เผยจังหวัดปทุม แจ้งประสานงานภายในกระทรวงมหาดไทย กรณีสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 'ชาญ พวงเพ็ชร์' ว่าที่ นายก อบจ.ปทุมธานี คนใหม่ ไม่ต้องถึงมือ รมต. พร้อมปฏิบัติตามความเห็นกฤษฎีกา เข้ารับตำแหน่งเมื่อไหร่ ออกคำสั่งทันที
กรณี นายชาญ พวงเพ็ชร์ ว่าที่ นายก อบจ.ปทุมธานี คนใหม่ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อถุงยังชีพเมื่อปี พ.ศ.2554 ปัจจุบัน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำสั่งประทับฟ้องคดีนี้แล้วและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาฯ และอาจส่งผลทำให้ นายชาญ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ ตามความเห็นทางกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฏีกา ที่ตอบข้อหารือ กระทรวงมหาดไทย เรื่องการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารบริหารท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนไปแล้ว
- 'ชาญ' ชนะเลือกตั้งนายกอบจ.ปทุม แต่อาจต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่? เหตุศาลรับฟ้องคดีทุจริต
- เปิดมติ ป.ป.ช.ชี้มูล'ชาญ' คดีซื้อถุงยังชีพ ส่อถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ.ปทุมฯ
- สถ.เคยแจ้งเวียนแล้ว! ศาลฯรับฟ้องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ฝ่าฝืนสั่งสอบให้พ้นตำแหน่งได้
- คลี่ปม! ข้อกม.-กรณีศึกษาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่-ทางรอด 'ชาญ' นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ
- หลังสถ.แจ้งเวียน! จว.ปทุมฯ รู้เรื่องแล้วสั่งกำชับศาลรับฟ้องคดีทุจริตหยุดปฏิบัติหน้าที่
- ครบชุด! มติป.ป.ช.ชี้มูล'ชาญ-พวก 12 คน คดีซื้อถุงยังชีพ สั่งถอดถอนตำแหน่ง-แจ้ง กกต.ด้วย
- ไขปม 'ชาญ' โดนแจ้งถอดถอนตำแหน่งคดีซื้อถุงยังชีพ ไฉนลงเลือกตั้งนายกฯ อบจ.ปทุมฯ ได้
ล่าสุด แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ขณะนี้ได้รับการประสานงานเป็นการภายใน จากทางจังหวัดปทุมธานี ต่อกรณี นายชาญ พวงเพ็ชร์ แล้วว่า ทางจังหวัดปทุมธานี จะดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฏีกา ในการออกคำสั่งให้ นายชาญ หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งนายก อบจ.ปทุมธานีเป็นทางการ
"ผู้ว่าฯ ปทุมธานี เป็นผู้กำกับดูแลองค์กรท้องถิ่นของจังหวัด ก็ต้องยึดตามความเห็นของกฤษฏีกา ในกรณีนายก อบจ.ปทุมฯ นั้น ทางผู้ว่าฯ ได้ยืนยันต่อกระทรวงมหาดไทย มาว่า เตรียมพร้อมที่จะออกคำสั่งให้นายชาญ หยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังจากเข้ารับตำแหน่งนายก อบจ. เรื่องนี้ไม่น่าจะต้องถึงรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย" แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงมหาดไทย ระบุ
สำหรับกรณีการสั่งให้ผู้บริหารบริหารท้องถิ่นที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเรื่องทุจริต และศาลสั่งประทับรับฟ้องแล้วนั้น ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คณะกรรมการกฤษฏีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมายตอบข้อหารือ กระทรวงมหาดไทย เรื่องการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารบริหารท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การให้ความเห็นว่า เมื่อศาลคดีอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ประทับรับฟ้องในคดีอาญาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว ผู้บริหารท้องถิ่นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 93 อันเป็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยผลของกฎหมาย ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากตำแหน่งและกลับมาดำรงดำแหน่งเดิมใหม่ โดยผู้กำกับดูแลมิต้องมีคำสั่งอีก แต่ผู้กำกับดูแลมีหน้าที่จะต้องดูแลให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) พิจารณาแล้ว เห็นว่า การที่มาตรา 93 ประกอบกับมาตรา 81 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เจตนารมณ์ประการหนึ่งก็เพราะว่าในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิดจะมีผลทำให้บุคคลนั้นหมดสิทธิที่จะสมัครรับเลือกตั้งหรือเข้าดำรงตำแหน่งนั้นอีกต่อไป การให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการยุติความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลัง ดังนั้น ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากตำแหน่งและกลับมาดำรงดำแหน่งเดิมใหม่ในอีกวาระหนึ่ง จึงมิได้ทำให้การต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามผลของกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจหรือการสั่งการใด ๆ ที่อาจมีปัญหาความชอบต้วยกฎหมายได้
ขณะที่ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมายืนยันเป็นทางการแล้วว่า เมื่อไหร่ที่นายชาญ พวงเพ็ชร์ เข้ารับหน้าที่ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้เหตุผลทุกกรณีไว้ว่าหากถูกสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่โดย ป.ป.ช.ชี้มูล และมีคำถามว่าระหว่างนั้น ผู้ถูกกล่าวหาพ้นตำแหน่งแล้วกลับเข้ามาทำหน้าที่ใหม่จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งโดยตรรกะต้องหยุด เพราะไม่ต้องการให้ยุ่งเหยิงกับคดีที่ผ่านมา และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นหลักกฏหมายปกติ
นายปกรณ์ ยังระบุด้วยว่า ไม่ต้องมีหน่วยงานใดมาชี้ เพราะเป็นไปตามผลของกฎหมายอยู่แล้ว
"หากนายชาญไม่เชื่อ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) จะเป็นคนชี้ เพราะมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเรื่องของการ เข้าสู่ตำแหน่ง การดำรงตำแหน่ง และการปฎิบัติหน้าที่ ดังนั้น สถ. จึงเป็นผู้มีคำสั่งดำเนินการ กับผู้เกี่ยวข้องต่อไป" นายปกรณ์ระบุ