‘ธปท.’ เปิดรับฟังความเห็น ‘ร่างประกาศคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ฯ’ ขยายขอบเขตหลักเกณฑ์ครอบคลุม ‘หนี้บัตรเครดิต’ หวังลดหนี้เสีย-สร้างความเป็นธรรมให้ลูกหนี้ทุกกลุ่ม
............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างประกาศ เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การปรับปรุงประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สกส2. 9/2563 เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ลงวันที่ 9 ต.ค.2563 โดยขยายขอบเขตหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตด้วย
ทั้งนี้ ร่างประกาศ เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 5.1 ของประกาศฯฉบับลงวันที่ 9 ต.ค.2563 โดยยกเลิกคำว่า “สินเชื่อหมุนเวียน” และเปลี่ยนไปใช้คำว่า “สินเชื่อที่ไม่ได้กำหนดให้ผ่อนชำระเป็นงวด” แทน
ในขณะที่คำจำกัดความของคำว่า “สินเชื่อที่ไม่ได้กำหนดให้ผ่อนชำระเป็นงวด” หมายความว่า “สินเชื่อหรือธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่ไม่ได้กำหนดให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นงวด โดยลูกหนี้สามารถจ่ายชำระหนี้คืนเต็มจำนวนหรือบางส่วนก็ได้ เช่น สินเชื่อเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี (overdraft) บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด เป็นต้น”
รายงานข่าวแจ้งว่า ภายใต้ประกาศ ธปท. ที่ สกส2. 9/2563 เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ลงวันที่ 9 ต.ค.2563 กำหนดแนวปฏิบัติที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริง โดยไม่รวมส่วนของเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึง 2.การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระ โดยใช้อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี และ 3.กำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ โดยให้นำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของยอดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน
รายงานข่าวแจ้งด้วย ธปท.ให้เหตุผลการปรับปรุงประกาศฯ ว่า เดิม ธปท. ได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สกส2. 9/2563 เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ลงวันที่ 9 ต.ค.2563 กำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงิน (ผู้ให้บริการ) คิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยปกติสูงสุดที่เรียกเก็บจริงตามที่ระบุในสัญญาได้ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี คำนวณบนฐานเงินต้นที่ค้างชำระ
โดยมีเจตนารมณ์ให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดของลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้สามารถกลับมาจ่ายชำระหนี้ได้ ไม่เร่งการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ และไม่เสียวินัยทางการเงิน รวมถึงกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ให้ตัดคำาธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้น ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสจ่ายชำระปิดหนี้ได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับใช้หลักเกณฑ์ครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อภายใต้การกำกับดูแล ของ ธปท. และลูกหนี้ทุกกลุ่ม รวมทั้งรายละเอียดหลักเกณฑ์มีความเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะการดำเนินธุรกิจและประเภทสินชื่อ ธปท. จึงได้ปรับปรุงประกาศโดยนำร่างหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ที่ได้มีการปรับแก้ไขใหม่ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อเดือน พ.ย.2565 และปี 2566 ที่ผ่านมา
โดยมีประเด็นหลัก 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ขยายขอบเขตประกาศให้ครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มีใช่สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจระบบหรือเครือข่าย อิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล 2.ขยายขอบเขตให้การคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ครอบคลุมลูกหนี้ทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ โดยยกเว้นลูกหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินหรือที่ทำธุรกิจคล้ายสถาบันการเงิน และธุรกรรมซื้อคืน (Repo) ในตลาดเงิน
3.กำหนดแนวทางการตัดชำระหนี้สำหรับสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเงินต้นงวดเดียว (Bullet loan) ให้สะท้อนต้นทุนการให้สินเชื่อของธุรกรรมดังกล่าว 4.ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ เช่น สัญญาที่มีกฎหมายบังคับใช้เป็นกฎหมายต่างประเทศให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายนั้น
อย่างไรก็ดี การบังคับใช้หลักเกณฑ์ยังไม่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตซึ่งเป็นธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ ธปท. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตเพิ่มเติม
ธปท. ยังระบุว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯดังกล่าว จะทำให้ลูกหนี้บัตรเครดิตที่มีความตั้งใจจ่ายหนี้ แต่ประสบปัญหาชั่วคราว กลายมาจ่ายชำระหนี้ได้ ไม่กลายเป็นหนี้เสีย (NPL) ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคต และแนวปฏิบัติในการคิดดอกเบี้ยผิดนัดและการตัดชำระหนี้อยู่บนหลักการเดียวกัน เป็นธรรมกับลูกหนี้ทุกกลุ่ม ส่วนผลกระทบเชิงลบนั้น ผู้ให้บริการทางการเงินอาจปรับปรุงเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อหรือเงื่อนไขสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นให้สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้กรณีผิดนัดชำระหนี้
ขณะที่ผลกระทบต่อผู้ให้บริการทางการเงินตามขอบเขตของประกาศฯ นั้น ผู้ให้บริการทางการเงินอาจมีต้นทุนเพิ่มเติมในการดำเนินการให้สามารถปฏิบัติให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนผลกระทบในเชิงบวกนั้น จะทำให้การกำกับดูแลเท่าเทียมกันสำหรับผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์เดียวกัน รวมทั้งมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ
อ่านเพิ่มเติม : การรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดและการตัดชำระหนี้
อ่านประกอบ :
เปิดร่างประกาศฯ‘คิดดอกเบี้ยผิดนัดฯ-ตัดชำระหนี้’ฉบับใหม่-'ธปท.'ขยายคลุม‘ลูกหนี้ทุกกลุ่ม’
‘เศรษฐา’เซ็นคำสั่งตั้ง‘บอร์ดแก้หนี้ประชาชนฯ’-‘กิตติรัตน์’นั่งประธาน
‘บอร์ดแก้หนี้ฯ’ดัน 25 มาตรการเพิ่มเติมสางหนี้รายย่อย 7 ประเด็น-ครม.สั่งทบทวนให้เหมาะสม
'ธปท.'เล็งบังคับเกณฑ์คุม'หนี้ต่อรายได้'ไม่เกิน 60-70% เริ่ม ม.ค.68-ลุยแก้'หนี้เรื้อรัง'
ผ่อนไม่ไหวรีบคืนรถ!‘สภาผู้บริโภค’แนะลูกหนี้ค้างค่างวดฯ ‘ไฟแนนซ์’ยึดเจอฟัน‘ส่วนต่าง’
‘ครูโคราช’นับร้อย เงินเดือน‘ติดลบ’หลังชำระหนี้-เผย 2 วิธี‘สหกรณ์ฯ’บังคับหัก‘เงินหลังซอง’
เปิด 8 แพ็กเกจ'แก้หนี้สินประชาชนรายย่อย'-'ครม.'สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ