"...ให้ผู้ให้บริการคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยปกติสูงสุดที่เรียกเก็บจริงตามที่ระบุในสัญญา ซึ่งสามารถสะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ที่แท้จริงได้ ‘ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี’ โดยคำนึงจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม เช่น อัตราดอกเบี้ยปกติตามสัญญา ประวัติการจ่ายชำระหนี้ เป็นต้น..."
.......................................
เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างประกาศ ธปท. เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขประกาศ ธปท. ที่ สกส2. 9/2563 เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ลงวันที่ 9 ต.ค.2563
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดของ 'ร่างประกาศ ธปท. เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้' ดังนี้
@ปรับปรุงประกาศฯให้ครอบคลุม‘ลูกหนี้ทุกกลุ่ม-8 ประเภทธุรกิจ’
สภาพปัญหา สาเหตุ และความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงประกาศ
ธปท. ได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สกส2. 9/2563 เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ลงวันที่ 9 ต.ค.2563 กำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงิน (ผู้ให้บริการ) คิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยปกติ สูงสุดที่เรียกเก็บจริงตามที่ระบุในสัญญาได้ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี คำนวณบน ‘ฐานเงินต้นที่ค้างชำระ’ โดยให้ใช้กับ ‘ลูกหนี้รายย่อย’ และ ‘ลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม’
มีเจตนารมณ์ให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัด พึงอยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้จะสามารถกลับมาจ่ายชำระหนี้ได้ ไม่เร่งการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ และไม่เสียวินัยทางการเงิน รวมถึงกำหนดให้ ‘ผู้ให้บริการ’ ตัดชำระหนี้เรียงลำดับค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้น ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน สำหรับลูกหนี้ทุกกลุ่ม เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถลดภาระหนี้เงินต้น เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสจ่ายชำระปิดหนี้ได้
ทั้งนี้ เมื่อเดือน พ.ย.2565 ธปท. ได้นำร่างหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ที่ได้มีการปรับแก้ไขเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการขยายขอบเขตการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้ครอบคลุม ‘ลูกหนี้ทุกกลุ่ม’ ยกเว้น ‘ลูกหนี้’ ที่เป็นสถาบันการเงินหรือที่ทำธุรกิจคล้ายสถาบันการเงิน และการขยายขอบเขตประกาศ ให้ครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน
รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ เช่น สัญญาที่มีกฎหมายบังคับใช้เป็นกฎหมายต่างประเทศ ให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อลูกหนี้ทุกกลุ่ม โดยมีพื้นฐานบนหลักการเดียวกัน และการบังคับใช้หลักเกณฑ์เป็นมาตรฐานสอดคล้องกับเจตนารมณ์ ธปท.
อย่างไรก็ดี ธปท. ได้รับประเด็นความเห็นเกี่ยวกับขอบเขตการบังคับใช้หลักเกณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการ ดำเนินธุรกิจและสินเชื่อแต่ละประเภท จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมให้มีความครอบคลุมและเหมาะสมยิ่งขึ้น
ร่างประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สกช. …/2566 เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้
เหตุผลในการออกประกาศ
ธปท.ให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลการให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม (market conduct) อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการต่อระบบการเงินไทยและสนับสนุนให้ผู้ให้บริการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งช่วยรักษาความสมดุลระหว่างการรักษาวินัยทางการเงิน ความเป็นธรรม และไม่เพิ่มภาระจนเกินสมควรแก่ผู้ใช้บริการ
ในปี 2563 จึงได้ออกประกาศให้ผู้ให้บริการถือปฏิบัติในการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และลำดับการตัดชำระหนี้ เพื่อให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ไม่สร้างภาระเกินสมควร จนทำให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาทางการเงินไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ได้แต่ยังสะท้อนต้นทุน และไม่ทำให้ลูกหนี้เสียวินัยทางการเงิน
สอดคล้องกับกรอบหลักการที่ผู้ให้บริการต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติ และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับดอกเบี้ย ค่าบริการ และเบี้ยปรับสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน รวมถึงให้การตัดชำระหนี้สามารถลดภาระหนี้เงินต้น ให้ลูกหนี้มีโอกาสจ่ายชำระปิดหนี้ได้
เพื่อให้การบังคับใช้หลักเกณฑ์ครอบคลุมผู้ให้บริการที่ประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยและลูกหนี้ทุกกลุ่ม รวมทั้งรายละเอียดหลักเกณฑ์มีความเหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินธุรกิจและประเภทสินเชื่อ
อีกทั้งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible lending) ที่จะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงปรับปรุงประกาศ สรุปได้ดังนี้
(1) ‘ขยายขอบเขต’ ประกาศ ให้ครอบคลุมผู้ให้บริการที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (peer to peer lending platform) รวมทั้งให้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ครอบคลุม ‘ลูกหนี้ทุกกลุ่ม’ ยกเว้นลูกหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินหรือทำธุรกิจคล้ายสถาบันการเงิน และธุรกรรมซื้อคืน (Repo) ที่อยู่ในตลาดเงิน (Money market)
(2) กำหนดแนวทาง ‘การตัดชำระหนี้’ สำหรับ ‘สินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเงินต้นงวดเดียว (Bullet loan)’ ให้สะท้อนต้นทุนเทียบเท่ากับการยืดอายุสินเชื่อออกไป รวมทั้งปรับหลักเกณฑ์อื่น เช่น สัญญาที่มีกฎหมายบังคับใช้เป็นกฎหมายต่างประเทศให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายนั้น
ขอบเขตการบังคับใช้
ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับผู้ให้บริการดังนี้ (รายละเอียดตามเอกสารแนบ 2)
4.1 สถาบันการเงิน
4.2 บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อหรือธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด (เพิ่มเติมจากประกาศฯปี 2563)
4.3 สถาบันการเงินเฉพาะกิจ
4.4 บริษัทบริหารสินทรัพย์
4.5 ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต (เพิ่มเติมจากประกาศฯปี 2563)
4.6 ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ
4.7 ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ
4.8 ผู้ประกอบธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (เพิ่มเติมจากประกาศฯปี 2563)
@คิดดอกเบี้ยผิดนัดฯจาก‘อัตราดอกเบี้ยปกติสูงสุด’บวกไม่เกิน 3%
5. เนื้อหา
5.2 หลักการ
5.2.1 ผู้ให้บริการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้อย่างเหมาะสม ไม่สร้างภาระมากจนเกินสมควรสำหรับลูกหนี้ที่ประสบปัญหาทางการเงิน ให้พึงอยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้จะสามารถกลับมาจ่ายชำระหนี้ได้ ทำให้ไม่เร่งการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ ในขณะเดียวกันสะท้อนต้นทุนจริง และไม่ทำให้ลูกหนี้เสียวินัยทางการเงิน
5.2.2 ผู้ให้บริการมีการตัดชำระหนี้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถลดภาระหนี้เงินต้น เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสจ่ายชำระปิดหนี้ได้
5.3 หลักเกณฑ์
5.3.1 การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
(1) อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
ให้ใช้กับลูกหนี้ทุกกลุ่ม ยกเว้นลูกหนี้ที่เป็นธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สหกรณ์ออมทรัพย์ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน บริษัทประกันชีวิต กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นที่จดทะเบียนและตั้งอยู่ในต่างประเทศ เช่น ธนาคารกลาง และธนาคารพาณิชย์ทั้งนี้ ให้ยกเว้นการใช้หลักเกณฑ์กับธุรกรรมซื้อคืน (Repo) ในตลาดเงิน (Money market) ด้วย
(1.1) ให้ผู้ให้บริการคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยปกติสูงสุดที่เรียกเก็บจริงตามที่ระบุในสัญญา ซึ่งสามารถสะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ที่แท้จริงได้ ‘ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี’ โดยคำนึงจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม เช่น อัตราดอกเบี้ยปกติตามสัญญา ประวัติการจ่ายชำระหนี้ เป็นต้น
และผู้ให้บริการต้อง ‘เปิดเผย’ อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ทั้งนี้ กรณีสินเชื่อที่อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเป็นอัตราลอยตัว (Floating rate) ให้ใช้อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ผิดนัดชำระหนี้ตามจริงในแต่ละวันในการอ้างอิง
(1.2) สินเชื่อที่มีกฎหมายกำหนดอัตรารวมสูงสุดของดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ไว้เป็นการเฉพาะ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ ให้ถือปฏิบัติตามที่กฎหมายเฉพาะนั้นกำหนดด้วย
(2) ฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
(2.1) สินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเงินต้นหลายงวด ให้ผู้ให้บริการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ‘บนฐานเงินต้นของค่างวดที่ลูกหนี้ค้างชำระในแต่ละงวดไปจนถึงวันที่ศาลรับฟ้อง’ เป็นอย่างน้อย ซึ่งการฟ้องคดีต่อศาลต้องมีระยะเวลาที่ลูกหนี้ค้างชำระหนี้เกินกว่า 90 วัน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ
(2.2) สินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเงินต้นงวดเดียว ให้ผู้ให้บริการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ในส่วนของเงินต้นเท่านั้น โดยคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ‘บนฐานเงินต้นที่ค้างชำระ’ นั้น
(2.3) สินเชื่อที่ไม่ได้กำหนดให้ผ่อนชำระเป็นงวด ให้ผู้ให้บริการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ‘บนฐานเงินต้นที่ค้างชำระทั้งจำนวน’
(3) ระยะเวลาผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
ให้ผู้ให้บริการกำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผัน ไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (grace period) ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด โดยสามารถกำหนดเป็นเกณฑ์ภายในของผู้ให้บริการได้
@กำหนด‘ลำดับตัดหนี้’ให้ตัด‘ค่าธรรมเนียม-ดอกเบี้ย’ก่อน‘เงินต้น’
5.3.2 ลำดับการตัดชำระหนี้
ให้ใช้กับลูกหนี้ทุกกลุ่ม
(1) สินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเงินต้นหลายงวด ให้ผู้ให้บริการนำเงินที่ได้รับชำระหนี้ไปตัดชำระหนี้ตามยอดหนี้แต่ละงวด โดยให้ตัดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของยอดหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระนานที่สุดก่อน แล้วจึงค่อยตัดชำระยอดหนี้ที่ค้างชำระนานรองลงมาตามลำดับ (ตัดชำระหนี้แบบแนวนอน)
(2) สินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเงินต้นงวดเดียว และสินเชื่อที่ไม่ได้กำหนดให้ผ่อนชำระเป็นงวด ให้ผู้ให้บริการนำเงินที่ได้รับชำระหนี้ไปตัดชำระหนี้ โดยให้ตัดค่าธรรมเนียม และดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดก่อนตัดชำระเงินต้นได้
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ข้างต้นเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ ผู้ให้บริการสามารถดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้มากกว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ เช่น ไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราหรือจำนวนต่ำกว่าที่ประกาศฉบับนี้กำหนด และตัดชำระเงินต้นก่อนเป็นลำดับแรก เป็นต้น
5.3.3 ข้อกำหนดอื่น
(1) การแจ้งข้อมูลแก่ลูกหนี้
ผู้ให้บริการต้องแจ้งและแจกแจงรายละเอียดแต่ละรายการที่ลูกหนี้ จะต้องชำระหรือจะมีการเรียกเก็บให้ลูกหนี้ทราบ โดยให้ถือปฏิบัติตามที่กำหนดในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (market conduct)
(2) การขายหรือโอนหนี้ไปยังผู้ให้บริการอื่น
ผู้ให้บริการที่ขายหรือโอนหนี้ ต้องนำส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหนี้ที่ขายหรือโอน เช่น สัญญา ตารางการผ่อนชำระหนี้ รวมถึงประวัติการจ่ายและการค้างชำระหนี้ ให้แก่ผู้ให้บริการที่รับซื้อหรือรับโอนหนี้ด้วย เพื่อให้ผู้ให้บริการที่รับซื้อหรือรับโอนหนี้สามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และลำดับการตัดชำระหนี้ต่อจากผู้ให้บริการเดิมได้อย่างต่อเนื่อง
(3) สินเชื่อภายใต้กฎหมายต่างประเทศ
สัญญาสินเชื่อที่มีกฎหมายบังคับใช้เป็นกฎหมายต่างประเทศ ให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ในการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ทั้งนี้ หากในประเทศนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ผู้ให้บริการสามารถนำหลักเกณฑ์ตามประกาศฉบับนี้ไปปรับใช้ตามความเหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ให้บริการ
อย่างไรก็ดี การทำสัญญาสินเชื่อที่มีกฎหมายบังคับใช้เป็นกฎหมายต่างประเทศ ต้องไม่มีลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในประกาศฉบับนี้
(4) สาขาในต่างประเทศ และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ตั้งอยู่
ในต่างประเทศ ของผู้ให้บริการในข้อ 4
หากในประเทศนั้นมีหลักเกณฑ์กำหนดเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ หรือมีแนวปฏิบัติในการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้เป็นการเฉพาะ ให้สาขาและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินในต่างประเทศของผู้ให้บริการข้างต้นถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ หากในประเทศนั้นไม่มีหลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ผู้ให้บริการสามารถนำหลักเกณฑ์ตามประกาศฉบับนี้ไปปรับใช้ตามความเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า ลักษณะผลิตภัณฑ์หรือบริการ และสภาพแวดล้อมในประเทศนั้น โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ให้บริการ
@กำหนดให้ประกาศฯมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ปีหน้า
6.บทเฉพาะกาล
ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับรวมถึงสัญญาที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ และยังมีผลผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาระหว่างผู้ให้บริการกับลูกหนี้ด้วย ทั้งนี้ สำหรับสินเชื่อที่มีเจ้าหนี้หลายรายให้สินเชื่อร่วมกัน โดยมีเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่งตั้งอยู่ในต่างประเทศและไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น การให้กู้ยืมร่วม (Syndicated Loan) เป็นต้น ให้ใช้บังคับ ดังนี้
6.1 การคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ของสัญญาระหว่างผู้ให้บริการกับลูกหนี้รายย่อยหรือลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้เริ่มใช้บังคับกับสัญญาที่ทำตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564
6.2 การคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ของสัญญาระหว่างผู้ให้บริการกับลูกหนี้ที่ไม่ใช่ลูกหนี้รายย่อยหรือลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้เริ่มใช้บังคับกับสัญญาที่ทำตั้งแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ
6.3 ลำดับการตัดชำระหนี้ของสัญญาระหว่างผู้ให้บริการกับลูกหนี้ทุกกลุ่ม ให้เริ่มใช้บังคับกับสัญญาที่ทำตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 โดยหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าว ให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564
7. วันเริ่มต้นบังคับใช้
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567
@หวังให้‘ลูกหนี้ที่ตั้งใจ’กลับมาจ่ายหนี้ได้-ไม่กลายเป็นหนี้เสีย
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับปรุงหลักเกณฑ์
ผลกระทบต่อผู้ให้บริการทางการเงิน
ผลกระทบในเชิงบวก 1.ลูกหนี้ที่มีความตั้งใจจ่ายชำระหนี้แต่ประสบปัญหาชั่วคราว กลับมาจ่ายชำระหนี้ได้ไม่เร่งการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ 2.การกำกับดูแลเท่าเทียมกันสำหรับผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์เดียวกัน และ 3.หลักเกณฑ์มีความชัดเจนและไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนิน ธุรกิจสะท้อนต้นทุนของการให้บริการผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีการ ผ่อนชำระงวดเดียว (Bullet Loan)
ผลกระทบในเชิงลบ 1.ผู้ให้บริการทางการเงินอาจมีต้นทุนเพิ่มเติมในการ ดำเนินการให้สามารถปฏิบัติได้สอดคล้องตามที่หลักเกณฑ์กำหนด
ผลกระทบต่อลูกหนี้
ผลกระทบในเชิงบวก 1.ลูกหนี้ที่มีความตั้งใจจ่ายชำระหนี้แต่ประสบปัญหาชั่วคราว กลับมาจ่ายชำระหนี้ได้ไม่กลายเป็นหนี้เสียซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคต 2.แนวปฏิบัติในการคิดดอกเบี้ยผิดนัดและการตัดชำระหนี้อยู่ บนหลักการเดียวกัน เป็นธรรมต่อลูกหนี้ทุกกลุ่ม
ผลกระทบในเชิงลบ 1.ผู้ให้บริการทางการเงินอาจปรับเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อหรือ เงื่อนไขสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นให้สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ กรณีผิดนัดชำระหนี้
เหล่านี้เป็นสาระสำคัญของ (ร่าง) ประกาศ ธปท. เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ฉบับใหม่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหา ‘หนี้สินครัวเรือน’ ได้ โดย ธปท. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 11 ธ.ค.2566 นี้ ผ่านหน้าเว็บไซต์ ธปท. และระบบกลางทางกฎหมาย
รายละเอียดเพิ่มเติม : ร่างหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้
อ่านประกอบ :
‘เศรษฐา’เซ็นคำสั่งตั้ง‘บอร์ดแก้หนี้ประชาชนฯ’-‘กิตติรัตน์’นั่งประธาน
‘บอร์ดแก้หนี้ฯ’ดัน 25 มาตรการเพิ่มเติมสางหนี้รายย่อย 7 ประเด็น-ครม.สั่งทบทวนให้เหมาะสม
'ธปท.'เล็งบังคับเกณฑ์คุม'หนี้ต่อรายได้'ไม่เกิน 60-70% เริ่ม ม.ค.68-ลุยแก้'หนี้เรื้อรัง'
ผ่อนไม่ไหวรีบคืนรถ!‘สภาผู้บริโภค’แนะลูกหนี้ค้างค่างวดฯ ‘ไฟแนนซ์’ยึดเจอฟัน‘ส่วนต่าง’
‘ครูโคราช’นับร้อย เงินเดือน‘ติดลบ’หลังชำระหนี้-เผย 2 วิธี‘สหกรณ์ฯ’บังคับหัก‘เงินหลังซอง’
เปิด 8 แพ็กเกจ'แก้หนี้สินประชาชนรายย่อย'-'ครม.'สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ