‘พาณิชย์’ เผยส่งออกไทยเดือน ธ.ค.66 เติบโต 4.7% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือน 5 ส่วนตัวเลขทั้งปี 66 ติดลบ 1% ตั้งเป้าปี 67 ส่งออกขยายตัว 1-2% จับตาปัญหา ‘เศรษฐกิจจีน-ทะเลแดง’
................................
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ธ.ค.2566 ว่า การส่งออกไทยในเดือน ธ.ค.2566 มีมูลค่า 22,791.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 21,818.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในเดือน ธ.ค.2566 ไทยเกินดุลการค้า 972.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า การส่งออกไทยในเดือน ธ.ค.2566 ขยายตัว 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายกีรติ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาการส่งออกในเดือน ธ.ค.2566 แยกเป็นกลุ่มสินค้า พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตร มีมูลค่า 1,872.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 8.3% กลับมาหดตัวในรอบ 5 เดือน ,การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่า 1,613.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.6% ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 18,205 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5% ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง
สำหรับภาพรวมการส่งออกของไทยทั้งปี 2566 (ม.ค.-ธ.ค.2566) การส่งออก มีมูลค่า 284,561.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัวที่ 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 289,754.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.8% ส่งผลให้ทั้งปี 2566 ไทยขาดดุลการค้า 5,192.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“ที่มีการคาดการณ์จากหลายๆสำนักฯว่า เราจะติดลบ 2% ขึ้นไป แต่ท้ายที่สุด จากการทำงานร่วมกับภาคเอกชนโดยตลอด ทำให้เราติดลบอยู่ที่ 1% ฟังดูโทนก็ไม่น่าดีใจอะไร แต่ในส่วนลึกของข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน เราถือว่าเราทำเต็มที่แล้ว ก็ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในใจเราก็ดีใจ ถึงแม้ว่าจะติดลบ แต่เราได้พยายามอย่างที่สุด เพื่อทำให้ติดลบน้อยที่สุด โดยในปีที่แล้ว 9.8 ล้านล้านบาท คือ ตัวเลขที่เราส่งออกได้” นายกีรติ กล่าว
ทั้งนี้ สินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยในปี 2566 (ม.ค.-ธ.ค.2566) อันดับหนึ่ง หรือ โปรดักส์แชมป์เปี้ยน ยังคงเป็นรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่าส่งออก 31,024.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 10.9% ของการส่งออกทั้งปี 2566 ขยายตัว 9% เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน มูลค่าส่งออก 17,825.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 6.3% ของการส่งออกทั้งปี 2566 โดยหดตัว 13.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน
อันดับ 3 อัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่าส่งออก 14,787.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 5.2% ของการส่งออกทั้งปี 2566 หดตัว 2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ,อันดับ 4 ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่าส่งออก 13,248.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 4.7% ของการส่งออกทั้งปี 2566 หดตัว 4.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน และอันดับ 5 น้ำมันสำเร็จรูป มูลค่าส่งออก 10,213.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 3.6% ของการส่งออกทั้งปี 2566 ขยายตัว 0.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ส่วนตลาดส่งออก 5 อันดับแรกของไทยในปี 2566 อันดับ 1 สหรัฐ มูลค่าส่งออก 48,864.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 17.2% ของตลาดส่งออกทั้งหมด ขยายตัว 2.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ,อันดับ 2 จีน มูลค่าส่งออก 34,164.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 12% ของตลาดส่งออกทั้งหมด หดตัว 0.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ,อันดับ 3 ญี่ปุ่น มูลค่าส่งออก 24,669.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 8.7% ของตลาดส่งออกทั้งหมด ขยายตัว 0.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน
อันดับ 4 ออสเตรเลีย มูลค่าส่งออก 12,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 4.3% ของตลาดส่งออกทั้งหมด ขยายตัว 8.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน และอันดับ 5 มาเลเซีย มูลค่าส่งออก 11,874.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 4.2% ของตลาดส่งออกทั้งหมด หดตัว 6.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน
นายกีรติ กล่าวว่า เมื่อเทียบการส่งออกไทยกับประเทศอื่นๆทั้งปี 2566 พบว่า ไทยติดลบน้อยที่สุด คือ ติดลบ 1% ขณะที่อินโดนีเซีย ติดลบ 11.3% , มาเลเซีย ติดลบ 11.1% , ไต้หวัน ติดลบ 9.8% ,สิงคโปร์ ติดลบ 7.7% , เกาหลีใต้ ติดลบ 7.5% ,เวียดนาม ติดลบ 4.8% ,อินเดีย ติดลบ 4.7% ,จีน ติดลบ 4.6% และญี่ปุ่น ติดลบ 3.9% นอกจากนี้ ในเดือน ธ.ค.2566 การส่งออกในหลายประเทศยังคงมีโมเมนตัมฟื้นตัว เช่น ไต้หวัน เวียดนาม เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย
นายกีรติ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการทำงานในปี 2567 โดยตั้งเป้าจะทำให้การส่งออกในปีนี้ ขยายตัว 1-2% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี มีปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกไทยในปี 2567 เช่น เศรษฐกิจจีน ที่ยังคงมีปัญหาต่างๆ อาทิ ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง เป็นต้น รวมถึงปัญหาในทะเลแดงที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่ง
ส่วนปัจจัยสนับสนุนการส่งออกไทยในปี 2567 เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่บรรเทาลง และการสิ้นสุดการใช้นโยบายการเงินตึงตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่งผลดีต่อปริมาณการค้าโลกให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจากการสำรองสินค้าเกษตรและอาหารตามความมั่งคงทางอาหารและการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก
“เราจะใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะทำให้ได้ 1-2% แต่ในใจลึกๆเราก็รู้ว่า คงยาก ด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้น แต่ได้บอกเจ้าหน้าที่ คนที่ทำงาน เราต้องสู้ให้ถึงที่สุดที่จะทำให้ตัวเลขมันโอเค และอย่างที่ทราบ การส่งออกยังเป็นเส้นเลือดหลักของจีดีพีของประเทศไทย” นายกีรติ กล่าว
อ่านประกอบ :
ส่งออก พ.ย.66 โต 4.9% ขยายตัวเป็นเดือนที่ 4 หวังทั้งปีลบน้อยกว่า 1%-ตั้งเป้าปีหน้า 1.99%
ขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยส่งออกไทย ต.ค.66 โต 8%-มองทั้งปีติดลบแค่ 1%
บวกเป็นเดือนที่ 2! ส่งออกไทย ก.ย.66 เติบโต 2.1%-จับตาสงคราม‘อิสราเอล-ฮามาส’ขยายวง
พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน! ส่งออกไทย ส.ค.66 ขยายตัว 2.6%-8 เดือนแรกปีนี้หดตัว 4.5%
หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยส่งออก ก.ค.66 ติดลบ 6.2%-7 เดือนแรกปีนี้ดิ่ง 5.5%
เศรษฐกิจคู่ค้าซบเซา! ส่งออก มิ.ย.ติดลบ 6.4% หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน-‘พาณิชย์’ปลอบอย่าตกใจ
หดตัวเป็นเดือนที่ 8! ส่งออก พ.ค.66 ลบ 4.6%-พณ.มอง‘ศก.โลกฟื้น-บาทอ่อน’คงเป้าทั้งปีโต1-2%
หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 7! 'พาณิชย์'เผยส่งออกไทย เม.ย.66 ติดลบ 7.6%-ยอด 4 เดือนร่วง 5.2%
‘พาณิชย์’ เผยส่งออก มี.ค.66 ติดลบ 4.2% หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 6-ตัวเลขนำเข้าดิ่ง 7.1%
ติดลบต่อเป็นเดือนที่ 5! ส่งออก ก.พ.66 หดตัว 4.7%-2 เดือนแรกไทยขาดดุลฯ 5.7 พันล้านดอลล์