แนวโน้มการเรียกเก็บค่าไฟงวดนี้ (พ.ค. - ส.ค. 2567) น่าจะไม่มีการปรับเพิ่มจากงวดปัจจุบันที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และคิดว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมที่สุดตอบโจทย์กับทุกฝ่าย ได้แก่ การลดภาระทางการเงินของ กฟผ. ในระดับที่ระบบไฟฟ้ายังมีความมั่นคง และที่สำคัญยังเป็นอัตราที่ดูแลประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบจากค่าไฟแพง โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังเข้าสู่ฤดูร้อนอากาศร้อนจัด” นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวระหว่างการแถลงข่าว เวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนค่าเอฟทีและค่าไฟฟ้างวด พ.ค. - ส.ค. 2567
ในการทบทวนค่าเอฟทีและค่าไฟฟ้าในงวดก่อนหน้า เป็นครั้งแรกในรอบหลายงวดที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้า มีแนวโน้มลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนสงคราม ประกอบกับการทยอยใช้คืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงบางส่วนให้กับ กฟผ. ทำให้ภาระหนี้ของ กฟผ. ลดลงได้ระดับหนึ่ง และมีภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิง คงค้างล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 99,689 ล้านบาท
ในขณะที่แหล่งก๊าซเอราวัณทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามเป้าหมาย 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม แหล่งก๊าซจากเมียนมาร์ที่ผลิตได้ลดลงจากเดิม รวมทั้งแหล่งก๊าซอื่นๆ ในอ่าวไทย ลดกำลังการผลิตเข้าสู่การดำเนินการตามปกติ ก่อนหน้านี้ที่ได้มีการเร่งกำลังการผลิตเพื่อชดเชยปริมาณก๊าซที่หายไปของแหล่งเอราวัณ อาจทำให้ค่าไฟงวดนี้ไม่ได้รับอานิสงส์จากต้นทุนเชื้อเพลิงราคาถูกจากก๊าซในอ่าวไทย และเมียนมาร์ได้เต็มที่มากนัก เพราะปริมาณก๊าซโดยรวมไม่ได้เพิ่มมาจากงวดก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญต่อต้นทุนค่าไฟ ทุกฝ่ายยังต้องช่วยกันประคับประคองไม่ให้ค่าไฟเพิ่มสูงขึ้นจนกระทบต่อประชาชน และผู้ใช้ไฟฟ้าเองต้องใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่า เพื่อไม่ให้ความต้องการไฟฟ้าสูงมากจนต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเก่า หรือโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลที่มีต้นทุนสูงในการผลิตไฟฟ้า
ในการประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ครั้งที่ 11/2567 (ครั้งที่ 896) เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2567 มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 และเห็นชอบ ผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 – 22 มี.ค. 2567 ใน 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมดในงวดเดียว) แบ่งเป็น ค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ในงวดเดียวหรือ 146.03 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีเรียกเก็บ 165.24 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 5.4357 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 4 งวด) แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ภายใน 4 งวดๆ ละ จำนวน 24,922 ล้านบาท หรือ 36.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บที่ 55.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.3405 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 3 (ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบันตามที่ กฟผ. เสนอ หรือจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างประมาณ 7 งวด) แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ประมาณ 7 งวดๆ ละ จำนวน 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บคงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย แล้วทำให้ ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน
แม้ว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟในปีนี้จะดูดีขึ้นกว่าปีที่แล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ต้องย้ำเตือนกันเสมอคือการประหยัดพลังงาน ปีนี้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (พีค) ได้ทำสถิติสูงที่สุดของปีนี้ไปแล้วที่ 30,989.3 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เวลาประมาณ 19.29 น.
นายคมกฤช ทิ้งท้ายว่า “ยิ่งผู้ใช้ไฟฟ้าใช้ไฟฟ้าแตะระดับพีคมากเท่าไหร่ สิ่งที่ตามมาก็คือการนำเข้าเชื้อเพลิงเพิ่มเติมเข้ามามากเท่านั้น เพราะเหตุว่าเชื้อเพลิงทุกชนิดในการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลัก และเป็นเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำในการผลิตไฟฟ้าของประเทศได้ถูกใช้อย่างเต็มกำลังการผลิตในช่วงพีค ดังนั้นเมื่อมีความต้องการใช้ไฟเพิ่มมากขึ้นอีก ก็หลีกเลี่ยงได้ยากในการที่จะต้องนำเข้าก๊าซ LNG มาชดเชยในส่วนที่เพิ่มขึ้น และเราก็จะกลับไปสู่วังวนเดิมคือ ค่าไฟก็จะต้องแขวนกับราคาก๊าซ LNG นำเข้า ซึ่งแน่นอนว่าเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ล่าสุด กกพ. เองก็กำลังเตรียมอนุมัติให้มีการนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มอีก 1.5 ลำเรือ หรือคิดเป็นปริมาณก๊าซ 90,000 ตัน เพื่อรองรับการใช้ไฟในช่วงฤดูร้อนนี้แล้ว”