‘พาณิชย์’ เผยส่งออก ก.ค.66 ติดลบ 6.2% หดตัว 10 เดือนต่อเนื่อง เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว-ฐานปีที่แล้วสูง ขณะที่ 7 เดือนแรกปีนี้ ส่งออกไทยติดลบ 5.5%
......................................
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ก.ค. 2566 ว่า การส่งออกไทยในเดือน ก.ค.2566 มีมูลค่า 22,143.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,121.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 11.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในเดือน ก.ค.2566 ไทยขาดดุลการค้า มูลค่า 1,977.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกไทยในเดือน ก.ค.2566 หดตัวที่ 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายกีรติ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาการส่งออกสินค้าเดือน ก.ค.2566 แยกเป็นกลุ่มสินค้า พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตร มีมูลค่า 2,162.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 7.7% โดยหดตัว 3 เดือนต่อเนื่อง ,การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่า 1,823.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 11.8% โดยเป็นการหดตัว 4 เดือนต่อเนื่อง และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 17,364.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.4% โดยเป็นการหดตัว 2 เดือนต่อเนื่อง
“ถ้าดูมูลค่าส่งออกในเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว พบว่าฐานสูงมาก โดยมีมูลค่า 23,613 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น เมื่อมูลค่าส่งออกในเดือน ก.ค.2566 ออกมาที่ 22,143.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขส่งออกที่ออกมาจึงติดลบ 6.2% อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค.2566 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือน ก.ค.ในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2561-2565) ซึ่งอยู่ที่ 21,333 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงถือว่าเราไม่ได้แย่” นายกีรติ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า การส่งออกไทยเดือน ก.ค.2566 ที่หดตัว 6.2% นั้น นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 แล้ว หรือนับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 เป็นต้นมา
โดยในเดือน ต.ค.2565 การส่งออกหดตัว 4.4% ,เดือน พ.ย.2565 การส่งออกหดตัว 6% ,เดือน ธ.ค.2565 การส่งออกหดตัว 14.6% ,เดือน ม.ค.2566 การส่งออกหดตัว 4.5% ,เดือน ก.พ.2566 การส่งออกหดตัว 4.7% ,เดือน มี.ค.2566 การส่งออกหดตัว 4.2% ,เดือน เม.ย.2566 การส่งออกหดตัว 7.6% ,เดือน พ.ค.ที่การส่งออกหดตัว 4.6% และเดือน มิ.ย.2566 การส่งออกหดตัว 6.4%
ส่วนภาพรวมการส่งออกไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.2566) พบว่าการส่งออกไทย มีมูลค่า 163,313.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกจะหดตัว 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 171,598.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.1% ขณะที่ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 8,285.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายกีรติ ระบุด้วยว่า “ถ้าฟังจากโทนข่าว จะบอกว่าติดลบต่อเนื่องหลายเดือน แต่อย่างที่เน้นย้ำ ในปีที่แล้วฐานมันสูง ซึ่งในมุมของกระทรวงฯและภาคเอกชนเอง ผมมองว่า ด้วยปัจจัยต่างๆที่รุมเร้าเข้ามา เราได้ตัวเลข (มูลค่าส่งออก) ที่ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ไม่ได้ถือว่าแย่ และถ้าดูประเทศอื่นๆ มันติดลบทั้งหมดเลย ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศเราติดลบน้อยกว่าเขา ที่พูดมาไม่ได้หมายความว่าเราดีจังเลย
แต่กำลังจะบอกว่า เราใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในช่วง 7 เดือน เพื่อพยุงตัวเลข ซึ่งแม้ว่าดูแล้วจะติดลบทั้งหมด แต่ก็ยังดีกว่าคนอื่นๆ ในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ แล้วเราก็เชื่อมั่นว่า สิ่งที่เราทำ เป็นความพยายามที่ใส่เข้าไปใน 7 เดือนแรก แล้วออกมาประมาณนี้ กระทรวงพาณิชย์พอใจ ถึงแม้ว่ามันจะติดลบ แล้วถ้าถามว่าอีก 4-5 เดือนที่เหลือจะเป็นอย่างไรบ้าง ก็ต้องบอกว่า เราใส่ความพยายามอย่างเต็มที่ที่สุด และอย่างน้อยมันก็ไม่เกลียดจนเกินไป
ส่วนเป้าหมายการทำงานที่ตั้งเป้าให้การส่งออกขยายตัวได้ที่ 1-2% นั้น เราจะพยายามทำให้ถึง ถึงแม้ว่าสภาพต่างๆจะยาก ซึ่งถ้าจะทำให้การส่งออกปีนี้ไม่ติดลบเลย หรือเติบโต 0% นั้น ในแต่ละเดือน เราต้องมีมูลค่าการส่งออก 2.48 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าจะให้เป็นบวก 0.5% เราต้องให้แต่ละเดือนตัวเลขเฉลี่ยออกมาไม่ต่ำกว่า 2.51 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ถามว่ายากไหม ก็ต้องบอกว่า เป็นงานที่ท้าทาย แต่จะพยายาม”
นายกีรติ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยสนับสนุนการส่งออกไทยในระยะถัดไป ได้แก่ การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดของแต่ละประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มโซลาร์เซลล์และสินค้าต่อเนื่อง ,คำสั่งซื้อรถยนต์ที่ยังมีเข้ามาต่อเนื่อง และการคลี่คลายของปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกไทย ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจซบเซา ต้นทุนในด้านพลังงานที่ยังเป็นประเด็นอยู่ และกำลังซื้อของประเทศนำเข้าที่ขยายตัวน้อยลง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานเพิ่มเติมว่า จากเอกสารข่าวของกระทรวงพาณิชย์ที่เผยแพร่ในวันเดียวกันนั้น กระทรวงฯ ประเมินว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว การผลิตและการบริโภคชะลอลง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า และความผันผวนของค่าเงิน
แต่คาดว่าฐานที่ต่ำในช่วงปลายปี ภาคบริการของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว และอานิสงส์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ทำให้คู่ค้าหันมานำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางตัวจากไทยทดแทนตลาดจีนมากขึ้น ขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าในหมวดอาหารที่เป็นสินค้าจำเป็น มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยหลายประเทศเพิ่มการนำเข้าเพื่อรักษาความมั่นคงทางด้านอาหาร
ขณะที่การขนส่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในเส้นทางใหม่ผ่านรถไฟไทย-ลาว-จีน จะช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ได้
อ่านประกอบ :
เศรษฐกิจคู่ค้าซบเซา! ส่งออก มิ.ย.ติดลบ 6.4% หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน-‘พาณิชย์’ปลอบอย่าตกใจ
หดตัวเป็นเดือนที่ 8! ส่งออก พ.ค.66 ลบ 4.6%-พณ.มอง‘ศก.โลกฟื้น-บาทอ่อน’คงเป้าทั้งปีโต1-2%
หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 7! 'พาณิชย์'เผยส่งออกไทย เม.ย.66 ติดลบ 7.6%-ยอด 4 เดือนร่วง 5.2%
‘พาณิชย์’ เผยส่งออก มี.ค.66 ติดลบ 4.2% หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 6-ตัวเลขนำเข้าดิ่ง 7.1%
ติดลบต่อเป็นเดือนที่ 5! ส่งออก ก.พ.66 หดตัว 4.7%-2 เดือนแรกไทยขาดดุลฯ 5.7 พันล้านดอลล์
ติดลบเป็นเดือนที่ 4 ! ส่งออก ม.ค.66 หด 4.5%-ขาดดุลการค้า 4.6 พันล.ดอลล์สูงสุดในรอบ 10 ปี
ติดลบเป็นเดือนที่ 3! ส่งออก ธ.ค.65 หด 14.6% ทั้งปียังโต 5.5%-ตั้งเป้าปี 66 ขยายตัว 1-2%
หดตัวเป็นเดือนที่ 2! ส่งออก พ.ย.ลบ 6% เจอ 3 ปัจจัยฉุด'ศก.โลกชะลอ-เงินเฟ้อสูง-สงครามไม่จบ'
ติดลบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยส่งออก ต.ค.65 หดตัว 4.4%-10 เดือนเติบโต 9.1%