‘พาณิชย์’ เผยส่งออก ก.ย.66 เติบโต 2.1% ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง แต่ 9 เดือน ยังหดตัว 3.6% มองโมเมนตัม ‘เศรษฐกิจโลก’ อยู่ทิศทางที่ดี-ค่าเงินบาททรงตัว-คู่ค้าสั่งซื้อของรับช่วงเทศกาล หนุนส่งออกในช่วง 3 เดือนสุดท้ายปีนี้เติบโตดี จับตาสงคราม‘อิสราเอล-ฮามาส’ ขยายวง กระทบต่อการขนส่ง
........................................
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ก.ย. 2566 และ 9 เดือนแรกของปี 2566 ว่า การส่งออกไทยในเดือน ก.ย.2566 มีมูลค่า 25,476.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,383.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 8.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในเดือน ก.ย.2566 ไทยเกินดุลการค้า 2,092.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกไทยในเดือน ก.ย.2566 ขยายตัวที่ 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายกีรติ ระบุว่า เมื่อพิจารณาการส่งออกในเดือน ก.ย.2566 แยกเป็นกลุ่มสินค้า พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตร มีมูลค่า 2,371.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 17.7% โดยขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง ,การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่า 1,827.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.4% โดยกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 20,213.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 0.3% ซึ่งกลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า
สำหรับภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.2566) นั้น การส่งออก มีมูลค่า 213,069.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกจะหดตัวที่ระดับ 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 218,902.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6% ขณะที่ 9 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 5,832.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“(ในช่วง 9 เดือนแรก) มีเรา (ไทย) กับเวียดนามที่เริ่มกลับมาเป็นบวก ในขณะที่ผู้ส่งออกรายสำคัญๆแม้ว่าจะยังติดลบอยู่ แต่ถ้าดูแนวโน้มจะพบว่า ทั้งกระดานติดลบน้อยลง นั่นแสดงให้เห็นว่าตอนนี้โมเมนตัมเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศน่าจะโอเคขึ้น แล้วของเราก็บวก 2 เดือนต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่ได้สูงมากนักก็ตาม แต่เป็นสัญญาณที่ทำให้เห็นได้ว่า โมเมนตัมด้านต่างๆของเศรษฐกิจโลก มีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น” นายกีรติ กล่าว
นายกีรติ ระบุด้วยว่า การส่งออกในเดือน ก.ย.2566 ที่มีมูลค่า 25,476.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นั้น เป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเดือน ก.ย. ในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2561-2565) ซึ่งมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยที่ระดับ 21,782 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสูงกว่ามูลค่าการส่งออกเฉลี่ยรายเดือนในช่วงก่อนโควิด หรือเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2558-2562) ซึ่งมีมูลค่าส่งออกที่ 19,426 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน
นายกีรติ กล่าวว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกในเดือน ก.ย.2566 และในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ได้แก่ การจับมือร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการผลักดันและแก้ไขอุปสรรคการค้าต่างๆ ,ภาวะภัยแล้งที่ส่งผลให้ต่างประเทศเร่งนำเข้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต และการส่งออกได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนในเดือน ก.ย.2566
ส่วนปัจจัยท้าทาย เช่น อุตสาหกรรมการผลิตของโลกที่ยังคงเปราะบาง ,การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงทั่วโลก ซึ่งจะกดดันอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า และเสี่ยงในด้านภูมิรัฐศาสตร์และความขัดแย้งระหว่างประเทศ อาทิ หากสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสมีการขยายวงออกไป ก็จะมีผลกระทบต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะหากมีการปิดกั้นช่องทางการขนส่งต่างๆ แต่หากสงครามไม่ขยายวงก็ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก
“ตามทิศทางที่ควรจะเป็นในช่วง 3 เดือนที่เหลือ ตัวเลข (ส่งออก) เราน่าจะดีขึ้น แต่หลังจากปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหา เช่น เรื่องเกี่ยวกับการขนส่ง โดยเรามีสัดส่วนการส่งออกไปอิสราเอลน้อยมาก หรือคิดเป็น 0.02-0.03% ของการส่งออกทั้งหมด แต่แน่นอนว่าจะมีผลทางจิตวิทยาต่อตลาดบ้าง และถ้าสงครามยังขีดวงอยู่และไม่ลุกลาม ผมเชื่อมั่นว่าทิศทางการส่งออกในช่วง 3 เดือนจะดีขึ้น” นายกีรติ ระบุ
นายกีรติ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกทั้งปี 2566 ไม่น่ากลับมาเป็นบวกได้ แม้ว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ จะมีคำสั่งซื้อจากคู่ค้าเข้ามามากเพื่อใช้ในช่วงเทศกาล รวมถึงมีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบัน ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกไทย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออกทั้งปี 2566 น่าจะติดลบน้อยกว่าที่หลายสำนักเศรษฐกิจคาดการณ์ไว้ และเราตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้ตัวเลขการส่งออกติดลบน้อยที่สุด
“เมื่อทรงมาประมาณนี้แล้ว เราก็จะทำให้ติดลบน้อยที่สุด แต่เป้าหมายการส่งออกที่บอกว่าจะเติบโต 1% นั้น เป็นเป้าหมายในการทำงาน ซึ่งถ้าเราทำเต็มที่แล้ว ไม่ว่าตัวเลขจะบวกหรือจะลบ เราก็ไม่เสียใจ แต่ ณ ขณะนี้เราจะทำให้ติดลบน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้” นายกีรติ กล่าว
อ่านประกอบ :
พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน! ส่งออกไทย ส.ค.66 ขยายตัว 2.6%-8 เดือนแรกปีนี้หดตัว 4.5%
หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยส่งออก ก.ค.66 ติดลบ 6.2%-7 เดือนแรกปีนี้ดิ่ง 5.5%
เศรษฐกิจคู่ค้าซบเซา! ส่งออก มิ.ย.ติดลบ 6.4% หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน-‘พาณิชย์’ปลอบอย่าตกใจ
หดตัวเป็นเดือนที่ 8! ส่งออก พ.ค.66 ลบ 4.6%-พณ.มอง‘ศก.โลกฟื้น-บาทอ่อน’คงเป้าทั้งปีโต1-2%
หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 7! 'พาณิชย์'เผยส่งออกไทย เม.ย.66 ติดลบ 7.6%-ยอด 4 เดือนร่วง 5.2%
‘พาณิชย์’ เผยส่งออก มี.ค.66 ติดลบ 4.2% หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 6-ตัวเลขนำเข้าดิ่ง 7.1%
ติดลบต่อเป็นเดือนที่ 5! ส่งออก ก.พ.66 หดตัว 4.7%-2 เดือนแรกไทยขาดดุลฯ 5.7 พันล้านดอลล์
ติดลบเป็นเดือนที่ 4 ! ส่งออก ม.ค.66 หด 4.5%-ขาดดุลการค้า 4.6 พันล.ดอลล์สูงสุดในรอบ 10 ปี
ติดลบเป็นเดือนที่ 3! ส่งออก ธ.ค.65 หด 14.6% ทั้งปียังโต 5.5%-ตั้งเป้าปี 66 ขยายตัว 1-2%
หดตัวเป็นเดือนที่ 2! ส่งออก พ.ย.ลบ 6% เจอ 3 ปัจจัยฉุด'ศก.โลกชะลอ-เงินเฟ้อสูง-สงครามไม่จบ'
ติดลบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยส่งออก ต.ค.65 หดตัว 4.4%-10 เดือนเติบโต 9.1%