“…สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่า การก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลทำให้เศรษฐกิจขยายตัวน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะต่อประมาณการรายได้ของรัฐบาลมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นมากในอนาคต…”
......................................
ในระหว่างวันที่ 19-21 มิ.ย.2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยวิสามัญ) มีกำหนดพิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 3.752 ล้านล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ในวาระที่ 1 (อ่านประกอบ : ครม.ไฟเขียวตั้ง‘กมธ.วิสามัญฯ’พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบปี 68-‘สภาฯ’นัดถกวาระแรก 19-20 มิ.ย.)
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงบประมาณของรัฐสภา มีการเผยแพร่รายงาน ‘วิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568’ โดยสำนักงบประมาณของรัฐสภา (PBO) ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จำนวน 14 ประเด็น สรุปได้ดังนี้
@รายจ่ายบุคลากรรัฐ 1.3 ล้านล้าน คิดเป็น 36.6% ของงบฯ
1.การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายกับยุทธศาสตร์ชาติ
การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 23 ประเด็น ให้ความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด ในขณะที่ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังคงได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุดเช่นเดียวกับปีงบประมาณ พ.ศ.2567
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาสถานการณ์การบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติปี 2566 พบข้อกังวลต่อยุทธศาสตร์ชาติ 2 ด้าน ได้แก่
1) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยผลการทดสอบ O-NET ปี 2566 ได้รับคะแนนเฉลี่ยแต่ละวิชา 35.68 คะแนน (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) ผลการประเมิน PISA ปี 2565 ลดลงร้อยละ 4.5 จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.77 และดัชนีความก้าวหน้าของคนด้านชีวิต ครอบครัว และชุมชนปรับตัวลดลงร้อยละ 0.77
และ 2) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมลดลง คุณภาพของน้ำลดลง คุณภาพของอากาศลดลง การจัดการขยะมูลฝอยลดลง และอันดับมหาวิทยาลัยเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมลดลง
2.แนวโน้มวงเงินงบประมาณและโครงสร้างงบประมาณ
จากการเปรียบเทียบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2568 พบว่า วงเงินงบประมาณมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากไม่รวม พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
พบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ได้กำหนดวงเงินงบประมาณฯ จำนวน 2,720,000 ล้านบาท และในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้กำหนดวงเงินงบประมาณฯ จำนวน 3,752,700 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 1,032,700 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 10 ปี โดยรายจ่ายประจำมีสัดส่วนสูงถึง 3 ใน 4 ในขณะที่รายจ่ายลงทุนมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 5 ของวงเงินงบประมาณแต่ละปี
“วงเงินที่ตั้งไว้เพื่อบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 410,253.7 ล้านบาท เมื่อหักส่วนชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 150,100 ล้านบาท ทำให้ทราบว่า ดอกเบี้ยที่ต้องชำระ และค่าใช้จ่ายในการกู้เงินของรัฐบาลมีจำนวนถึง 260,153.7 ล้านบาท
สะท้อนให้เห็นว่างบประมาณในการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐส่วนใหญ่ ใช้จ่ายไปเพื่อการชำระดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการก่อหนี้ใหม่ ขณะที่การชำระคืนต้นเงินกู้ในแต่ละปีมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจกระทบต่อแนวโน้มวงเงินงบประมาณในปีถัดไป และส่งผลต่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวได้
ขณะเดียวกัน การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมีสัดส่วนใกล้เคียงกับรายจ่ายประจำ ทำให้ต้องกู้เงินมาสมทบ เพื่อให้รายจ่ายลงทุนมีสัดส่วนเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนด ส่งผลให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายลงทุนในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นเหตุให้ขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว
ดังนั้น ควรปรับโครงสร้างการบริหารภาครัฐ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดรายจ่ายประจำ ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐให้เพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ แม้รายจ่ายลงทุนของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จะมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ในมาตรา 20 (1) แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 แต่ก็ถือว่ายังมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับรายจ่ายประจำ ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องทุกปี” สำนักงบประมาณของรัฐสภาตั้งข้อสังเกต
3 งบประมาณรายจ่ายจําแนกตามกลุ่มรายจ่าย
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 มีการจำแนกกลุ่มรายจ่ายเพียง 6 กลุ่ม จากที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดให้จำแนกกลุ่มรายจ่ายออกเป็น 8 กลุ่ม โดยไม่มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ทั้งนี้ รายจ่ายงบกลางมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจำนวน 190,801 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 30) เนื่องจาก
1) รายการค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น และ 2) มีรายการตั้งใหม่ คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณารายการค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐที่ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นนั้น พบว่าเป็นผลจากกำลังคนภาครัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบุคลากรประเภทข้าราชการที่เพิ่มขึ้นจาก 1,655,354 คน ในปี 2557 มาเป็น 1,775,812 คน ในปี 2565 (เพิ่มขึ้น 120,458 คน คิดเป็นร้อยละ 7.3) ส่งผลให้รายจ่ายบุคลากรเพิ่มสูงขึ้น
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้รับจัดสรร จำนวน 800,969.6 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 15,173.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9) ประกอบด้วย
-เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ จำนวน 354,500.0 ล้านบาท
-เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ จำนวน 13,000.0 ล้านบาท
-เงินสมทบของลูกจ้างประจำ จำนวน 370.0 ล้านบาท
-เงินสำรอง เงินสมทบ เงินชดเชยของข้าราชการ จำนวน 82,775.0 ล้านบาท
-เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ จำนวน 5,000.0 ล้านบาท
-ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ จำนวน 93,800.0 ล้านบาท
เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายบุคลากรขององค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 5,303 แห่ง ที่ขอรับจัดสรรงบประมาณผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 21,512.8 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐทั้งสิ้นจะเป็นจำนวนเงิน 1,371,927.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36.6 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ขณะที่ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐดังกล่าว ไม่รวมงบประมาณที่จัดสรรเป็นเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นหน่วยรับงบประมาณตรง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลเมือง เทศบาลนคร และเทศบาลตำบล
ทั้งนี้ นอกจากจำนวนข้าราชการที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องภาระค่าใช้จ่ายของข้าราชการบำนาญที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีสาเหตุหลักมาจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และระบบสาธารณสุข ส่งผลให้ประชากรไทยมีอายุยืนมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างงบประมาณโดยรวมของประเทศ
จากกรณีดังกล่าวทำให้ค่ารักษาพยาบาลของบุคลากรประเภทข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ ซึ่งเป็นรายจ่ายที่คาดหมายไม่ได้ และไม่สามารถประมาณการค่าใช้จ่ายในแต่ละปีได้อย่างถูกต้องและชัดเจน
“เพื่อลดภาระการคลังจากค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐในอนาคต ควรพิจารณาดำเนินการ ดังนี้ 1.ควรมีการปรับปรุงโครงสร้างระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ ลดจำนวนบุคลากรภาครัฐ โดยจ้างงานจากภายนอก (Outsourcing) ให้มาทำงานบางอย่างแทน เพื่อลดความเสี่ยงที่รัฐบาลต้องรับภาระงบประมาณในระยะยาว
และ 2.ควรปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดจำนวนบุคลากรภาครัฐที่ต้องปฏิบัติงานซ้ำซ้อนหรืองานที่ไม่จำเป็น
นอกจากนี้ เพื่อสะท้อนภาระทางการคลังเกี่ยวกับรายจ่ายบุคลากรอย่างครอบคลุม ถูกต้อง ครบถ้วนในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ควรมีการจำแนกรายจ่ายเพื่อการดังกล่าวออกมา ให้ชัดเจนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 (4) แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561” สำนักงบประมาณของรัฐสภาระบุ
@รัฐจัดงบ‘ด้านศึกษา’ลดลง-รายจ่าย‘ศธ.’ 62.4% เป็นเงินเดือน
4 งบประมาณรายจ่ายจําแนกตามลักษณะงาน
จากการวิเคราะห์การจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2563-2568 พบว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณด้านการเศรษฐกิจ โดยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการจัดทำงบประมาณฯ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลต่อการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศทุกมิติ แต่ได้รับการจัดสรรฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 493,822 ล้านบาทในปี 2563 เป็น 473,481 ล้านบาทในปี 2568 (ลดลง 20,341 ล้านบาทจากปี 2563)
ในขณะที่ตัวชี้วัดด้านการศึกษาปี 2565 (PISA) ได้สะท้อนคุณภาพการศึกษาของไทยที่มีประสิทธิภาพลดลง รวมถึงตัวชี้วัดสากลด้านการเศรษฐกิจ อาทิ ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ ปี 2566 และดัชนีการพัฒนาการเดินทางและการท่องเที่ยว ปี 2564 มีแนวโน้มลดลง
ประกอบกับการจัดสรรงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นลักษณะงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุดในแต่ละปีงบประมาณ มีดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อมและดัชนีคุณภาพอากาศลดลงด้วยเช่นกัน
5 งบประมาณรายจ่ายจําแนกตามกระทรวง
สำนักงบประมาณของรัฐสภาได้ศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 พบว่า โครงสร้างงบประมาณ มีการเปลี่ยนแปลงจากปีงบประมาณ พ.ศ.2567 อย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้
1.งบกลาง ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 805,745.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 190,801.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.0 จากปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยงบประมาณส่วนใหญ่เป็นเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ จำนวน 354,500.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา จำนวน 21,456.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.4
รวมทั้งมีรายการใหม่ คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวน 152,700.0 ล้านบาท ในขณะที่เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 95,300.0 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา 4,200.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.2
2.กระทรวงการคลัง ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 390,314.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 63,294.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.4 จากปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยงบประมาณส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายเพื่อการบริหารจัดการหนี้และการชำระหนี้ภาครัฐของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ จำนวน 355,930.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56,595.3 ล้านบาท
และโครงการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตของกรมสรรพสามิต จำนวน 8,010.0 ล้านบาท
3.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 340,584.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 12,413.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.8 จากปีงบประมาณ พ.ศ.2567
โดยงบประมาณส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายบุคลากร จำนวน 212,693.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.4 ของงบประมาณทั้งกระทรวง ส่งผลให้รัฐบาลเหลืองบประมาณจำกัด ในการพัฒนาองค์ประกอบด้านการศึกษาอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพ
เช่น การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต การพัฒนาระบบการวัดประเมินผลทางการศึกษา การจัดหาอุปกรณ์และเทคโนโลยีประกอบการเรียนการสอน และการกระจายงบประมาณทางการศึกษาเพื่อให้ทุกพื้นที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม เป็นต้น
4.กระทรวงมหาดไทย ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 294,863.3 ล้านบาท ลดลงจำนวน 56,732.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.1 จากปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยงบประมาณส่วนใหญ่เป็นเงินอุดหนุนที่จัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 173,317.2 ล้านบาท
และเนื่องจากในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 สำนักงบประมาณกำหนดให้เทศบาลตำบล จำนวน 2,247 แห่ง เป็นหน่วยรับงบประมาณตรง ส่งผลให้เงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดสรรผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นลดลง คงเหลือเฉพาะงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 5,303 แห่ง
5.ทุนหมุนเวียน ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 274,296.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 16,745.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.5 โดยงบประมาณส่วนใหญ่เป็นงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 167,753.2 ล้านบาท กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จำนวน 50,400.0 ล้านบาท และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 19,350.8 ล้านบาท
หากพิจารณาประสิทธิภาพการเบิกจ่ายของหน่วยรับงบประมาณระดับกระทรวงที่มีการเบิกจ่ายต่ำสุด 3 อันดับ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (สถานะ 15 พ.ค.2567) พบว่า 1) จังหวัดและกลุ่มจังหวัด มีการเบิกจ่ายคิดเป็นร้อยละ 4.2 2) กระทรวงคมนาคมเบิกจ่ายร้อยละ 24.5 และ 3) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เบิกจ่ายร้อยละ 29.2 โดยหน่วยรับงบประมาณควรเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายในการเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนประสิทธิภาพการดำเนินการภาครัฐเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนต่อไป
@‘ภาระผูกพันงบฯ’สูง กระทบการบริหาร‘รัฐบาล’อนาคต
6 รายการผูกพันงบประมาณข้ามปี
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ภาระผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีงบประมาณรายการใหม่ (เงินงบประมาณและเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด) มีจำนวนทั้งสิ้น 338,377 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.02 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 10
อย่างไรก็ดี จากการศึกษาแนวโน้มของภาระผูกพันงบประมาณรายการใหม่ตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ (ไม่รวมเงินนอกงบประมาณ) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เป็นต้นมา พบว่า ภาพรวมภาระผูกพันรายการใหม่ต่องบประมาณรายจ่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
โดยในปี พ.ศ.2568 สัดส่วนของภาพรวมภาระผูกพันใหม่ต่องบประมาณเท่ากับร้อยละ 9.0 โดยมีรายการสำคัญ อาทิ ค่าเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) 1,520 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งผูกพันงบประมาณระหว่าง พ.ศ.2568-2575 วงเงินทั้งสิ้น 15,355.6 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐคือ ไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนของภาพรวมภาระผูกพันงบประมาณเมื่อเทียบกับวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พบว่า ภาระผูกพันงบประมาณส่วนใหญ่เป็นภาระผูกพันจากรายการเดิมที่ได้รับอนุมัติไว้แล้วก่อนปีงบประมาณ พ.ศ.2568 โดยสัดส่วนเฉลี่ยที่ร้อยละ 73.5
“รัฐบาลควรควบคุมสัดส่วนภาระผูกพันงบประมาณข้ามปี โดยเฉพาะรายการผูกพันใหม่ควรตั้งงบประมาณเท่าที่จำเป็นและมีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที สำหรับรายการผูกพันเดิมก็ควรตั้งงบประมาณให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของการดำเนินงานที่จะต้องจ่ายจริงในปีงบประมาณ
เพื่อมิให้มีภาระผูกพันงบประมาณสะสมอยู่ในระดับที่สูงมากเกินไป จนกลายเป็นภาระและส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของรัฐบาลในอนาคต เพื่อให้รัฐบาลได้มีวงเงินงบประมาณสำหรับโครงการใหม่ๆ ที่จำเป็นต้องดำเนินการในอนาคตตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล” สำนักงบประมาณของรัฐสภา ตั้งข้อสังเกต
7 งบประมาณรายจ่ายบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 มีการจัดสรรงบประมาณ 10 แผนงาน โดยงบประมาณส่วนใหญ่ถูกจัดสรรไว้ใน 2 แผนงานฯ ประกอบด้วย 1) แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ วงเงิน 103,317 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49.9 ของวงเงินงบประมาณรวมแผนงานบูรณาการ
และ 2) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำวงเงิน 62,779 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30.2 ทำให้มีงบประมาณคงเหลือสำหรับแผนงานบูรณาการอื่นๆ เพียงเล็กน้อยในการขับเคลื่อนนโยบายเรื่องสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล เช่น แผนงานบูรณาการพร้อมรองรับสังคมสูงวัย (ร้อยละ 3.7) และแผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ร้อยละ 3.1)
นอกจากนี้ ยังพบว่าแผนงานบูรณาการทั้ง 10 แผนงาน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 (ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2560 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง) มีลักษณะการดำเนินงานคล้ายงานประจำ โดยไม่สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาสิ้นสุดที่ชัดเจน และไม่เป็นไปตามวิธีการจัดทำแผนงานบูรณาการที่สำนักงบประมาณกำหนด โดยเฉพาะแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ที่มีสัดส่วนงบประมาณสูงสุดอย่างต่อเนื่อง
8 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีวงเงินงบประมาณ 805,745 ล้านบาท (ร้อยละ 21.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า จำนวน 190,801 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 31
ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายงบกลางส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ (โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า จำนวน 42,101 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3) โดยเฉพาะรายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ และรายการค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลฯ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรายการตั้งใหม่ คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ เป็นจำนวน 152,700 ล้านบาท (ร้อยละ 18.9 ของงบประมาณรายจ่ายงบกลาง)
“การใช้จ่ายงบกลางรายการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายการเงินเบี้ยหวัด บําเหน็จ บํานาญ และรายการค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลฯ ดังนั้น
1.ควรตรวจสอบและวิเคราะห์สาเหตุการเพิ่มขึ้นของเงินเบี้ยหวัด บําเหน็จ บํานาญ อย่างจริงจัง เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมที่เหมาะสมและเป็นรูปธรรม
2.ควบคุมการใช้จ่ายรายการในการรักษาพยาบาลฯ เช่น การกำหนดกรอบการเบิกจ่ายที่เหมาะสม การใช้ยาสามัญทดแทนการใช้ยาต้นแบบ ส่งเสริมการวิจัยพัฒนายา วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์
3.หน่วยงานของรัฐ ควรดำเนินการตามมาตรการปรับขนาดกําลังคนภาครัฐ และมาตรการบริหารจัดการกําลังคนภาครัฐอย่างจริงจัง
4.ควรศึกษา ทบทวนปรับปรุงกฎหมายและแนวทางปฏิบัติให้เหมาะสม การเพิ่มรายได้ของประเทศ เพื่อรองรับภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐ เช่น สนับสนุนการลงทุนของเอกชน ปรับโครงสร้างภาษี และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ” สำนักงบประมาณของรัฐสภาตั้งข้อสังเกต
@ค่าใช้จ่ายบุคลากร‘องค์การมหาชน’มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
9 งบประมาณรายจ่ายทุนหมุนเวียน
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ทุนหมุนเวียนได้รับการจัดสรรจำนวน 34 ทุน เป็นวงเงินงบประมาณ 274,294 ล้านบาท (ร้อยละ 7.3 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี) โดยได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นจำนวน 16,745 ล้านบาท โดยทุนหมุนเวียนที่ได้รับจัดสรรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ 1) กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มขึ้น 15,015 ล้านบาท และ 2) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เพิ่มขึ้น 12,252 ล้านบาท
ประกอบกับ มีข้อค้นพบระหว่างปีบัญชี 2558-2567 มีการเรียกทุนหรือกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินเป็นจำนวนเงิน 87,793 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงค่าใช้จ่ายที่เหลือแล้วสะสมไว้ที่สถาบันการเงินจนเกิดเป็นรายได้ดอกเบี้ยจำนวนมาก และส่งผลให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสของรัฐในการนำงบประมาณรายจ่ายไปใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ
ดังนั้น การบริหารจัดการทุนหมุนเวียน ควรพิจารณาถึง 1) รายได้จากดอกเบี้ยฯที่มีจำนวนมาก ควรนำมาสมทบงบประมาณรายจ่ายประจำปี และ 2) ควรมีการทบทวนการจัดตั้ง และสถานการณ์ดำเนินงานของทุนหมุนเวียนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสนับสนุนภารกิจหน่วยงานราชการให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
10 งบประมาณรายจ่ายองค์การมหาชน (ไม่รวมสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐหรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ)
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 มีวงเงินงบประมาณรวม 27,913 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้า 2,146 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3)
ทั้งนี้ มีข้อค้นพบว่าค่าใช้จ่ายบุคลากรขององค์การมหาชนทั้งหมด มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปีงบประมาณ (จาก 4,614 ล้านบาทในปี 2560 เป็น 7,152 ล้านบาทในปี 2568) ถึงแม้ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2561 เห็นชอบหลักการมิให้องค์การมหาชนมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเกินกว่าความจำเป็นและไม่เป็นภาระงบประมาณของประเทศก็ตาม
“พ.ศ.2559-2568 องค์การมหาชนได้รับจัดสรรงบประมาณ 248,945.6 ล้านบาท โดยสัดส่วนการสมทบงบประมาณรายจ่ายประจำปีร้อยละ 26.2 องค์การมหาชนส่วนใหญ่มีรายจ่ายบุคลากรต่องบประมาณหรือรายจ่ายบุคลากรต่อประมาณการค่าใช้จ่ายสูงกว่าหรือใกล้เคียงร้อยละ 30
ดังนั้น คณะกรรมการองค์การมหาชนแต่ละแห่ง ควรเข้มงวด เคร่งครัดเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อไม่ให้มีรายจ่ายด้านบุคลากรเกินความจำเป็น บริหารทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ หรือนำเทคโนโลยีมาใช้แทนกำลังคน เพื่อลดภาระงบประมาณของประเทศ” สำนักงบประมาณของรัฐสภาตั้งข้อสังเกต
@โครงการ‘ขนส่งมวลชน’ ทำให้รัฐมี‘ภาระหนี้-ดอกเบี้ย’เพิ่ม
11 งบประมาณรัฐวิสาหกิจ
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 มีวงเงินงบประมาณรวม 145,706 ล้านบาท ใเพิ่มจากปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 2,370 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.7) ให้กับรัฐวิสาหกิจ จำนวน 25 แห่ง เพิ่มจากปีก่อนหน้า จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ การประปานครหลวง และบริษัท ขนส่ง จำกัด
ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่รัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 71.8 ของวงเงินงบประมาณรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ร้อยละ 41.0) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ร้อยละ 16.0) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร้อยละ 14.8)
ประกอบกับ มีข้อค้นพบที่สำคัญต่องบประมาณรัฐวิสาหกิจ 2 ประเด็น ได้แก่ 1) สัดส่วนงบประมาณตามแผนงานยุทธศาสตร์และแผนงานบูรณาการ ซึ่งเป็นแผนงานที่มีลักษณะเป็นการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ มีการปรับลดจากร้อยละ 64 (ปี 2567) เป็นร้อยละ 59 (ปี 2568) ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพลดลง
และ 2) สัดส่วนงบประมาณแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 32 (ปี 2567) เป็นร้อยละ 37 (ปี 2568) ของงบประมาณรัฐวิสาหกิจ ซึ่งสะท้อนถึงภาระหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนการชำระหนี้และดอกเบี้ยที่เกิดจากโครงการขนส่งมวลชน และโครงการที่มีลักษณะเป็นกิจกรรมกึ่งการคลังตามนโยบาย ที่รัฐกำหนดให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการจ่ายล่วงหน้าไปก่อนและมีการตั้งงบประมาณจ่ายชดเชยภายหลัง
“ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 งบประมาณรัฐวิสาหกิจภายใต้แผนงานพื้นฐาน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคิดเป็นร้อยละ 63.6 ส่วนใหญ่เกิดจากงบประมาณจากรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เพิ่มขึ้น เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพิ่มขึ้นจำนวน 213.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 417.8
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพิ่มขึ้นจำนวน 511.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.1 และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เพิ่มขึ้นจำนวน 153.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 100 ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยเฉพาะในส่วนการก่อสร้างเส้นทางคมนาคม ที่เป็นโครงการลงทุนที่มีมูลค่าสูง มีความต่อเนื่องและผูกพันงบประมาณระยะยาว เช่น โครงการทางด่วน โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟฟ้า อีกทั้งค่าใช้จ่ายอื่น รวมกัน 46,792.8 ล้านบาท ประมาณร้อยละ 32.1 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของงบประมาณรัฐวิสาหกิจ
นอกจากนี้ ลักษณะงานส่วนหนึ่งของรัฐวิสาหกิจเป็นไป เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ พบว่า เมื่อรวมสัดส่วนงบประมาณตามแผนงานยุทธศาสตร์และแผนงานบูรณาการ ซึ่งเป็นแผนงานที่มีลักษณะเป็นการพัฒนา ได้ปรับลดจากร้อยละ 64 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นร้อยละ 59 ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ของงบประมาณรัฐวิสาหกิจ ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพลดลงเช่นกัน
ขณะที่สัดส่วนงบประมาณแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 32 ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เป็นร้อยละ 37 ของงบประมาณรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 สะท้อนถึงภาระหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนการชำระหนี้และดอกเบี้ยที่เกิดจากโครงการขนส่งมวลชน
เช่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟทางคู่ รวมทั้งโครงการที่มีลักษณะเป็นกิจกรรมกึ่งการคลังตามนโยบายที่รัฐ กำหนดให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการจ่ายล่วงหน้าไปก่อนและมีการตั้งงบประมาณจ่ายชดเชยภายหลัง เช่น โครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร หรือโครงการชดเชยดอกเบี้ยเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย” สำนักงบประมาณของรัฐสภา ระบุ
@รายได้‘ท้องถิ่น’ไม่ถึง 35%-‘จังหวัด’ใช้งบต่ำกว่า‘เส้นประสิทธิภาพ’
12 งบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
มีแนวโน้มได้รับการจัดสรรงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จังหวัดและกลุ่มจังหวัดได้รับการจัดสรรจำนวน 24,042 ล้านบาท (ร้อยละ 0.6 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี) ทั้งนี้ มีข้อค้นพบที่สำคัญ 2 ประเด็น ได้แก่
1) คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้กำหนดกรอบวงเงินงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดไว้ที่ 28,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อเติมเต็มช่องว่างหรือความขาดแคลนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกระทรวง/หน่วยงาน ที่จัดสรรลงพื้นที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัด ทั้งนี้ งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรที่ผ่านมาในแต่ละปีงบประมาณอยู่ในระดับร้อยละ 60-85 ของกรอบวงเงินดังกล่าว
และ 2) ก.น.บ. ได้กำหนดสัดส่วนงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดไว้ที่ร้อยละ 70 ต่อ 30 เมื่อพิจารณาสัดส่วน “งบประมาณของกลุ่มจังหวัด” พบว่าไม่ถึงร้อยละ 30 ซึ่งอาจส่งผลให้การตอบสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาลและการขับเคลื่อนแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดในลักษณะ Cluster ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
13 เงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
พบว่า 1) สัดส่วนรายได้ระหว่างรัฐบาลกับ อปท. ได้กำหนดไว้ที่ร้อยละ 35 ตามจุดมุ่งหมายให้ อปท. มีรายได้เพิ่มขึ้น หากพิจารณาข้อมูลระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2568 แม้ว่าจะมีแนวโน้มสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ยังต่ำกว่าร้อยละ 35 โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 สัดส่วนดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 29.1
และ 2) รายได้ อปท. ได้รับจริงทุกปีงบประมาณต่ำกว่าประมาณการรายได้ของ อปท. ซึ่งสะท้อนถึงการจัดเก็บรายได้ของ อปท. ที่ไม่เพียงพอต่อการจัดทำบริการและกิจกรรมสาธารณะ และเห็นว่าการพัฒนาระบบภาษีท้องถิ่น/การพัฒนากิจกรรมพาณิชย์ จะทำให้ อปท. มีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวมในอนาคตต่อไปได้
14 ประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณมิติพื้นที่
โดยได้ดำเนินการวัดประสิทธิภาพฯ จากดัชนีความก้าวหน้า (HAI) และสัดส่วนการใช้จ่ายงบประมาณต่อผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) เพื่อสร้างเส้นประสิทธิภาพ (Efficient Frontier) ของการใช้จ่ายงบประมาณ พบว่า จังหวัดส่วนใหญ่ที่อยู่บนเส้นประสิทธิภาพจะมีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่และอยู่ในเขตอุตสาหกรรม
แต่มีอีกหลายจังหวัดไม่ว่าจะพิจารณาด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข และเคหะชุมชน ได้แสดงผลในระดับที่ต่ำกว่าเส้นประสิทธิภาพ ซึ่งสะท้อนต่อการให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตรการ การออกแบบโครงการ และการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ต่อไป
@รัฐบาลก่อ‘หนี้สาธารณะ’เพิ่ม แต่กระตุ้น‘จีดีพี’ได้น้อยกว่า
รายงานฉบับนี้ ยังได้วิเคราะห์ ‘เสถียรภาพทางการคลังและความยั่งยืนทางการคลัง’ โดยมีข้อค้นนพบปัจจัยที่อาจส่งผลต่อ ‘การรักษาเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง’ ได้แก่
(1) การจัดเก็บรายได้จริงมีความคาดเคลื่อนจากประมาณการรายได้ อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจหรือประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ อาทิ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 สามารถจัดเก็บจริงต่ำกว่าประมาณการรายได้ 423,784 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่สูงขึ้น ส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น
(2) รายได้ที่จัดเก็บไม่เพียงพอต่อรายจ่ายมาอย่างต่อเนื่อง โดยหากพิจารณาเฉพาะเงินรายได้โดยไม่รวมเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2562-2566 รายได้ของรัฐบาลต่ำกว่ารายจ่ายมาโดยตลอด แม้ว่าในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 การจัดเก็บรายได้จะเพิ่มสูงขั้นกว่าประมาณการ แต่ก็ยังน้อยกว่ารายจ่าย จึงส่งผลให้รัฐต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
โดยเฉพาะในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2562-2563 มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 363,216.6 ล้านบาท เป็น 701,283.6 ล้านบาท และภายหลังจากนั้นก็ยังคงระดับสูงกว่า 6 แสนล้านบาทต่อปี
โดยต้นเหตุอาจมิใช่ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย หรือศักยภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐแต่ด้านเดียว หากแต่เป็นเพราะ “ภาครายจ่าย” โดยเฉพาะรายจ่ายประจำที่เกี่ยวกับบุคลากรภาครัฐ สวัสดิการ ผลตอบแทนและประโยชน์เกื้อกูลต่างๆ ที่ดูเสมือนว่าภาครัฐยังไม่สามารถลดภาระทางการคลังดังกล่าว ดังนั้น โอกาสที่จะนำไปสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลหรือเกินดุลเป็นเรื่องยาก และส่งผลต่อเสถียรภาพความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวได้
(3) ปริมาณหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน (ปีงบ 2566) หนี้สาธารณะคิดเป็นร้อยละ 62.4 ต่อ GDP ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังฯที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 70 (คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐออกประกาศขยายเพดานจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาด COVID-19 ในช่วงปี 2563-2564)
ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆดีขึ้นหลังจากช่วงโควิด ส่งผลให้ GDP ของประเทศมีขนาดโตขึ้น แต่ความจำเป็นของการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐที่ไม่ลดลง จึงมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะชำระคืนต้นเงินกู้ในระบบงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ไม่ได้ทำให้ปริมาณหนี้สาธารณะลดลง จึงทำให้ปริมาณหนี้สาธารณะของรัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากรัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินนโยบายให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมาย สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ก็จะอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของประเทศ
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มทางการคลัง แม้ว่าสัดส่วนรายได้สุทธิของรัฐบาลต่อ GDP ในอนาคตมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นภายหลังการแพร่ระบาด COVID-19 สะท้อนถึงการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล แต่สัดส่วนการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ยังคงอยู่ในระดับสูง
ขณะเดียวกัน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่า การก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลทำให้เศรษฐกิจขยายตัวน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะต่อประมาณการรายได้ของรัฐบาลมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นมากในอนาคต และอาจมีความเสี่ยงที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยในการกู้เงิน ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และต้นทุนการกู้เงินเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
@ปีงบฯ 68 เหลือช่องว่างก่อหนี้ ‘ม.28’ อีก 2 แสนล.
(4) กรอบอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งได้กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ได้มีการขยายเพดาน จำนวน 2 ครั้ง (ไม่เกินร้อยละ 35 ในปีงบฯ พ.ศ.2564 และไม่เกินร้อยละ 32 ในปีงบฯ พ.ศ. 2565)
การกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อขยายพื้นที่ทางการคลังตามมาตรา 28 ให้สูงขึ้น และนำพื้นที่ทางการคลังดังกล่าวไปสร้างภาระทางการคลังในอนาคต เป็นการสร้างความเสี่ยงต่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว
“ปีงบประมาณ พ.ศ.2568 คณะรัฐมนตรีได้กำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มขึ้นเป็น 3,752,700 ล้านบาท โดยพื้นที่ทางการคลังตามมาตรา 28 ที่มีการกำหนดอัตราไว้ร้อยละ 32 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี คิดเป็น 1,200,864.0 ล้านบาท
ในขณะที่ ณ วันที่ 22 ก.ย.2566 ยอดคงค้างมีจำนวน 1,000,295.2 ล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลจะใช้พื้นที่ทางการคลังดังกล่าวดำเนินนโยบายตามที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ก็ต้องคำนึงถึงภาระทางการคลังที่สะสมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บรายได้แผ่นดินเพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมา
การกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เพิ่มขึ้น ย่อมมาจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอาจมีลักษณะเป็น “การกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อขยายพื้นที่ทางการคลังตามมาตรา 28 ให้สูงขึ้น และนำพื้นที่ทางการคลังดังกล่าวไปสร้างภาระทางการคลังในอนาคต” อันเป็นการสร้างความสุ่มเสี่ยงต่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว” สำนักงบประมาณของรัฐสภาตั้งข้อสังเกต
เหล่านี้เป็นสาระสำคัญของรายงาน ‘วิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568’ ของสำนักงบประมาณของรัฐสภา โดยได้สะท้อนถึงความเสี่ยงทางการคลังในอนาคต จากการ ‘กู้เงิน’เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งทำให้สัดส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
ที่สำคัญการก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลดังกล่าว ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ภาระ ‘ดอกเบี้ยหนี้สาธารณะ’ ต่อประมาณการรายได้ของรัฐบาล มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นมากในอนาคต จนอาจสร้างข้อจำกัดต่อการจัดทำงบประมาณในอนาคต
อ่านเพิ่มเติม : วิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียวตั้ง‘กมธ.วิสามัญฯ’พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบปี 68-‘สภาฯ’นัดถกวาระแรก 19-20 มิ.ย.
เปิดประชุมวิสามัญสภาฯ 18-21 มิ.ย. 67 ถกกม.ประชามติ-พิจารณางบปี 68 วาระแรก
เปิดโครงสร้างงบ 68 ฉบับปรับปรุง รบ.เพิ่ม'ลงทุน-คืนเงินกู้' ชงสภาฯถก‘ร่าง พ.ร.บ.’19 มิ.ย.
ครม.ปรับปรุงรายละเอียดงบปี 68 ขยับ‘รายจ่ายลงทุน’เป็น 9 แสนล.-อัดฉีดเงินพัฒนา จว. แสนล้าน
เปิดรายละเอียดงบปี 68 เทงบกลางฯ 1.52 แสนล.เติม‘หมื่นดิจิทัล’-หั่น‘มหาดไทย’ 5.6 หมื่นล้าน
เปิดงบดุล'ธ.ก.ส.'ล่าสุด ก่อนรบ.จ่อกู้โปะ'ดิจิทัลวอลเลต'-พบค้างหนี้จำนำข้าว 2.26 แสนล้าน
เปิดโครงสร้างรายจ่ายงบปี 68 รัฐบาลอัดฉีดลงทุน 8.65 แสนล้าน-ขาดดุลฯแตะ 4.4% ต่อ GDP
เช็ก'ฐานะการคลัง'ล่าสุด ก่อน'รบ.'เคาะแหล่งเงิน'หมื่นดิจิทัล'-'ธปท.-สศช.'เตือนลดขาดดุลงบฯ
ที่ประชุม 4 หน่วยงาน เคาะกรอบวงเงินรายจ่ายงบปี 68 แตะ 3.752 ล้านล้าน-ขาดดุล 8.65 แสนล.
เพิ่มรายจ่ายปีงบ 68 เป็น 3.75 ล้านล.! ครม.ไฟเขียว‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ฉบับใหม่
ครม.เคาะกรอบงบรายจ่ายปี 68 วงเงิน 3.6 ล้านล้าน-ขาดดุล 7.13 แสนล. คิดเป็น 3.56% ต่อ GDP
เปิด‘แผนการคลังฯ’ฉบับใหม่ แนวโน้มหนี้‘รัฐบาล-รสก.’เพิ่ม-คาดปีงบ 67-71 กู้ 4.26 ล้านล.