‘พาณิชย์’ เผยส่งออกไทยเดือน ม.ค.66 ติดลบ 4.5% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่ไทยขาดดุลการค้าพุ่ง 4.6 พันล้านดอลลาร์ฯ สูงสุดในรอบ 10 ปี หลังมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่ม 84%
..................................
เมื่อวันที่ 2 มี.ค. นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ม.ค.2566 ว่า การส่งออกไทยในเดือน ม.ค.2566 มีมูลค่า 20,249.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,899.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในเดือน ม.ค.2566 ไทยขาดดุลการค้า 4,649.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกไทยในเดือน ม.ค.2566 หดตัวที่ 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายสินิตย์ ระบุว่า ปัจจัยที่กดดันการส่งออกไทยในเดือน ม.ค.2566 ได้แก่ 1.อัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคในต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อสินค้าใหม่ และสินค้าฟุ่มเฟือย โดยมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น 2.ภาคการผลิตโลกหดตัว จึงลดการสั่งซื้อสินค้าที่จะนำมาใช้ภาคการผลิต เช่น เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล เป็นต้น
ส่วนปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1.ประเทศคู่ค้ามีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ที่มีการนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น 2.มีคำสั่งซื้อสินค้าในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะจีนที่มีการนำเข้าไก่สดแช่แข็งแช่เย็นเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 3.การเปลี่ยนผ่านไปใช้นโยบายพลังงานทางเลือกของประเทศคู่ค้า ทำให้มีการสั่งซื้อสินค้าพลังงานทางเลือกจากไทยเพิ่มขึ้น เช่น แผงโซล่าเซลล์
ทั้งนี้ การส่งออกในเดือน ม.ค.2566 ที่หดตัว 4.5% เป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 โดยในเดือน ต.ค.2565 การส่งออกหดตัว 4.4% เดือน พ.ย.2565 การส่งออกหดตัว 6% และเดือน ธ.ค.2565 การส่งออกหดตัว 14.6% ขณะที่การขาดดุลการค้าของไทยในเดือน ม.ค.2566 นั้น เป็นการขาดดุลการค้าที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้การนำเข้าในเดือน ม.ค.2566 ขยายตัว 5.5% มาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 80.48 ดอลลาร์สหรัฐ/ต่อบาร์เรล จากเดือนก่อนที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 77 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมันในเดือน ม.ค.2566 อยู่ที่ 5,262 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งมีการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบเพิ่มขึ้น
นายชาญชัย เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว และการขาดความเชื่อมั่นในตลาดโลกที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน ก.ย.2566 จนถึง ธ.ค.2565 นั้น ส่งผลให้การส่งออกไทยในเดือน ม.ค.2566 ชะลอตัวลง และการชะลอตัวจะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แต่การส่งออกเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น สะท้อนได้จากดัชนีผู้ซื้อ (PMI) ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐและจีน เริ่มคงที่และเริ่มเห็นสัญญาณขยับตัวดีขึ้น
“IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนไม่น่าจะเลวร้าย และน่าจะปรับตัวสูงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งอันนี้เป็นตัวแปรสำคัญ และการเร่งฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน จะมีผลอย่างมากต่อการส่งออกของประเทศไทย โดยไตรมาส 2 เศรษฐกิจจีนน่าจะปรับตัวเป็นรูปเป็นร่าง” นายชาญชัย ระบุ
อ่านประกอบ :
ติดลบเป็นเดือนที่ 3! ส่งออก ธ.ค.65 หด 14.6% ทั้งปียังโต 5.5%-ตั้งเป้าปี 66 ขยายตัว 1-2%
หดตัวเป็นเดือนที่ 2! ส่งออก พ.ย.ลบ 6% เจอ 3 ปัจจัยฉุด'ศก.โลกชะลอ-เงินเฟ้อสูง-สงครามไม่จบ'
ติดลบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยส่งออก ต.ค.65 หดตัว 4.4%-10 เดือนเติบโต 9.1%
‘พาณิชย์’ เผยส่งออกไทย ก.ย.65 ขยายตัว 7.8%-‘จุรินทร์’ ขยับเป้าทั้งปีเป็นเติบโต 8%
'พาณิชย์'เผยส่งออก ส.ค.65 ขยายตัว 7.5%-8 เดือนแรกไทยขาดดุลการค้า 1.4 หมื่นล้านดอลล์
‘พาณิชย์’ เผยส่งออก ก.ค.65 ขยายตัว 4.3%-7 เดือน ไทยขาดดุลการค้าพุ่ง 9.9 พันล้านดอลล์
ส่งออกเดือน มิ.ย. ขยายตัว 11.9%-ครึ่งปีแรกไทย'ขาดดุลการค้า'กว่า 6.2 พันล้านดอลลาร์ฯ
‘พาณิชย์’เผยส่งออก พ.ค.ขยายตัว 10.5%-5 เดือนโต 12.9% ‘จุรินทร์’มั่นใจทั้งปี‘เกินเป้า’