ครม.อนุมัติหลักการต่ออายุมาตรการตรึงราคา ‘ดีเซล’ ไม่เกิน 33 บาท/ลิตร อุ้มราคาก๊าซหุงต้มถังละ 423 บาท พร้อมลดราคาค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค.67 อีก 19.05 สต./หน่วย ใช้งบอุดหนุน 8.3 พันล้าน
..................................
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ตามอำนาจและหน้าที่ โดยให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
สำหรับรายละเอียดของมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานฯ ได้แก่ 1.ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.-31 ก.ค.2567 2.ตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2567 และ 3.ลดค่าไฟฟ้า 19.05 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน พ.ค.-ส.ค.2567
นางรัดเกล้า ระบุว่า การดำเนินการทั้ง 3 มาตรการฯ จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 8,300 ล้านบาท ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซล 6,000 ล้านบาท ,มาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ก๊าซหุงต้ม 500 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า 1,800 ล้านบาท โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการว่า ขอให้พิจารณาใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก่อน ส่วนที่เหลือจึงจะมาขอรับจัดสรรจากงบประมาณปี 2567 รายการงบกลางฯ
“ตัวมาตรการที่ได้รับการอนุมัติในวันนี้ เป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการเดิมที่สิ้นสุดเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ” นางรัดเกล้า กล่าว
ด้านนายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน ซึ่งประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร 2.ตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มที่ 423 บาท ต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม และ 3.การลดราคาค่าไฟฟ้า 19.05 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านเรือนไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน
นายเศรษฐา ระบุว่า ในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตรนั้น ให้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก่อน แต่หากไม่พอ ก็ต้องจัดสรรงบกลางฯไปช่วยเหลือต่อไป
นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงกรณีที่หอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น ออกแถลงการณ์คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน พร้อมกันทั่วประเทศในช่วงเดือน ต.ค.2567 ว่า ในเรื่องค่าแรงฯนั้น มองว่าความเป็นอยู่ รากฐานของพี่น้องประชาชน และฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นเพียง 10% เท่านั้น
“เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาท และวันนี้ขึ้นมาที่ 340-350 บาท เท่ากับว่าในระยะเวลา 10 ปี ขึ้นมา 10% แต่ค่าครองชีพขึ้นมาเท่าไหร่แล้ว ซึ่งต้องขอชื่นชม รมว.แรงงานที่มุ่งมั่นและผลักดันในเรื่องนี้” นายเศรษฐา กล่าว