พาณิชย์’ เผยส่งออกไทยเดือน ต.ค.66 เติบโต 8% ขยายตัวมากสุดในรอบ 13 เดือน หลังอุปสงค์ต่างประเทศทยอยฟื้นตัวในช่วงเทศกาลปลายปี-เงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกเริ่มลดลง มองอีก 2 เดือนที่เหลือ ยังเป็นบวก คาดทั้งปี 66 ส่งออกน่าจะลบแค่ 1%
..........................................
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ต.ค.2566 ว่า การส่งออกไทยในเดือน ต.ค.2566 มีมูลค่า 23,578.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 เดือน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,411.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในเดือน ต.ค.2566 ไทยขาดดุลการค้า 832.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกไทยในเดือน ต.ค.2566 ขยายตัวที่ 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายกีรติ ระบุว่า เมื่อพิจารณาการส่งออกในเดือน ต.ค.2566 แยกเป็นกลุ่มสินค้า พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตร มีมูลค่า 2,152.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 12.3% โดยขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง ,การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่า 1,787.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.9% ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 18,393.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.4% ซึ่งกลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า
สำหรับภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.2566) นั้น การส่งออก มีมูลค่า 236,648.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกจะหดตัวที่ระดับ 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 243,313.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.6% ขณะที่ 10 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 6,665.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“หลายๆประเทศเริ่มตีกลับจากลบมาเป็นบวก โดยมีไทยอยู่ในแถวหน้า บวก 8% ในเดือน ต.ค.2566 และจะเห็นว่าสิงคโปร์ อินเดีย เวียดนาม และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศส่งออกที่สำคัญ เริ่มมีการขยับมาในแดนบวกเหมือนกับเราแล้ว ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณอย่างหนึ่งว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มมีการขยับไปในทิศทางที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าในภาพใหญ่ ม.ค.-ต.ค.2566 การส่งออกยังติดลบกันอยู่ถ้วนหน้า แต่จะเห็นได้ว่าของเราติดลบน้อยที่สุด โดยติดลบ 2.7%
ในขณะที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย จีน และอินโดนีเซีย การส่งออกในเดือน ต.ค.ยังติดลบอยู่ นั่นแสดงให้เห็นว่าศักยภาพของผู้ส่งออกของเราไม่ได้น้อยหน้า เราสามารถทำให้อัตราการขยายตัวเริ่มดีดกลับมาเป็นบวก 3 เดือนติดต่อกัน โดยเฉพาะเดือน ต.ค.2566 ที่บวกเยอะ และเราค่อนข้างเชื่อมั่นว่าในเดือน พ.ย.และ ธ.ค.ก็ยังเป็นบวก เพราะเป็นไปตามฤดูกาล ประกอบกับกระทรวงฯมีนโยบายจับมือกับเอกชนในการเร่งผลักดันการส่งออก” นายกีรติ กล่าว
นายกีรติ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกในเดือน ต.ค.2566 และในระยะถัดไป ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหารยังคงช่วยสนับสนุนการส่งออกให้ขยายตัวต่อเนื่อง ,ประเทศคู่ค้าเริ่มทยอยสั่งซื้อสินค้าเพื่อรองรับการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่ ,สินค้าที่เกี่ยวข้องและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดยังขยายตัวสูง และการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
ส่วนปัจจัยกดดันการส่งออก เช่น อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง อาจส่งผลกดดันอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าในระยะข้างหน้า เป็นต้น
นายกีรติ ย้ำว่า “ถามว่าทั้งปีจะเป็นเท่าไหร่ ก็คงต้องรอ 2 เดือนนี้ (พ.ย. และ ธ.ค.2566) ก่อน ซึ่งเรายังคิดว่าน่าจะลบน้อยที่สุด แต่ถ้าฝันว่าไปทั้งปีแล้วจะบวก คงยากนิดหนึ่ง ตอนนี้ยังลบ 2.7% อยู่ ซึ่งสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า คาดว่าจะลบ 1% ลบน้อยกว่าที่หลายๆสำนักคาดการณ์ไว้ โดยสำนักอื่นๆคาดว่าจะลบ 2% แต่เราคาดว่าน่าจะลบ 1% และถือเป็นข่าวดีว่าโมเมนตัมในเรื่องการค้าระหว่างประเทศน่าจะฟื้นตัวกลับมา แม้ว่าจะไม่อู้ฟู่เหมือนสมัยก่อนๆ”
นายกีรติ ระบุว่า สำหรับการส่งออกในปี 2567 นั้น กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 2%
@ส่งออกโตเกินคาด-สินค้าสำคัญหลายตัวกลับมาเป็นบวก
ขณะที่เอกสารข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกของไทย ต.ค.2566 ขยายตัวมากกว่าที่คาดและมากกว่าหลายประเทศในอาเซียน รวมทั้งมีสัญญาณฟื้นตัวในหลายสินค้าสำคัญที่กลับมาเป็นบวกหรือหดตัวชะลอลง อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารสัตว์เลี้ยง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่ทยอยฟื้นตัวในช่วงเทศกาลปลายปี
ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกเริ่มลดลง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับสูง แต่เริ่มมีสัญญาณใกล้ยุติมาตรการคุมเข้มทางการเงินโดยเฉพาะสหรัฐฯ ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีนเริ่มส่งผล โดยตัวเลขการบริโภคและการลงทุนของจีนเริ่มฟื้นตัวขึ้น สำหรับสถานการณ์อิสราเอลและฮามาสยังคงอยู่ในวงจำกัดจึงยังไม่กระทบต่อการส่งออกภาพรวม
“กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในช่วงสุดท้ายของปีจะขยายตัวเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง สอดรับกับแรงกดดันด้านราคาที่ค่อยๆ ลดลง เนื่องจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัว และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาส ที่หากขยายวงกว้างอาจจะกระทบต่อราคาน้ำมันและต้นทุนการขนส่ง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศการค้าโลกที่กำลังกลับมาฟื้นตัว” เอกสารข่าวกระทรวงพาณิชย์ระบุ
ทั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้ทำแผนเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อผลักดันการส่งออก โดยจะดำเนินกิจกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวม 73 กิจกรรม คาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้กว่า 12,400 ล้านบาท กิจกรรมสําคัญ เช่น การจัดเจรจาธุรกิจออนไลน์ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การจัดคณะผู้แทนการค้าไปเยือนงานแสดงสินค้า China International Import Expo (CIIE 2023) ที่นครเซี่ยงไฮ้
การนําผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เช่น Automechanika ที่ดูไบ American Film Market ที่สหรัฐฯ Anuga และ Medica ที่เยอรมนี รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้า TOP Thai บนแพลตฟอร์ม Shopee ในมาเลเซีย และ Rakuten ในญี่ปุ่น เป็นต้น
อ่านประกอบ :
บวกเป็นเดือนที่ 2! ส่งออกไทย ก.ย.66 เติบโต 2.1%-จับตาสงคราม‘อิสราเอล-ฮามาส’ขยายวง
พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน! ส่งออกไทย ส.ค.66 ขยายตัว 2.6%-8 เดือนแรกปีนี้หดตัว 4.5%
หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยส่งออก ก.ค.66 ติดลบ 6.2%-7 เดือนแรกปีนี้ดิ่ง 5.5%
เศรษฐกิจคู่ค้าซบเซา! ส่งออก มิ.ย.ติดลบ 6.4% หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน-‘พาณิชย์’ปลอบอย่าตกใจ
หดตัวเป็นเดือนที่ 8! ส่งออก พ.ค.66 ลบ 4.6%-พณ.มอง‘ศก.โลกฟื้น-บาทอ่อน’คงเป้าทั้งปีโต1-2%
หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 7! 'พาณิชย์'เผยส่งออกไทย เม.ย.66 ติดลบ 7.6%-ยอด 4 เดือนร่วง 5.2%
‘พาณิชย์’ เผยส่งออก มี.ค.66 ติดลบ 4.2% หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 6-ตัวเลขนำเข้าดิ่ง 7.1%
ติดลบต่อเป็นเดือนที่ 5! ส่งออก ก.พ.66 หดตัว 4.7%-2 เดือนแรกไทยขาดดุลฯ 5.7 พันล้านดอลล์
ติดลบเป็นเดือนที่ 4 ! ส่งออก ม.ค.66 หด 4.5%-ขาดดุลการค้า 4.6 พันล.ดอลล์สูงสุดในรอบ 10 ปี
ติดลบเป็นเดือนที่ 3! ส่งออก ธ.ค.65 หด 14.6% ทั้งปียังโต 5.5%-ตั้งเป้าปี 66 ขยายตัว 1-2%
หดตัวเป็นเดือนที่ 2! ส่งออก พ.ย.ลบ 6% เจอ 3 ปัจจัยฉุด'ศก.โลกชะลอ-เงินเฟ้อสูง-สงครามไม่จบ'
ติดลบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยส่งออก ต.ค.65 หดตัว 4.4%-10 เดือนเติบโต 9.1%