‘นพ.สรณ’ ทำหนังสือถึง ‘ประธานวุฒิสภา’ ขอให้ยับยั้ง-ตรวจสอบ ‘กมธ.ไอซีที’ หลังเข้าตรวจสอบคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม ‘ประธาน กสทช.’ ทั้งที่ไม่มี ‘อำนาจ’ แถมยังสรุปรายงานฯแบบ ‘จับแพะชนแกะ’-อ้างข้อกฎหมายมั่ว เชื่ออาจมีเบื้องหลัง
........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธาน ได้พิจารณารายงานการรวบรวมข้อมูลฯและข้อเสนอแนวทางการดำเนินการกรณีขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบคุณสมบัติของ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามที่ประธานวุฒิสภา มอบหมาย
โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาข้อมูลจากผู้ร้องและข้อมูลที่ได้รวบรวมจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบกับบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำให้รับฟังได้ว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และนำกราบเรียนประธานวุฒิสภา เพื่อพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายต่อไป นั้น (อ่านประกอบ : ‘กมธ.ไอซีที’วุฒิฯ แพร่บันทึกประชุม ชี้‘นพ.สรณ’มีลักษณะต้องห้าม-ขาดคุณสมบัติเป็น‘กสทช.’)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช. (ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในเรื่องนี้ ประธาน กสทช. ได้ทำหนังสือกราบเรียนไปประธานวุฒิสภาไปแล้วว่า การดำเนินการของคณะกรรมาธิการฯชุดนี้ เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบ และไม่ได้มีอำนาจ แต่อยู่ดีๆมาสรุปชี้ขาดว่า ประธาน กสทช. มีลักษณะต้องห้ามและขาดคุณสมบัติได้อย่างไร และเป็นการสรุปที่ไม่มีเหตุผลด้วย
“ถ้าอ่านดู ก็รู้ว่า เป็นการจับแพะชนแกะ อ้างกฎหมาย อ้างอะไร ก็ไม่ถูก และทุกอบ่างมันก็ชัดเจนอยู่แล้ว ตามหนังสือที่ท่านประทาน (กสทช.) ได้ชี้แจงไป” พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าว และว่า “ส่วนที่ว่าท่านจะขาดคุณสมบัติหรือไม่นั้น ท่านประธาน กสทช. คงยืนยันเองไม่ได้ แต่ท่านได้รับการยืนยันจากคณะกรรมการสรรหาฯ และวุฒิสภาทั้งสภา อีกทั้งก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติอีก ซึ่งท่านได้ผ่านขั้นตอนต่างๆมาจนครบถ้วนแล้ว”
พ.ต.อ.ประเวศน์ ยังระบุว่า การที่คณะกรรมาธิการฯอ้างถึงมาตรา 7 และ 8 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และบอกว่า ประธาน กสทช. มีลักษณะต้องห้ามนั้น เป็นการนำข้อกฎหมายมาอ้างจนมั่วกันไปหมด และขอยืนยันว่า ประธาน กสทช. ทำตามกฎหมายทุกประการ
“เรื่องนี้ไม่ได้มีอะไร ก็เหมือนกับคราวที่แล้ว ที่คณะกรรมาธิการฯ พยายามทำรายงานว่า ท่านประธาน (กสทช.) ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เรื่องเลือกเลขาธิการ กสทช. แล้วก็ยังมีเรื่องโน่นเรื่องนี้ เยอะแยะไปหมด ซึ่งมาจากคณะกรรมาธิการฯชุดนี้เหมือนกัน คำถาม คือ เหตุใดคณะกรรมาธิการฯถึงรับเรื่องแต่เรื่องอย่างนี้ และจ้องแต่จะหาเรื่องท่านประธาน ผมก็ไม่เข้าใจ แล้วถ้าจะสืบก็ลองไปดูว่าคนยื่น คนร้อง และคนให้การแต่ละคน มีความสัมพันธ์กันอย่างไร” พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าว
พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวด้วยว่า เมื่อทุกอย่างมีชัดเจนแล้ว ประธาน กสทช. คงจะมีการใช้สิทธิดำเนินการทางกฎหมายกับคณะกรรมธิการฯชุดนี้ต่อไป เนื่องจากมองว่าการดำเนินการของคณะกรรมาธิการฯชุดนี้ อาจมีเบื้องหลัง เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯเลย เห็นได้จากข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาตั้งแต่ชุดแรกที่ไม่ได้ให้อำนาจไว้ อีกทั้งการแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯในเรื่องนี้ก็ผิด ทำผิดทุกอย่างมาตั้งแต่ต้น
"ก็ต้องดูว่าเข้าข่ายอย่างไร เช่น ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ซึ่งมีหลายช่องทางที่จะดำเนินการได้ ทั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง หรืออาจไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ได้ ซึ่งแนวทางนี้ ต้องผ่าน ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงต้องมาดูกันอีกที” พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าว และว่า “รายงานของกรรมาธิการฯชุดนี้ ไม่มีข้อมูล ฟังความข้างเดียว และหลายคดีศาลก็ชี้มาแล้วว่า ยกฟ้องท่านประธาน ท่านประธานทำถูก ก็ยังไม่หยุด”
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศ.คลินิก นพ.สรณ ได้ทำหนังสือถึง ศ.(พิเศษ) พรเพชร พิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เรื่อง ขอให้พิจารณายับยั้งและตรวจสอบการใช้อำนาจของ ประธานกรรมาธิการและคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา โดยเนื้อหาบางส่วนของหนังสือฯระบุว่า คณะกรรมาธิการฯ ไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคล และมีลักษณะปฏิบัติหน้าที่เสมือนเป็นศาล หรือเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ทั้งนี้ เนื่องจากหากพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ข้อ 78 วรรคสอง (17) ที่กำหนดอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯแล้ว พบว่า ไม่ได้กำหนดเรื่องการตรวจสอบบุคคลหรือคุณสมบัติของบุคคลแต่ประการใด ดังนั้น การรับเรื่องจาก ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ อดีตรองเลขาธิการ กสทช. ซึ่งเคยพลาดหวังตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. และทำหนังสือขอให้วุฒิสภาตรวจสอบคุณสมบัติ ประธาน กสทช. ว่า ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่นั้น จึงเป็นการจงใจขยายอำนาจหน้าที่ตนเอง และก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา
ส่วนประเด็นที่อ้างว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ ยังคงประกอบวิชาชีพแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีนั้น ข้อเท็จจริง คือ ศ.คลินิก นพ.สรณ ไม่มีสถานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของโรงพยาบาลรามาฯ ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง กสทช. นอกจากนี้ ศ.คลินิก นพ.สรณ ยังได้ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งและเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นที่มีส่วนได้เสียหรือมีประโยชน์ขัดแย้งไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ กสทช.
ขณะเดียวกัน การที่รายงานของคณะกรรมาธิการฯ อ้างว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ ได้ยินยอมให้แต่งตั้งเป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพนั้น ในความจริง คือ ศ.คลินิก นพ.สรณ ได้ปฏิเสธการรับตำแหน่งและไม่เคยปฏิบัติงานเป็นกรรมการของธนาคารกรุงเทพแต่อย่างใด แต่คณะกรรมาธิการฯจงใจที่จะบิดเบือนสรุปกล่าวหาว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ กระทำผิดฝ่าฝืนมาตรา 18 ขององค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 อีกทั้งในความเป็นจริงแล้ว ตำแหน่งกรรมการธนาคาร ก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขต้องห้ามของกฎหมายอีกด้วย ดังนั้น จึงเห็นถึงเจตนาที่ไม่สุจริต มีอคติ บิดเบือนเพื่อยัดเยียดความผิดให้ ประธาน กสทช. อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ กรณีที่มีข้อกล่าวหาว่า ในช่วงที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ สมัครเป็น กสทช. มีตำแหน่งเป็นรองคณบดีฝ่ายสวัสดิการและกิจการพิเศษ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกช่อง ‘รามาแชนแนล’ จึงมีลักษณะต้องห้าม ตรงนี้ก็เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน เพราะความจริง คือ ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย อธิการบดี รองอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดี
อีกทั้งตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายสวัสดิการและกิจการพิเศษ คณะแพทยศาสตร์ฯ ก็ไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการแบบบอกรับสมาชิกช่อง ‘รามาแชนแนล’ และมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ไม่ใช่นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจเพื่อแสวงหากำไรด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม จึงเป็นการจับแพะชนแกะโดยไม่สุจริตเพื่อกล่าวหาเท่านั้น
อ่านประกอบ :
‘กมธ.ไอซีที’วุฒิฯ แพร่บันทึกประชุม ชี้‘นพ.สรณ’มีลักษณะต้องห้าม-ขาดคุณสมบัติเป็น‘กสทช.’
ส่ง'ปธ.ศ.อุทธรณ์'วินิจฉัยเขตอำนาจศาลฯ หลังรับฟ้องคดี‘4 กสทช.’เปลี่ยน‘รักษาการเลขาฯ’มิชอบ
‘กมธ.ไอซีที-นักกฎหมาย’ชี้‘สรณ’ขาดคุณสมบัติ‘กสทช.’-‘สภาผู้บริโภค’โชว์หนังสือรับค่าตอบแทน
‘กมธ.ไอซีที’จ่อสรุปผลสอบฯลักษณะต้องห้าม‘ปธ.กสทช.’-'สรณ'ยันคุณสมบัติถูกต้องก่อนทูลเกล้าฯ
'ครป.-สภาผู้บริโภค'ออกแถลงการณ์ เรียกร้องเปิด'หลักฐาน'คุณสมบัติต้องห้าม‘ประธานฯกสทช.’
เลขาฯโชว์คำสั่ง‘สรณ’ลาออก‘รพ.รามาฯ’มีผล 8 ม.ค.65 ตอกย้ำ‘ปธ.กสทช.’ไม่มีลักษณะต้องห้าม
เลขาฯยัน‘สรณ’ไม่มีลักษณะต้องห้าม-'ม.มหิดล’แจงเป็น‘พนง.มหาวิทยาลัย’ก่อนเป็น'ปธ.กสทช.'1 วัน
‘วุฒิสภา’มีมติส่งผลศึกษาฯปมสรรหา‘เลขาฯกสทช.’ช้า ให้‘ป.ป.ช.’-สว.เผย‘นพ.สรณ’ส่อพ้นเก้าอี้
'นพ.สรณ' ร้อง ‘ปธ.วุฒิสภา’ ตรวจสอบ ‘กมธ.เทคโนโลยีฯ’ ก้าวก่าย-แทรกแซงหน้าที่ ‘ปธ.กสทช.’
ชง‘วุฒิสภา’ 1 เม.ย.ถกผลศึกษาฯปมแต่งตั้ง‘เลขาธิการ กสทช.’ล่าช้า-เสนอ‘ป.ป.ช.’เปิดไต่สวนฯ
จับตาถกบอร์ด กสทช.เคาะชื่อ‘เลขาธิการฯ’คนใหม่ ส่อวุ่น-พบชงหนังสือ‘ไตรรัตน์’ค้าน 4 กก.โหวต
บรรจุเป็นวาระพิเศษ! ‘ประธาน กสทช.’นัด‘กรรมการ’ถกแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’คนใหม่ 17 ม.ค.นี้