"...มีกรณีนายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนนทบุรี ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีกล่าวหา นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนนทบุรี และพวกรวม 6 ราย ดำเนินโครงการตกแต่งภายในอาคารสำนักงานเทศบาลนครนนทบุรี (หลังใหม่) วงเงินเกือบ 100 ล้านบาท ในช่วงปี 2555 ของ เทศบาลนครนนทบุรี และป.ป.ช.เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องคดีเอง โดยเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษายกฟ้อง และศาลฯ ก็ไม่ได้มีคำสั่งให้ นายสมนึก ธนเดชากุล หยุดปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด..."
ประเด็นร้อนหลังศึกชิงเก้าอี้ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี คนใหม่
กรณี นายชาญ พวงเพ็ชร์ ว่าที่ นายก อบจ.ปทุมธานี คนใหม่ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อถุงยังชีพเมื่อปี พ.ศ.2555 ปัจจุบัน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำสั่งประทับฟ้องคดีนี้แล้วและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาฯ และอาจส่งผลทำให้ นายชาญ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ ตามความเห็นทางกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฏีกา ที่ตอบข้อหารือ กระทรวงมหาดไทย เรื่องการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารบริหารท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนไปแล้ว
โดยคดีนี้ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องเอง หลังไม่สามารถหาข้อยุติความไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีกับฝ่ายอัยการได้ ศาลฯ มีการนัดไต่สวนสืบคดีในช่วงกลางเดือน ก.ค.2567 นี้
- 'ชาญ' ชนะเลือกตั้งนายกอบจ.ปทุม แต่อาจต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่? เหตุศาลรับฟ้องคดีทุจริต
- เปิดมติ ป.ป.ช.ชี้มูล'ชาญ' คดีซื้อถุงยังชีพ ส่อถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ.ปทุมฯ
ล่าสุด มีคำยืนยันจาก นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นทางการแล้วว่า เมื่อไหร่ที่นายชาญ พวงเพ็ชร์ เข้ารับหน้าที่ก็ต้องหยุด
นายปกรณ์ ยังระบุด้วยว่า เพราะวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้เหตุผลทุกกรณีไว้ว่าหากถูกสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่โดย ป.ป.ช.ชี้มูล และมีคำถามว่าระหว่างนั้น ผู้ถูกกล่าวหาพ้นตำแหน่งแล้วกลับเข้ามาทำหน้าที่ใหม่จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งโดยตรรกะต้องหยุด เพราะไม่ต้องการให้ยุ่งเหยิงกับคดีที่ผ่านมา และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นหลักกฏหมายปกติ
นายปกรณ์ ยังระบุด้วยว่า ไม่ต้องมีหน่วยงานใดมาชี้ เพราะเป็นไปตามผลของกฎหมายอยู่แล้ว
"หากนายชาญไม่เชื่อ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) จะเป็นคนชี้ เพราะมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเรื่องของการ เข้าสู่ตำแหน่ง การดำรงตำแหน่ง และการปฎิบัติหน้าที่ ดังนั้น สถ. จึงเป็นผู้มีคำสั่งดำเนินการ กับผู้เกี่ยวข้องต่อไป"
แต่ดูเหมือนว่า ความเห็นของ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังกล่าว จะไม่สอดคล้องตรงกันกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย
เมื่อนายภูมิธรรม ระบุว่า กรณีที่ป.ป.ช. ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ และมีการประทับรับฟ้องแล้วนั้น มองว่าขณะนั้นนายชาญไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง ศาลจึงไม่ได้มีคำสั่งอะไรออกมา ถือว่าจบไป ส่วนหนังสือเวียนของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ออกมานั้น ถือเป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา
นายภูมิธรรม ยังย้ำว่า การที่นายชาญจะต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม ต้องศาลสั่งเท่านั้น มันไม่ได้เป็นไปตามอัตโนมัติอย่างที่กังวลใจกันอยู่ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ เป็นสถานการณ์ใหม่ในการดำเนินการ ดังนั้น นายชาญก็ยังมีสิทธิ์ เพราะตอนสมัครยังไม่ขาดคุณสมบัติ ตอนนี้ยังสามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่ต้องปล่อยให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ปัจจุบันยังไม่มีข้อกฎหมายใดบังคับ ห้าม และยังไม่มีการสั่งจากศาลที่มีผลต่อการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของศาล
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนมีความเข้าใจ เกี่ยวกับแนวปฏิบัติทางกฏหมายประเด็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการ หลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และศาลประทับรับฟ้องมากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลเชิงลึกแนวปฏิบัติทางกฏหมายประเด็นนี้ มานำเสนอแบบชัดๆ ณ ที่นี้
หนึ่ง.
การหยุดปฏิบัติหน้าที่ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการ หลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และศาลประทับฟ้อง เป็นไปตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. 2 ครั้ง
ครั้งแรก มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2563 สรุปสาระสำคัญว่า การหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นไปโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 93 ประกอบมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนั้นเมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีคำสั่งประทับฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ต้องให้ศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
สำหรับสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่างที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกันของหน่วยงานนั้น ๆ อันเป็นกระบวนการภายในของหน่วยงานต้นสังกัด
ครั้งสอง มติคณะกรรมการ ป. ป.ช. เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2565 สรุปสาระสำคัญได้ว่าบัญญัติตามมาตรา 93 ประกอบมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยซึ่งถูกอัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์องคดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เมื่อศาลมีคำสั่งประทับฟ้องให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยผลของกฎหมาย นอกจากนี้ แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาแล้วก็ตาม (พ้นจากตำแหน่งที่กระทำความผิด) หากต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้รับเลือกตั้งหรือได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐอีกครั้ง ผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ศาลประทับฟ้องเช่นเดียวกัน
ขณะที่ป.ป.ช. ได้มีการออกแนวทางดำเนินการเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อศาลประทับฟ้องตามมาตรา 81 และ 86 ประกอบมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูฐว่าดด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 แจ้งเวียนให้ผู้อำนวยการสำนัก/ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด รับทราบและถือเป็นแนวทางปฏิบัติตั้งแต่เดือนต.ค.2566 (ดูเอกสารประกอบ)
สอง.
ความเห็นทางกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฏีกา ที่ตอบข้อหารือ กระทรวงมหาดไทย เรื่องการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารบริหารท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การให้ความเห็นว่า เมื่อศาลคดีอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ประทับรับฟ้องในคดีอาญาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว ผู้บริหารท้องถิ่นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 93 อันเป็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยผลของกฎหมาย ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากตำแหน่งและกลับมาดำรงดำแหน่งเดิมใหม่ โดยผู้กำกับดูแลมิต้องมีคำสั่งอีก แต่ผู้กำกับดูแลมีหน้าที่จะต้องดูแลให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด (อ่านความเห็น นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบตามรายละเอียดที่เสนอไปแล้ว)
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2567 กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ได้ทำหนังสือแจ้งเวียนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือ สมาชิกสภาท้องถิ่น แล้วส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญา หากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้มีคำสั่งประทับรับฟ้อง หรือได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาตามมติชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว แต่คดียังไม่ถึงที่สุดเป็นทางการไปแล้ว
โดยระบุ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแลตามกฎหมาย พิจารณากำชับให้บุคคลดังกล่าวหยุดปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด บุคคลใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหรือจงใจปกปิดข้อเท็จจริงไม่รายงานการถูกฟ้องคดีอาญา หรือไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ อาจเข้าข่ายเป็นการประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งนายอำเภอหรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน แล้วรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาสั่งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งได้
สาม.
ที่ผ่านมา มีแนวคำพิพากษาของศาล ที่มีคำสั่งให้จำเลย ในคดีที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องมาแล้ว และ ป.ป.ช.นำมาใช้ประกอบในการพิจารณา ประเด็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการ หลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และศาลประทับรับฟ้อง
หนึ่งในคดีตัวอย่าง คือ กรณี นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (ประธานวิปรัฐบาล) กับพวก รวม 87 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10, 11, 12, 13, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157, 162, 264, 265, 268, 83, 86, 91 กรณีทุจริตการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา
โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564 ทำให้นายวิรัช จำเลยที่ 1 นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พปชร. ภริยานายวิรัช จำเลยที่ 2 และนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา พปชร. น้องสาวนางทัศนียา จำเลยที่ 72 ที่มีตำแหน่งเป็น ส.ส. ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาล
แม้ว่า ขณะที่กำหนดความผิดจำเลยจะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรคนละสมัยกับที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบันก็ตาม
ขณะที่ นายวิรัช และพวก ได้ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยไม่ต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ แต่ศาลก็เห็นว่าเหตุผลตามคำร้องของจำเลย ศาลได้มีคำสั่งไว้แล้วเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564 กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง
ต่อมา นายวิรัช และพวก ก็มีการยืนเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้องเป็นเหตุให้ผู้ร้องทั้งสามต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 188 หรือไม่
ผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีเป็นเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอื่น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 (4) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ผู้ร้องทั้งสามไม่อาจยื่นคำร้อง ดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย
สี่.
อย่างไรก็ดี ทางออกของ นายชาญ ก็อาจจะยังพอมีอยู่บ้าง จากกรณีตัวอย่าง นายทรงชัย นกขมิ้น นายกองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) ราชาเทวะ อําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งจังหวัดตามคําสั่งจังหวัดสมุทรปราการ ลับ ที่ 1893/2565 ลงวันที่ 8 เมษายน 2565 ของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ที่ให้ นายทรงชัย นกขมิ้น พ้นจากตําแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) ราชาเทวะ อําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งเป็นอย่างอื่น หลังวินิจฉัยเห็นว่า คำสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้นชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามกฎหมายแล้ว
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก นายทรงชัย นกขมิ้น ถูกผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ออกคำสั่งปลดพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.65 จากนายทรงชัยถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีการจัดซื้อรถดับเพลิง 33.9 ล้านบาท เมื่อปี 2555 จนทำให้ต้องมีการจัดเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ แทนตำแหน่งที่ว่าง ในวันที่ 5 มิ.ย.65
อย่างไรก็ตาม หลังถูกปลดจากตำแหน่งนายทรงชัย ได้ใช้สิทธิโต้แย้งคำสั่งปลดของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง มีคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา
ต่อมาวันที่ 18 พ.ค.65 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีที่ให้นายทรงชัย พ้นจากตำแหน่งนายก อบต.ราชาเทวะ ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ส่งผลให้นายทรงชัย กลับมาปฏิบัติหน้าที่นายก อบต.ราชาเทวะ ต่อไป
ขณะที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. และ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้น พร้อมขอให้มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น และระงับคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้นไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์
ก่อนที่ ศาลปกครองสูงสุด จะมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น เนื่องจากวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คำสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้นชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย จึงมีคําสั่งยืนตามคําสั่งของศาลปกครองชั้นต้น และให้ยกคําขอให้ระงับคําสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้นไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีกรณีนายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนนทบุรี ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีกล่าวหา นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนนทบุรี และพวกรวม 6 ราย ดำเนินโครงการตกแต่งภายในอาคารสำนักงานเทศบาลนครนนทบุรี (หลังใหม่) วงเงินเกือบ 100 ล้านบาท ในช่วงปี 2555 ของ เทศบาลนครนนทบุรี และป.ป.ช.เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องคดีเอง โดยเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษายกฟ้อง และศาลฯ ก็ไม่ได้มีคำสั่งให้ นายสมนึก ธนเดชากุล หยุดปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด
นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี
- ชง ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ชี้มูลคดีตกแต่ง สนง.เทศบาลนนท์ งบ 99.9 ล.-ผู้ถูกกล่าวหาเพียบ 18 ราย
- ป.ป.ช.ซุ่มเงียบชี้มูล-ยื่นฟ้อง 'สมนึก' นายกเทศฯนครนนท์ คดีจ้างตกแต่งภายในอาคารสนง.100 ล.
- ยกฟ้อง! 'สมนึก' นายกเทศฯนครนนท์-ปลัดฯ คดีตกแต่งภายในสนง. 100 ล.- 2จนท.คุกคนละ 3 ปี
เหล่านี้ คือ แนวปฏิบัติทางกฏหมายประเด็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการ หลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และศาลประทับรับฟ้อง รวมถึงคดีตัวอย่าง ที่สำนักข่าวอิศรา พอจะรวบรวมมาได้
สุดท้ายแล้ว นายชาญ พวงเพ็ชร์ ว่าที่นายก อบจ.ปทุมธานี จะเลือกเดินทางไหน "สู้ต่อ" หรือ "หยุดปฏิบัติหน้าที่"
"ชาวปทุมธานี" ได้รับบทเรียนอะไรจากเรื่องนี้บ้าง
อีกไม่นานสังคม คงได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจนกัน