เปิดเวทีพิจารณางบปี 68 วาระ 1 ‘เศรษฐา’ กางแผยงาน 3.75 ล้านล้านบาท ดันจีดีพีโต 2.5-3.5% เปิดแผนงานรัฐบาล ‘ดิจิทัลวอลเลต’ มาปลายปี สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจไหลเวียนถึงคนไทย 50 ล้านคนแน่นอน ‘ท่องเที่ยว-เกษตร’ เครื่องมือปั๊มเศรษฐกิจ กาง 6 ยุทธศาสตร์ใช้งบประมาณ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 19 มิถุนายน 2567 เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร ถึงการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ว่า เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปี 2567 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติและประชาชนภายใต้การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ตามงบประมาณรายจ่าย วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท โดยในปีนี้ไม่มีการตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ประมาณการรายได้สุทธิ 2.88 ล้านล้านบาท มีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 865,700 ล้านบาท
การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ดังกล่าว อยู่ภายใต้ประมาณการเศรษฐกิจไทยของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในปี 2568 ที่คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะขยายตัวได้ 2.5 - 3.5% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 0.7 – 1.7% และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 1.5% ของ GDP
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ ผ่านการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง 8 อุตสาหกรรมบนการพัฒนา 6 พื้นฐานสำคัญ มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณ ในการพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ จากความยืดเยื้อของความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และสร้างความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน
@ดิจิทัลวอลเลตมาปลายปี เชื่อ! เกิดพายุหมุนเศรษฐกิจ
“ในช่วงปลายปี 2567 นโยบายดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท จะถึงมือคนไทย 50 ล้านคน เกิดเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงตั้งแต่ระดับฐานราก กระจายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การสั่งผลิตสินค้า การจ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นเงินภาษีให้กับภาครัฐ เพื่อใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศต่อไป” นายเศรษฐากล่าว
@ท่องเที่ยว-เกษตร ชูโรงปั๊มเศรษฐกิจ / หนี้ท่วม 91% ต่อ GDP
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2567 การท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศทั้งปีมากกว่า 36.7 ล้านคน กลับไปสู่ระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด และรัฐบาลมีแผนที่จะทำให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น และกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวผ่านการเฟ้นหาจุดเด่น จัดเทศกาล กิจกรรม คอนเสิร์ต หรือการแสดงต่างๆ เพื่อเพิ่มระยะเวลาการพำนัก และค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของนักท่องเที่ยวในอนาคต ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศมากยิ่งขึ้น ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการบิน โดยรัฐบาลจะเดินหน้าขยายโครงข่ายสนามบินทั่วประเทศเพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น และขยายกำลังความสามารถในการขนส่งทางอากาศ การขนส่งควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) และเชื่อมต่อไปยังการขนส่งทางรถ ราง และเรืออย่างครบวงจร ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งจากไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และเชื่อมต่อไปยัง Land Bridge เพื่อไปทั่วโลกได้
ส่วนด้านเกษตรกรรมและอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถยกระดับสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง รัฐบาลมีมาตรการที่จะดูแลภาคส่วนนี้ตั้งแต่ต้นน้ำโดยการบริหารจัดการน้ำ ดิน พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ การแปรรูป และดูแลบริหารอย่างครบวงจร ทำให้ภาคเกษตรและอาหารแข็งแรงยิ่งขึ้น
ส่วน ปัญหาหนี้สินยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้สินสูงกว่า 91.3 %ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และยังซ้ำร้ายด้วยภาระหนี้นอกระบบ โดยรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ย และจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่ทำผิดกฎหมาย เพื่อคืนอิสรภาพให้กับพี่น้องประชาชนที่เคยตกอยู่ในวังวนหนี้สินไม่รู้จบในภาคธุรกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประเมินว่าใน SMEs จำนวนกว่า 3.2 ล้านราย มีเพียงไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ทำให้ต้องอาศัยแหล่งสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ
ด้านการใช้จ่ายจำเป็นในการหมุนเวียนประจำวัน และการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ ส่งผลให้หลายบริษัทต้องปิดตัวลง การเจริญเติบโตในภาค SMEs อยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อในกลุ่ม SMEs มีการขยายตัวติดลบ 5.1% ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัว 3.3 %ในไตรมาส 1 ของปี 2567
@ปลื้มลงทุนต่างประเทศขอ BOI 8.5 แสนล้าน
สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และได้มีการขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 850,000 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปี เป็นผลจากการเดินหน้าเจรจาการค้าการลงทุนอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เป็นการดำเนินนโยบายที่ใช้งบประมาณน้อยแต่ได้ผลมาก
@ผ่า 6 ยุทธศาสตร์ งบปี 68
ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กำหนดไว้จำนวน 6 ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 405,412.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.8 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาความมั่นคงของประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 398,185.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจ ของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน ผลักดันการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยมีเป้าหมายกระจายความเจริญในทุกภูมิภาคของประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 583,023.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.5 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ปฏิรูประบบการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางศิลปวัฒนธรรมสู่อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาศักยภาพการกีฬาสู่ความเป็นเลิศ และได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้ง พัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทยให้ได้มาตรฐานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการแข่งขันในตลาดโลก
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 923,851.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐาน บริการสาธารณะอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ สนับสนุนการเตรียมความพร้อมสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย เพิ่มศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมและกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกิน พัฒนาระบบสาธารณสุข ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งสร้างหลักประกันสวัสดิการ สำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 137,291.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.7 ของวงเงินงบประมาณ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน และสร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว
ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 645,880.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและปไระสิทธิผล มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม
นายเศรษฐากล่าวสรุป ตอนท้ายว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 3.75 ล้านล้านบาท มีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ จำนวน 2.88 ล้านล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 865,700 ล้านบาท แม้ว่างบประมาณปีนี้จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ จำนวน 908,224 ล้านบาท คิดเป็น 24.2% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27.9 %และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา
“การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล จึงมีความสำคัญและจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมากจะไหลจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ก่อให้เกิดการสั่งซื้อสินค้า การบริการ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง” นายกรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่ง
ทั้งนี้ การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย
อ่านเพิ่มเติม
- ชำแหละ‘ร่าง พ.ร.บ.งบ 68’ เตือนรบ.ก่อหนี้เพิ่ม แต่กระตุ้นGDPน้อย-รายจ่ายบุคลากรรัฐ 36.6%
- ครม.ไฟเขียวตั้ง‘กมธ.วิสามัญฯ’พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบปี 68-‘สภาฯ’นัดถกวาระแรก 19-20 มิ.ย.
- เปิดประชุมวิสามัญสภาฯ 18-21 มิ.ย. 67 ถกกม.ประชามติ-พิจารณางบปี 68 วาระแรก
- เปิดโครงสร้างงบ 68 ฉบับปรับปรุง รบ.เพิ่ม'ลงทุน-คืนเงินกู้' ชงสภาฯถก‘ร่าง พ.ร.บ.’19 มิ.ย.
- ครม.ปรับปรุงรายละเอียดงบปี 68 ขยับ‘รายจ่ายลงทุน’เป็น 9 แสนล.-อัดฉีดเงินพัฒนา จว. แสนล้าน
- เปิดรายละเอียดงบปี 68 เทงบกลางฯ 1.52 แสนล.เติม‘หมื่นดิจิทัล’-หั่น‘มหาดไทย’ 5.6 หมื่นล้าน
- เปิดงบดุล'ธ.ก.ส.'ล่าสุด ก่อนรบ.จ่อกู้โปะ'ดิจิทัลวอลเลต'-พบค้างหนี้จำนำข้าว 2.26 แสนล้าน
- เปิดโครงสร้างรายจ่ายงบปี 68 รัฐบาลอัดฉีดลงทุน 8.65 แสนล้าน-ขาดดุลฯแตะ 4.4% ต่อ GDP
- เช็ก'ฐานะการคลัง'ล่าสุด ก่อน'รบ.'เคาะแหล่งเงิน'หมื่นดิจิทัล'-'ธปท.-สศช.'เตือนลดขาดดุลงบฯ
- ที่ประชุม 4 หน่วยงาน เคาะกรอบวงเงินรายจ่ายงบปี 68 แตะ 3.752 ล้านล้าน-ขาดดุล 8.65 แสนล.
- เพิ่มรายจ่ายปีงบ 68 เป็น 3.75 ล้านล.! ครม.ไฟเขียว‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ฉบับใหม่
- ครม.เคาะกรอบงบรายจ่ายปี 68 วงเงิน 3.6 ล้านล้าน-ขาดดุล 7.13 แสนล. คิดเป็น 3.56% ต่อ GDP
- เปิด‘แผนการคลังฯ’ฉบับใหม่ แนวโน้มหนี้‘รัฐบาล-รสก.’เพิ่ม-คาดปีงบ 67-71 กู้ 4.26 ล้านล.