ครม.รับทราบข้อเสนอ ‘คณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินฯ’ ชง 25 มาตรการเพิ่มเติม แก้ไขปัญหาหนี้สิน ‘รายย่อย’ 7 ประเด็นหลัก สั่งรับความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไป ‘ทบทวน’ ให้เหมาะสม ก่อนดำเนินการ
..............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมทั้งมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ นำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปทบทวนแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนี้สินในระยะต่อไปให้เหมาะสม
“ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2566 ว่า 1.รับทราบสรุปผลการดำเนินการของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยตามที่คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยเสนอ 2.ให้คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
และธนาคารแห่งประเทศไทย ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และธนาคารแห่งประเทศไทย) อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทบทวนแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินในระยะต่อไปให้มีความหมาะสมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น ก่อนมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปขับเคลื่อนการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่และอำนาจของแต่ละหน่วยงานให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป” มติ ครม.ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินในระยะต่อไป ที่คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ เสนอให้ ครม.รับทราบ ประกอบด้วย 7 เรื่อง ได้แก่
1.การช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
แม้ว่า พ.ร.บ.เงินกองทุนให้ กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 จะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2566 จะช่วยให้ลูกหนี้ กยศ. และผู้ค้ำประกันจำนวนมากสามารถเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยหนี้สินได้ แต่กฎหมายดังกล่าวอาจสร้างแรงจูงใจ ให้กลุ่มลูกหนี้บางกลุ่มที่อยู่บนเงื่อนไขของสัญญาตามกฎหมายเดิมก่อนปรับแก้ผิดนัดชำระหนี้ได้ ดังนั้น เพื่อให้ ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย กยศ. ดำเนินการ ดังนี้
1.1 จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม เช่น ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา ลูกหนี้ผิดนัดชำระที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว และผู้ค้ำประกัน โดยมีกรอบระยะเวลากิจกรรม และการกำกับที่ชัดเจน
1.2 สื่อสาร สร้างความรู้และความเข้าใจในประเด็นสำคัญจากการปรับแก้ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งช่องทางการขอความช่วยเหลือของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม
1.3 กำหนดมาตรการจูงใจ (Incentives) สำหรับลูกหนี้ กยศ. ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี เพื่อให้ยังคงชำระหนี้ตามกำหนดเวลา
2.การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้
แม้ว่าปัจจุบันหน่วยงานของรัฐจะได้จัดหาช่องทาง ช่วยเหลือประชาชนในการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้สินที่หลากหลาย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญใน การช่วยป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสีย และลดภาระต้นทุนที่จะเกิดต่อกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ประชาชน สามารถเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ในวงกว้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการ ดังนี้
2.1 กระทรวงยุติธรรม เร่งสื่อสารช่องทางการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ โดยอาศัยกลไกภายใต้ กระทรวงยุติธรรม เช่น สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยกรมบังคับคดี เพื่อลดข้อพิพาทที่จะเข้าสู่กระบวนการศาล อันจะนำไปสู่ต้นทุนและภาระในกระบวนการยุติธรรม
2.2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ใช้กลไกในระดับพื้นที่เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับ การปรับโครงสร้างหนี้ วิธีการ และประโยชน์ รวมทั้งช่องทางที่ประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือได้ เช่น ทางด่วนแก้หนี้ โครงการคลินิกหมอหนี้เพื่อประชาชน
2.3 มท.ควรส่งเสริมการใช้กลไกในระดับพื้นที่ อาทิ ศูนย์ดำรงธรรมและอำเภอเป็นจุดให้ คำแนะนำและประสานส่งต่อลูกหนี้ที่ประสบปัญหาหนี้สินให้เข้าถึงกลไกการปรับโครงสร้างหนี้และไกล่เกลี่ย หนี้สินที่มีอยู่ในปัจจุบันของ ธปท. และกระทรวงยุติธรรม
3.การปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลสถาบันการเงิน
ธปท.ได้ออกหลักเกณฑ์ในการกำกับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้ปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นจำเป็นต้องดำเนินการต่อ เช่น การกำกับดูแลสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์ช่วยสนับสนุนการเข้าถึง บริการทางการเงินของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบ และการกำหนดแนวทาง การพักชำระหนี้ โดยประเด็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่
3.1 กรมส่งเสริมสหกรณ์ กำหนดแนวทางเพื่อการกำกับดูแลสหกรณ์ให้มีความโปร่งใสและมีความรับผิดชอบ โดยดำเนินการดังนี้
(1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) การขยายผลการนำแนวทางสหกรณ์ต้นแบบของ ศธ. ไปใช้สำหรับสหกรณ์อื่น ๆ (2) การกำหนดอัตราจัดสรรเงินปันผลของสหกรณ์ให้เหมาะสมกับบริบท และ (3) การนำข้อมูลสมาชิกสหกรณ์เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau : NCB)
(2) กำหนดแนวทางและมาตรการในการกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนียน ผ่านกลไกการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษากำกับการดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียนตาม มาตรา 89/4 ของ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือรองปลัดกระทรวงฯ ที่ได้รับมอบหมายผู้แทนกระทรวงการคลัง
ผู้แทนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้แทนสำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้มีการกำหนดแนวทางและมาตรการ ในการกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนียนที่สอดคล้องกับบริบทด้านเศรษฐกิจและสังคม
3.2 ธปท. พิจารณาปรับปรุงแนวทางการคำนวณดอกเบี้ยช่วงพักชำระหนี้ที่เป็นธรรมและไม่ สร้างภาระให้แก่ประชาชนผู้ประสบปัญหาเกินสมควร
4.การเช่าซื้อรถยนต์
ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 ได้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2566 ส่งผลให้สัญญาเช่าซื้อรถยนต์มีการกำกับดูแลมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงมีประเด็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้อง พิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ทุกประเภท ดังนี้
4.1 กระทรวงการคลัง ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เร่งวางแนวทางการปรับกระบวนการทำงานเพื่อรองรับร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภท อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2511 พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้
4.2 สคบ. กระทรวงการคลัง และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับ ผู้เช่าซื้อรถยนต์ที่ใช้รถยนต์เพื่อการประกอบธุรกิจ
4.3 ธปท. สศค. และกระทรวงยุติธรรม ศึกษาความเป็นไปได้ และแนวทางในการออกแบบวิธีการผ่อนรถยนต์ ที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าสินเชื่อเช่าซื้อ เพื่อให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์
4.4 สำนักงาน ก.พ.ร. ธปท. สศค. กระทรวงคมนาคม และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งขับเคลื่อนการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 และพิจารณาทรัพย์สินประเภทอื่นๆ สำหรับเป็นหลักประกันทางธุรกิจในระยะต่อไป
5.การแก้ไขหนี้สินข้าราชการ
ที่ผ่านคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ ได้เร่งขับเคลื่อนการ แก้ไขหนี้สินของข้าราชการใน 2 กลุ่ม ได้แก่ ข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ โดยใช้กลไกสหกรณ์ออมทรัพย์ และการปรับโครงสร้างหนี้ ควบคู่กับการให้ความรู้ทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวยังจำเป็นต้องดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ข้าราชการ และสร้างระบบที่สินเชื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ข้าราชการ รวมทั้งขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ครอบคลุมข้าราชการกลุ่มอื่น ๆ ด้วย ดังนี้
5.1 ธปท. และกรมส่งเสริมสหกรณ์ควรปรับปรุงเกณฑ์การให้สินเชื่อที่เคารพสิทธิและกำหนดข้าราชการการซึ่งเป็นลูกหนี้ต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ทั้งนี้ รายได้สุทธิดังกล่าวควรคำนวณจากรายได้ภายหลังจากการนำค่างวดที่เก็บจากเจ้าหนี้ทุกรายมาคำนวณ
5.2 ธปท. กค. และกรมส่งเสริมสหกรณ์ พิจารณากำหนดแนวทางปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้สำหรับสินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือนให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น
5.3 กค. กำกับดูแลธนาคารกรุงไทยให้ปรับปรุงแนวทางในการจัดเก็บหนี้สินโดยควรถูกนำมา คำนวณกับเจ้าหนี้รายอื่นๆ ในยอดร้อยละ 70 ของรายได้สุทธิ
5.4 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ทบทวนหลักเกณฑ์เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถกู้ยืมเงินข้ามจังหวัดเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ในการหาสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมที่สุด รวมทั้งลดเงื่อนไขที่ไม่จำเป็นในการเข้าถึงสินเชื่อ เช่น การซื้อประกัน อีกทั้งเปิดโอกาสให้สามารถนำหุ้นบางส่วนออกขายเพื่อลดยอดหนี้ให้อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้
ทั้งนี้ ในภาพรวมกรมส่งเสริมสหกรณ์ควรนำแนวปฏิบัติ เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมของธนาคารแห่งประเทศไทย มาประยุกต์ใช้ในการออกกฎเกณฑ์เพื่อกำกับธุรกิจการปล่อยสินเชื่อสหกรณ์ให้มีความรับผิดชอบ
5.5 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้สหกรณ์และสถาบันการเงินเกี่ยวกับการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible and Fair Lending) สอดคล้องกับสินเชื่อที่เหมาะสมกับศักยภาพเงินเดือนของข้าราชการ
5.6 ศธ. เร่งนำแนวทางการใช้กลไกสหกรณ์ต้นแบบเพื่อขยายผลให้ครอบคลุมสหกรณ์อื่นๆ ทั่วทั้งประเทศและจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูที่ถูกฟ้องดำเนินคดี อีกทั้งควรกำชับให้เกิดการดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนและบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 เพื่อให้ข้าราชการครูมีรายได้ คงเหลือสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
5.7 สำนักงาน ก.พ. กำหนดทักษะทางการเงินให้เป็นทักษะพื้นฐานที่ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องได้รับการพัฒนา เพื่อให้สามารถบริหารจัดการการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม ทั้งนี้ เนื่องจาก ศธ. มีตัวแบบในการแก้ไขหนี้สินที่เป็นระบบและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานอื่นๆต่อไปได้
ดังนั้น ส่วนราชการในกำกับของฝ่ายบริหารและหน่วยงานของรัฐประเภทอื่นๆ ควรนำแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของ ศธ. ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของบุคลากรของตนและ หน่วยงานในสังกัดต่อไป
6.การช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม
คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ ได้ส่งเสริมแหล่งทุนดอกเบี้ยที่เป็นธรรมสำหรับประชาชน เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย มีสภาพคล่องในการดำเนินชีวิตและสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดรูปแบบการให้สินเชื่อที่ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ และมีมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
6.1 ธปท. และ สศค. พิจารณารูปแบบการจัดทำข้อมูลเครดิต (Credit Scoring) หรือข้อมูลทางเลือกอื่นๆ ที่สะท้อนพฤติกรรมการทางการเงิน เช่น ใบเสร็จแสดงการชำระค่าสาธารณูปโภค สำหรับประกอบการให้สินเชื่อ
6.2 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ควรจัดทำแผนให้มีแหล่งทุนเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้เสีย (Non-performing Loan : NPL) ที่ยังมีศักยภาพ ที่จะดำเนินธุรกิจได้
7.การแก้ไขข้อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเป็น การสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และลดภาระและต้นทุนในการดำเนินคดีที่จะเกิดขึ้นต่อกระบวนการยุติธรรม โดยมีกฎหมายหลายฉบับที่อยู่ระหว่างการแก้ไข อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้
7.1 สำนักงานศาลยุติธรรม เร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้สินโดยเร็ว
7.2 กระทรวงยุติธรรม และ สคบ. วางแนวทางการบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ในกรณีเรื่องความรับผิดชอบของผู้รับประกัน
7.3 สำนักงานศาลยุติธรรม และกรมบังคับคดี พิจารณาการกำหนดค่าธรรมเนียมการฟ้องคดีในชั้นศาล และชั้นบังคับคดี ที่จะจูงใจให้เกิดการไกล่เกลี่ยแทนการดำเนินคดี
7.4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข ควรเร่งปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการทำงานภายใน เพื่อรองรับเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ทันที
@‘ก.ศึกษาฯ’แจงออกแนวปฏิบัติให้หักหนี้ครูได้ไม่เกิน 70% ไปแล้ว
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า การประชุม ครม. ในวาระดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. โดยชี้แจงกรณีที่คณะกรรมการกำกับฯ มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ เร่งกำกับให้สำนักงานเขตการศึกษา ซึ่งยังไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนและบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าว เพื่อให้ข้าราชการครูมีรายได้คงเหลือสุทธิเพียงพอต่อการดำรงชีพ ว่า
กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงิน บำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 (วันที่ 10 ก.พ.2565) ไปแล้ว และได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการ กำกับ ติดตาม ให้สถานีแก้หนี้ในสังกัดปฏิบัติตามแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551
ขณะที่ ธปท. ได้เสนอความเห็นว่า ขอให้ตัดประเด็นที่คณะกรรมการกำกับฯ ให้ ธปท. สศค. และกระทรวงยุติธรรม ศึกษาความเป็นไปได้ถึงแนวทางในการออกแบบวิธีการผ่อนรถยนต์ที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าสินเชื่อเช่าซื้อ เพื่อให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ออกไป เนื่องจาก ธปท.เคยชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ ไปแล้วว่า การผ่อนรถยนต์จะมีดอกเบี้ยที่ถูกกว่าการทำสัญญาเช่าซื้อได้ หากนำรถมาจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ แต่การจดทะเบียนดังกล่าวยังมีข้อจำกัดอยู่ และคณะกรรมการฯไม่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ธปท. ดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว
นอกจากนี้ ธปท.ขอให้แก้ไขโดยนำ ธปท. ออกจากหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ให้ดำเนินการในการปรับปรุงเกณฑ์การให้สินเชื่อที่เคารพสิทธิและกำหนดให้ข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และการกำหนดแนวทางการปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้สำหรับสินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือนที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการกำกับฯ ไม่ได้มีมติมอบหมายให้ ธปท.ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
โดยมีมติที่เกี่ยวข้องมีเพียงการมอบหมายให้ ธปท. กระทรวงการคลัง และกรมส่งเสริมสหกรณ์ หารือร่วมกันถึงการปรับยุทธศาสตร์และทำความเข้าถึงวัตถุประสงค์การจัดตั้งกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การขยายผลการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูไปสู่หน่วยงานอื่นดำเนินการต่อได้
ส่วนกรณีที่มอบหมายให้ ธปท. และสศค. พิจารณารูปแบบการจัดทำข้อมูลเครดิต หรือข้อมูลทางเลือกอื่นๆที่สะท้อนพฤติกรรมทางการเงิน นั้น ธปท. ไม่ขัดข้อง โดย ธปท. อยู่ระหว่างพัฒนาฐานข้อมูลเครดิตให้มีความครอบคลุมและหลากหลาย เพื่อประโยชน์ต่อการติดตามและพิจารณาให้สินเชื่อที่เหมาะสม ทั้งการผลักดันให้เจ้าหน้าเข้าเป็นสมาชิก NCB การเพิ่มข้อมูลทางเลือกค่างๆ เช่น ค่าโทรศัพท์ และการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนหรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกัน
อ่านประกอบ :
'ธปท.'เล็งบังคับเกณฑ์คุม'หนี้ต่อรายได้'ไม่เกิน 60-70% เริ่ม ม.ค.68-ลุยแก้'หนี้เรื้อรัง'
ผ่อนไม่ไหวรีบคืนรถ!‘สภาผู้บริโภค’แนะลูกหนี้ค้างค่างวดฯ ‘ไฟแนนซ์’ยึดเจอฟัน‘ส่วนต่าง’
‘ครูโคราช’นับร้อย เงินเดือน‘ติดลบ’หลังชำระหนี้-เผย 2 วิธี‘สหกรณ์ฯ’บังคับหัก‘เงินหลังซอง’
เปิด 8 แพ็กเกจ'แก้หนี้สินประชาชนรายย่อย'-'ครม.'สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ