‘พาณิชย์’ เผยส่งออก พ.ค.66 ติดลบ 4.6% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ขณะที่ 5 เดือนแรกปีนี้ ส่งออกไทยติดลบ 5.1% คงเป้าหมายส่งออกทั้งปี 66 เติบโต 1-2% มองปัจจัย ‘เศรษฐกิจโลกฟื้น-บาทอ่อนค่า’ ช่วยหนุนการส่งออก
..................................
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน พ.ค. 2566 ว่า การส่งออกไทยในเดือน พ.ค.2566 มีมูลค่า 24,340.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 26,190.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในเดือน พ.ค.2566 ไทยขาดดุลการค้า มูลค่า 1,849.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกไทยในเดือน พ.ค.2566 หดตัวที่ 1.4 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ การส่งออกไทยในเดือน พ.ค.2566 ที่หดตัว 4.6% ดังกล่าว นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 โดยในเดือน ต.ค.2565 การส่งออกหดตัว 4.4% ,เดือน พ.ย.2565 การส่งออกหดตัว 6% ,เดือน ธ.ค.2565 การส่งออกหดตัว 14.6% เดือน ม.ค.2566 การส่งออกหดตัว 4.5% ,เดือน ก.พ.2566 การส่งออกหดตัว 4.7% ,เดือน มี.ค.2566 การส่งออกหดตัว 4.2% และเดือน เม.ย.2566 การส่งออกหดตัว 7.6%
นายกีรติ ระบุว่า เมื่อพิจารณาการส่งออกสินค้าไทยในเดือน พ.ค.2566 โดยแยกเป็นกลุ่มสินค้า พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตร มีมูลค่า 2,312 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 27% โดยหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ,การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่า 2,133.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 0.6% โดยเป็นการหดตัว 2 เดือนต่อเนื่อง และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 19,012.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.5% โดยเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน
สำหรับการส่งออกในเดือน พ.ค.2566 ที่หดตัวดังกล่าว เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังมีความไม่แน่นอน แม้ว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมโลกเร่งตัวขึ้นจากการผ่อนคลายปัญหาห่วงโซ่การผลิต แต่คำสั่งซื้อใหม่สำหรับการส่งออกไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคควบคุมการใช้จ่ายมากขึ้น
ขณะที่ปัจจัยท้าทายสำคัญต่อการส่งออกไทยในระยะต่อไป ได้แก่ การส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ยังคงได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีน
อย่างไรก็ดี ในส่วนปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการส่งออกไทยในเดือน พ.ค.2566 และในระยะถัดไป ได้แก่ นโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาด ซึ่งส่งดีต่อการส่งออกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ผลิตพลังงานสะอาดของไทย เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ , ความต้องการสำรองอาหารและสินค้าเกษตรในตลาดโลก และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการเดินทาง รวมถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลงมาแล้ว โดยล่าสุดเงินบาทอยู่ที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น
ส่วนภาพรวมการส่งออกไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.2566) พบว่าการส่งออกไทย มีมูลค่า 116,344.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 5.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกจะหดตัว 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 122,709.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 2.5% ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 6,365.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายกีรติ กล่าวว่า กระทรวงฯยังคงเป้าหมายการส่งออกในปี 2566 ที่ 1-2% เท่าเดิม และจะเห็นได้ว่าแม้ว่าการส่งออกในเดือน พ.ค.2566 จะหดตัว 4.6% แต่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (เม.ย.2566) ที่การส่งออกหดตัว 7.6% ในขณะที่มูลค่าส่งออกในเดือน พ.ค.2566 สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งสะท้อนถึงการปรับตัวของภาคการส่งออกไทย และหากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งจะพบว่าในเดือน พ.ค.2566 การส่งออกของประเทศคู่แข่งติดลบเป็นตัวเลข 2 หลักเป็นส่วนใหญ่
อ่านประกอบ :
หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 7! 'พาณิชย์'เผยส่งออกไทย เม.ย.66 ติดลบ 7.6%-ยอด 4 เดือนร่วง 5.2%
‘พาณิชย์’ เผยส่งออก มี.ค.66 ติดลบ 4.2% หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 6-ตัวเลขนำเข้าดิ่ง 7.1%
ติดลบต่อเป็นเดือนที่ 5! ส่งออก ก.พ.66 หดตัว 4.7%-2 เดือนแรกไทยขาดดุลฯ 5.7 พันล้านดอลล์
ติดลบเป็นเดือนที่ 4 ! ส่งออก ม.ค.66 หด 4.5%-ขาดดุลการค้า 4.6 พันล.ดอลล์สูงสุดในรอบ 10 ปี
ติดลบเป็นเดือนที่ 3! ส่งออก ธ.ค.65 หด 14.6% ทั้งปียังโต 5.5%-ตั้งเป้าปี 66 ขยายตัว 1-2%
หดตัวเป็นเดือนที่ 2! ส่งออก พ.ย.ลบ 6% เจอ 3 ปัจจัยฉุด'ศก.โลกชะลอ-เงินเฟ้อสูง-สงครามไม่จบ'
ติดลบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยส่งออก ต.ค.65 หดตัว 4.4%-10 เดือนเติบโต 9.1%