ขยี้ประเด็น! ปมสั่งเจ้าหน้าที่รัฐหยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีทุจริตศาลประทับรับฟ้อง พบ สถ.ทำหนังสือแจ้งเวียนผู้ว่าทั่วประเทศ/นอภ.แล้ว ช่วงเดือน เม.ย.67 กำชับให้ทำตามเคร่งครัด ใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติ/จงใจปกปิดข้อเท็จจริง อาจเข้าข่ายประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย ตั้งคกก.สอบสวน เสนอเรื่อง มท.พิจารณาสั่งให้พ้นตำแหน่งได้
กรณี นายชาญ พวงเพ็ชร์ ว่าที่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี คนใหม่ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อถุงยังชีพเมื่อปี พ.ศ.2555 ปัจจุบัน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำสั่งประทับฟ้องคดีนี้แล้วและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาฯ และอาจส่งผลทำให้ นายชาญ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ ตามความเห็นทางกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฏีกา ที่ตอบข้อหารือ กระทรวงมหาดไทย เรื่องการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารบริหารท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การให้ความเห็นว่า เมื่อศาลคดีอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ประทับรับฟ้องในคดีอาญาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว ผู้บริหารท้องถิ่นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 93 อันเป็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยผลของกฎหมาย ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากตำแหน่งและกลับมาดำรงดำแหน่งเดิมใหม่ โดยผู้กำกับดูแลมิต้องมีคำสั่งอีก แต่ผู้กำกับดูแลมีหน้าที่จะต้องดูแลให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
โดยคดีนี้ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องเอง หลังไม่สามารถหาข้อยุติความไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีกับฝ่ายอัยการได้ ศาลฯ มีการนัดไต่สวนสืบคดีในช่วงกลางเดือน ก.ค.2567 นี้
- 'ชาญ' ชนะเลือกตั้งนายกอบจ.ปทุม แต่อาจต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่? เหตุศาลรับฟ้องคดีทุจริต
- เปิดมติ ป.ป.ช.ชี้มูล'ชาญ' คดีซื้อถุงยังชีพ ส่อถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ.ปทุมฯ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2567 กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ได้ทำหนังสือแจ้งเวียนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือ สมาชิกสภาท้องถิ่น แล้วส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญา หากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้มีคำสั่งประทับรับฟ้อง หรือได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาตามมติชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว แต่คดียังไม่ถึงที่สุดเป็นทางการไปแล้ว
โดยระบุ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแลตามกฎหมาย พิจารณากำชับให้บุคคลดังกล่าวหยุดปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด บุคคลใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหรือจงใจปกปิดข้อเท็จจริงไม่รายงานการถูกฟ้องคดีอาญา หรือไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ อาจเข้าข่ายเป็นการประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งนายอำเภอหรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน แล้วรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาสั่งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งได้
ในหนังสือ สถ. ระบุว่า ด้วยปรากฎข้อเท็จจริงว่า กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารท้องถิ่นรองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น แล้วส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญากับบุคคลดังกล่าว และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้มีคำสั่งประทับรับองแล้ว บุคคลดังกล่าวไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 81 ประกอบมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
อีกทั้งมีการปกปิดข้อเท็จจริงไม่รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแลตามกฎหมายทราบ ประกอบกับคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นตามเรื่องเสร็จที่ 1486/2565 กรณีผู้ถูกกล่าวหาซึ่งถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ประทับฟ้องในคดีอาญาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดโดยที่ผู้ถูกกล่าวหาได้พ้นจากต่ำแหน่งเดิมไปแล้วและอยู่ระหว่างการดำรงตำแหน่งเดิมในวาะระใหม่ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยผลของมาตรา 93 ประกอบมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขอเรียนว่า เพื่อให้การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่นรองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายประกอบความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 1486/2565 ข้างต้น จึงแจ้งแนวทางปฏิบัติ กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น แล้วส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญา หากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้มีคำสั่งประทับรับฟ้อง หรือได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาตามมติชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วแต่คดียังไม่ถึงที่สุด ให้ดำเนินการ ดังนี้
1. ให้บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแลตามกฎหมายทราบโดยด่วน ตามนัยหนังสือกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ น.826/2582 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2482
2. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแลตามกฎหมาย พิจารณากำชับให้บุคคลดังกล่าวหยุดปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด
3. บุคคลใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหรือจงใจปกปิดข้อเท็จจริงไม่รายงานการถูกฟ้องคดีอาญาตามข้อ 1 หรือไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 2 อาจเข้าข่ายเป็นการประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยซึ่งนายอำเภอหรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน แล้วรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาสั่งให้บุคคลดังกล่าวพันจากตำแหน่งได้ ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 77 และมาตรา 79 พระราชบัญญัติทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 73 และมาตรา 73/1 และพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 90/1 และมาตรา 92
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีนายชาญ พวงเพ็ชร์ ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ซึ่งชนะการเลือกตั้ง แต่มีคดีค้างเก่าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และมีการประทับรับฟ้องไว้ นายชาญจำเป็นต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่หรือไม่ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบว่า เมื่อไหร่ที่เข้ารับหน้าที่ก็ต้องหยุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อเข้ารับตำแหน่งต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ใช่ เพราะวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้เหตุผลทุกกรณีไว้ว่าหากถูกสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่โดยป.ป.ช.ชี้มูล และมีคำถามว่าระหว่างนั้น ผู้ถูกกล่าวหาพ้นตำแหน่งแล้วกลับเข้ามาทำหน้าที่ใหม่จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งโดยตรรกะต้องหยุด เพราะไม่ต้องการให้ยุ่งเหยิงกับคดีที่ผ่านมา และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นหลักกฏหมายปกติ
เมื่อถามว่า กรณีดังกล่าวถือว่าต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องมีหน่วยงานใดมาชี้ใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่ต้องมีหน่วยงานใดมาชี้ เพราะเป็นไปตามผลของกฎหมายอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า นายชาญมีสิทธิ์ไม่เชื่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า หากนายชาญไม่เชื่อ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) จะเป็นคนชี้ เพราะมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเรื่องของการ เข้าสู่ตำแหน่ง การดำรงตำแหน่ง และการปฎิบัติหน้าที่ ดังนั้น สถ. จึงเป็นผู้มีคำสั่งดำเนินการ กับผู้เกี่ยวข้องต่อไป
ส่วนใครจะทำหน้าที่แทนนายชาญ นายปกรณ์ กล่าวว่า คงเป็นปลัดอบจ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดเรื่องนี้อยากให้สอบถามอธิบดีสถ. และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย