‘สภาผู้บริโภค’ แนะ ‘ลูกหนี้’ หากผ่อนค่างวดรถยนต์ ‘ไม่ไหว’ ให้รีบนำรถไปคืน ระบุหากปล่อย ‘ไฟแนนซ์’ ยึด ต้องจ่าย ‘ค่าส่วนต่าง’ แถมจ่าย 'ค่าธรรมเนียม' เพิ่ม หากมั่นใจยังผ่อนไหวให้ปรับ 'โครงสร้างหนี้'
..........................................
จากกรณีที่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ ‘เครดิตบูโร’ ออกมาระบุว่า สถานการณ์หนี้เสียของสินเชื่อรถยนต์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 พบว่ามีบัญชีสินเชื่อรถยนต์ที่เป็นลูกหนี้ค้างจ่ายค่างวด 1-3 งวด ประมาณ 450,000 บัญชี และเป็นบัญชีที่เป็นหนี้เสียแล้วอีกประมาณ 550,000 บัญชี จึงมีความเสี่ยงว่าในช่วงเดือนต.ค.2566 อาจมีลูกหนี้ที่ถูกยึดรถยนต์รวม 1 ล้านคัน นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นายโชติวิทย์ เกิดสนองพงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ สภาผู้บริโภค กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขกรณีลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์ที่มีปัญหาหนี้เสียว่า สิ่งที่ผู้บริโภคต้องทำอันดับแรก คือ การประเมินความสามารถในการจ่ายหนี้ของตัวเองว่าเป็นอย่างไร ก่อนที่จะกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาการค้างชำระค่างวด ซึ่งสภาผู้บริโภคมีข้อแนะนำต่อผู้บริโภค แบ่งได้เป็น 2 กรณี ได้แก่
กรณีที่ 1 ผู้บริโภคที่ค้างค่างวด 1-3 งวด แต่มีความมั่นใจว่า ในอนาคตตนเองสามารถผ่อนค่างวดรถยนต์ต่อไปได้แน่นอน โดยไม่ต้องค้างชำระค่างวด สภาผู้บริโภคขอแนะนำให้ผู้บริโภคแจ้งความต้องการ “ปรับโครงสร้างหนี้” หรือ “รีไฟแนนซ์” กับสถาบันการเงินต่างๆ โดยข้อดีของการปรับโครงสร้างหนี้ คือ จะช่วยยืดระยะเวลาการผ่อนชำระให้นานขึ้น ซึ่งจะทำให้จำนวนเงินค่างวดที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนลดลง
อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวมีข้อเสีย คือ ผู้บริโภคอาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากระยะเวลาการผ่อนที่นานขึ้น และหากผิดนัดชำระหนี้ ก็อาจถูกยึดรถและต้องเสียค่าปรับเพิ่มมากขึ้น
กรณีที่ 2 ผู้บริโภคที่ประเมินแล้วว่า ตนเองไม่สามารถผ่อนค่างวดรถยนต์ต่อไปได้ สภาผู้บริโภคขอแนะนำให้ผู้บริโภคนำรถยนต์ไปคืนไฟแนนซ์ และตอนส่งมอบรถคืนให้ถ่ายรูปรถยนต์และประเมินสภาพรถไว้ รวมทั้งต้องมีหลักฐานการคืนเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย ซึ่งข้อดีของการนำรถยนต์ไปคืน คือ ผู้บริโภคเอารถยนต์ไปคืนโดยไม่ผิดสัญญา และไม่ได้ค้างชำระหนี้เกิน 3 งวดติดต่อกัน ทางไฟแนนซ์จะเรียก ‘ค่าส่วนต่าง’ ไม่ได้
สำหรับผู้บริโภคที่กำลัง ‘เลี้ยงงวด' หรือใช้วิธีค้างชำระหนี้ 1-3 งวด อยู่เป็นระยะนั้น ขอแนะนำให้รีบแก้ไขปัญหาตามคำแนะนำข้างต้น เพราะหากมีการค้างชำระหนี้ 1 ครั้ง ไฟแนนซ์จะคิดค่าทวงถามหนี้และค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งแปลว่า เมื่อผู้บริโภคผ่อนชำระค่ารถยนต์หมดแล้ว ไฟแนนซ์จะเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้และค่าธรรมเนียมต่างๆ จากผู้บริโภค ก่อนที่จะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้ ทำให้ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่มากกว่าดอกเบี้ยจากการรีไฟแนนซ์
นอกจากนี้ หากเกิดกรณีการค้างชำระหนี้ 3 งวดติดต่อกัน ไฟแนนซ์จะถือว่าผู้บริโภคผิดสัญญา และไฟแนนซ์สามารถบอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์ได้ รวมทั้งสามารถเรียกค่าส่วนต่าง ค่าธรรมเนียม และค่าทวงถามหนี้ได้อีกด้วย
ขณะเดียวกัน สภาผู้บริโภค ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคำนวณ ‘เงินค่าส่วนต่าง’ จากการ ‘ขายทอดตลาด’ โดยระบุว่า หากรถของผู้บริโภคโดนยึดและมีการขายทอดตลาด ไฟแนนซ์จะคิดเงิน ‘ค่าส่วนต่าง’ จากการขายทอดตลาด โดยนำราคารถยนต์บวกดอกเบี้ย ไปลบกับจำนวนเงินที่ผู้บริโภคผ่อนชำระไปแล้ว และลบด้วยจำนวนเงินที่ไฟแนนซ์ได้รับจากการนำรถไปขายทอดตลาด หากเหลือเท่าไหร่ ไฟแนนซ์จะไปคิดค่าส่วนต่างจากผู้บริโภค
ยกตัวอย่าง เช่น จำนวนเงินทั้งหมดที่ผู้บริโภคต้องจ่ายให้ไฟแนนซ์ (ราคารถยนต์+ดอกเบี้ย) คือ 700,000 บาท ผ่อนชำระ 60 งวด งวดละ 11,667 บาท หากผู้บริโภคผ่อนไปแล้ว 10 งวด คิดเป็นเงิน 116,670 บาท ยังเหลือจำนวนเงินที่ต้องผ่อนอีก 583,330 บาท เมื่อไฟแนนซ์ยึดรถไปแล้วนำไปขายทอดตลาดได้ในราคา 350,000 บาท แปลว่า จะมีค่าส่วนต่างที่ผู้บริโภคต้องเป็นคนจ่ายอีก 233,330 บาท และอาจมีค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งผู้บริโภคต้องเป็นผู้รับผิดชอบอีกด้วย