‘พาณิชย์’ เผยส่งออกไทยเดือน ส.ค.66 ขยายตัว 2.6% พลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน เผยภาพรวม 8 เดือนปีนี้ ยังหดตัว 4.5%
........................................
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ส.ค. และ 8 เดือนแรกของปี 2566 ว่า การส่งออกไทยในเดือน ส.ค.2566 มีมูลค่า 24,279.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,919.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 12.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในเดือน ส.ค.2566 ไทยเกินดุลการค้า 359.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกไทยในเดือน ส.ค.2566 ขยายตัวที่ 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“การส่งออกในเดือน ส.ค.2566 ที่ขยายตัวได้ 2.6% นั้น นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 11 เดือน” นายกีรติ กล่าว
สำหรับปัจจัยสนับสนุนการส่งออกในเดือน ส.ค.2566 เช่น 1.สินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่ผลักดันให้การส่งออกในภาพรวมขยายตัว ซึ่งการส่งออกสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศหมุนเวียนดีขึ้น และ 2.การตระหนักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงทำให้มีการสั่งซื้อหรือส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่มีส่วนช่วยให้เกิดการผลิตพลังงานทางเลือก เป็นต้น
ส่วนปัจจัยท้าทาย เช่น ผู้บริโภคและภาคธุรกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการลงทุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น และภาคการผลิตโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัวลง เป็นต้น
นายกีรติ ระบุด้วยว่า เมื่อพิจารณาการส่งออกสินค้าเดือน ส.ค.2566 แยกเป็นกลุ่มสินค้า พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตร มีมูลค่า 2,217.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.2% โดยกลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน ,การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่า 1,815.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 7.6% โดยเป็นการหดตัว 5 เดือนต่อเนื่อง และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 19,159.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.5% โดยกลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน
“มีเราคนเดียวที่เป็นบวก อย่างมาเลเซียติดลบ 2 หลัก และติดลบเกิน 20% แล้ว ซึ่งทำให้เห็นว่าผู้ส่งออกเราไม่ธรรมดาในการรักษาตลาด และมูลค่าในการส่งออก ท่ามกลางปัจจัยรุมเร้าหลายเรื่อง ซึ่งจริงๆแล้ว ผมไม่ตื่นเต้นกับ 2.6% ที่บวกขึ้นมาเท่าไหร่นัก แต่สนใจในเรื่องมูลค่าการส่งออกมากกว่า โดยในเดือน ส.ค. เราส่งออกได้ 23,672 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าค่าเฉลี่ยเดือน ส.ค.ในปี 2561-65 ที่มีมูลค่า 22,121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สิ่งเหล่านี้เป็นตัวที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจเรายังเดินได้ เรามีเชื่อมั่นที่จะเดินต่อไป แล้วผมก็คิดว่าเศรษฐกิจเราไม่ได้แย่มากถึงขนาดต้องมีความกังวล เพราะตัวเลขการส่งออกในเชิงมูลค่ายังไปได้ และสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะปัจจัยที่รุมเร้าเข้ามาขนาดนี้ ยังทำได้เกือบ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งผมคิดว่าโอเค และความร่วมไม้ร่วมมือของทุกภาคส่วนในการผลักดันการส่งออกนั้น ผมคิดว่าเรามาถึงจุดนี้ได้ถือว่า โอเคเลย” นายกีรติกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารเผยแพร่ของกระทรวงพาณิชย์ ได้ระบุว่า การส่งออกของไทยในเดือน ส.ค.2566 ที่พลิกกลับมาขยายตัวในรอบ 11 เดือน โดยขยายตัว 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นั้น มาจากแรงหนุนจากสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลกที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า แม้ว่าจะยังอยู่ระดับต่ำกว่าปกติ การใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตามภาคบริการของประเทศคู่ค้าที่ขยายตัว ส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่อง
รวมทั้งการส่งเสริมนโยบายพลังงานสะอาดและความต้องการสินค้าเทคโนโลยี ทำให้หมวดสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาทในระดับที่เหมาะสมส่งผลดีต่อการส่งออก ตลาดคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวได้ดี อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้ โดยการส่งออกของไทยในเดือน ส.ค.2566 ยังทำได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และกลับมาเกินดุลการค้าอีกครั้ง
นายกีรติ ระบุว่า สำหรับภาพรวมการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ส.ค.2566) นั้น การส่งออกมีมูลค่า 187,593.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกจะหดตัว 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 195,518.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 5.7% ขณะที่ 8 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 7,925.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายกีรติ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกในเดือน ก.ย.2566 ว่า ยังคงต้องติดตามว่าการส่งออกจะเป็นบวกต่อเนื่องหรือไม่ แต่ก็มีข้อสังเกตว่ามูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ย.ปีที่แล้วนั้น มีฐานที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกไทยในเดือน ต.ค.-ธ.ค.2566 ซึ่งเป็น 3 เดือนสุดท้ายของปี 2566 นั้น น่าจะเห็นตัวเลขการส่งออกออกมาดี เพราะช่วงดังกล่าวถือเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อเข้ามามาก ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักรของการสั่งซื้อ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนส์ด้านพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีดิจิทัลมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดี ส่วนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในช่วงปลายปีมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลเฉลิมฉลองในประเทศคู่ค้า
สำหรับภาพรวมตลาดส่งออกเริ่มเห็นการฟื้นตัวของตลาดหลัก อย่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น กลับมาบวก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี และตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากการคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงยาวนานที่จะชะลอการผลิตและการบริโภคสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น ภาวะภัยแล้งที่อาจจะกระทบต่อผลผลิตเพื่อการส่งออก และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกแทบทั้งสิ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
อ่านประกอบ :
หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยส่งออก ก.ค.66 ติดลบ 6.2%-7 เดือนแรกปีนี้ดิ่ง 5.5%
เศรษฐกิจคู่ค้าซบเซา! ส่งออก มิ.ย.ติดลบ 6.4% หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน-‘พาณิชย์’ปลอบอย่าตกใจ
หดตัวเป็นเดือนที่ 8! ส่งออก พ.ค.66 ลบ 4.6%-พณ.มอง‘ศก.โลกฟื้น-บาทอ่อน’คงเป้าทั้งปีโต1-2%
หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 7! 'พาณิชย์'เผยส่งออกไทย เม.ย.66 ติดลบ 7.6%-ยอด 4 เดือนร่วง 5.2%
‘พาณิชย์’ เผยส่งออก มี.ค.66 ติดลบ 4.2% หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 6-ตัวเลขนำเข้าดิ่ง 7.1%
ติดลบต่อเป็นเดือนที่ 5! ส่งออก ก.พ.66 หดตัว 4.7%-2 เดือนแรกไทยขาดดุลฯ 5.7 พันล้านดอลล์
ติดลบเป็นเดือนที่ 4 ! ส่งออก ม.ค.66 หด 4.5%-ขาดดุลการค้า 4.6 พันล.ดอลล์สูงสุดในรอบ 10 ปี
ติดลบเป็นเดือนที่ 3! ส่งออก ธ.ค.65 หด 14.6% ทั้งปียังโต 5.5%-ตั้งเป้าปี 66 ขยายตัว 1-2%
หดตัวเป็นเดือนที่ 2! ส่งออก พ.ย.ลบ 6% เจอ 3 ปัจจัยฉุด'ศก.โลกชะลอ-เงินเฟ้อสูง-สงครามไม่จบ'
ติดลบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยส่งออก ต.ค.65 หดตัว 4.4%-10 เดือนเติบโต 9.1%