‘โฆษกอัยการสูงสุด’ แจงขั้นตอนแต่งตั้ง ‘คกก.สอบสวนวินัยฯ’ ปมสั่งไม่ฟ้อง 6 คดีสำคัญ พร้อมระบุส่ง 'รายงานผลสอบข้อเท็จจริงฯ' ให้ ‘สำนักวิชาการ’ วิเคราะห์ เป็นไปขั้นตอนของสำนักงานฯ เผยมีเวลาอีก 5 เดือนในการสั่งตั้งคณะกรรมการสอบฯ
...............................
จากกรณีที่ น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) ได้มีคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ 420/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีข่าวสารและเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุด สั่ง ณ วันที่ 28 ก.พ.2566 โดยแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง 5 ชุด เพื่อดำเนินดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงใน 6 คดี ประกอบด้วย
คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะที่ 1 ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง คดีนายกำพล วิรเทพสุภรณ์กับพวก และคดีเผาเขาสวนงูภูเก็ต โดยมีนายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะที่ 2 ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงคดี ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก โดยมีนายศักดา ช่วงรังษี รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะที่ 3 ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง คดีนายแทนไท ณรงค์กูล กับพวก โดยมีนายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะที่ 4 ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง คดีมาวินเบต ดอทคอม หรือคดีบ่อนพนันออนไลน์ โดยมีนายสมเกียรติ คุววัฒนานนท์ รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะที่ 5 ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง คดียาเสพติดแอมเฟตามีน 400,000 เม็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ รองอัยการสูงสุด ว่าที่อัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
ต่อมาคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ทั้ง 5 ชุด ได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบเท็จจริงฯทั้ง 6 คดี ไปให้อัยการสูงสุดแล้ว โดยรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ 5 คดี ได้ส่งไปตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 ต.ค.2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ น.ส.นารี ตัณฑเสถียร ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ส่วนคดีที่ 6 ได้ส่งให้นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ไปเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2566 นั้น (อ่านประกอบ : ส่งครบทั้ง 6 คดีแล้ว! วัดใจ‘อสส.’ตั้งสอบวินัยฯ‘ผู้เกี่ยวข้อง’ ปมสั่งไม่ฟ้องคดีสำคัญ)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พ.ย. นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เกี่ยวกับการแนวทางการดำเนินการของสำนักงานอัยการสูงสุด หลังได้รับรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯของคณะทำงานฯทั้ง 5 คณะ ว่า คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯที่อดีตอัยการสูงสุด มีคำสั่งแต่งตั้งนั้น เป็นเพียงการตรวจสอบสำนวน ไม่ใช่กระบวนการวินัยฯ
“ยกตัวอย่างเหมือนสมัยผมที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการตรวจสอบคดีนายเนตร (นาคสุข) เวลาเกิดเรื่อง จะมีการตั้งคณะทำงานฯขึ้นมาตรวจสอบ ตอนนั้นคณะทำงานฯออกความเห็นไป 3 อย่าง คือ นายเนตรมีอำนาจสั่งตามกฎหมาย ,พยานหลักฐานที่นายเนตรเอามาสั่งอยู่ในสำนวน ไม่ได้เอานอกสำนวนมาสั่ง แต่เรื่องที่ว่าทำไมนายเนตรจึงสั่งเช่นนั้น และอยู่ในข่ายเป็นเรื่องวินัยหรือไม่ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของคณะทำงานชุดนี้ ต้องส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อส่งให้ ก.อ. พิจารณา
พอเราส่งเรื่อง (การตรวจสอบข้อเท็จจริงฯคดีนายเนตร) ไปอย่างนี้ ท่านอัยการสูงสุด จะมีสำนักงานที่เข้ามาดู 2 ส่วน คือ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ (สำนักงาน ก.อ.) และสำนักวิชาการ โดยทำหน้าที่วิเคราะห์ก่อน
เมื่อเทียบเคียงกับรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯของคณะทำงานฯ 5 ชุด รวม 6 คดี ที่ส่งมาล่าสุด ตรงนั้นยังเป็นเพียงการตั้งข้อเท็จจริงเบื้องต้น ซึ่งคณะทำงานฯ ไม่มีอำนาจไปชี้ว่า เป็นวินัยหรือไม่ อย่างไร เพราะคนที่จะชี้ว่าเป็นวินัยหรือไม่ โดยหลักแล้ว จะต้องให้สำนักวิชาการ และสำนักงาน ก.อ. วิเคราะห์ก่อน พอวิเคราะห์แล้ว ท่านอัยการสูงสุดจะดูอีกครั้งหนึ่งว่า อยู่ในข่ายเป็นวินัยหรือไม่
ถ้าอยู่ในข่ายเป็นเรื่องวินัยอย่างที่ตั้งมา ท่านก็จะส่งเรื่องให้สำนักวินัยและระบบคุณธรรม สำนักงานวินัยฯก็จะวิเคราะห์ในเบื้องต้น ถ้าวิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่ถึงวินัย ก็ยุติเรื่อง แต่ถ้าเป็นวินัย ก็จะเอาเข้าสำนักงาน ก.อ. เพื่อตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ถ้าสมมติว่าผลสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ไม่มีมูล ก็จบไป แต่ถ้ามีมูล เป็นวินัยร้ายแรง ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง ต่อไป ซึ่งขั้นตอนเป็นอย่างนี้
ดังนั้น การส่งรายงานฯไปที่สำนักวิชาการ เป็นเพียงกระบวนการที่ต้องสรุปข้อเท็จจริงทั้งหมด ในฐานะเป็นหน่วยวิเคราะห์ให้กับท่านอัยการสูงสุด เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจของอัยการสูงสุดเท่านั้นเอง และเป็นแนวปฏิบัติของสำนักงานอัยการสูงสุดในขณะนี้ ในขณะที่สำนักงานวิชาการนั้น เขามีหน้าที่วิเคราะห์คดีทั่วประเทศ วิเคราะห์ฎีกาที่ออกมาใช้ทั่วประเทศ เพื่อขมวดปมว่าอะไรเป็นกรณีศึกษา และมีข้อชี้แนะหรือมีข้อบกพร่องอะไร
แล้วมีคำถามว่า ในเมื่อมันเป็นคำสั่งของท่านรองอัยการสูงสุด แล้วทำไมจึงต้องให้สำนักวิชาการ วิเคราะห์อีก อันนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะจริงๆแล้ว ถ้าท่านอัยการสูงสุดสั่งให้วิเคราะห์ ให้ตรวจสอบ ท่านทำได้ เช่น ท่านนารี (ตัณฑเสถียร) ให้ตรวจสอบการสั่งของท่าน... อย่างนี้ ก็ให้ระดับรองอัยการสูงสุดนั่นแหละ เป็นคนตรวจสอบ แต่เป็นการตรวจสอบเพื่อวิเคราะห์” นายประยุทธ กล่าว
นายประยุทธ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในการวิเคราะห์ของสำนักวิชาการ และสำนักงาน ก.อ. นั้น ไม่ได้ความว่า เมื่อทั้ง 2 สำนักวิเคราะห์เสร็จแล้ว จะส่งให้อัยการสูงสุดทันที แต่ต้องส่งผลวิเคราะห์ให้รองอัยการสูงสุด ที่ควบคุมสำนักงาน ก.อ. และสำนักวิชาการก่อน จึงจะส่งเรื่องไปให้อัยการสูงสุด หากอัยการสูงสุดเห็นว่าอยู่ในข่ายเป็นเรื่องวินัย จะส่งเรื่องไปให้สำนักวินัยฯตรวจสอบ หากสำนักวินัยฯสรุปว่า ไม่มีอะไร ก็เป็นอำนาจอัยการสูงสุดในการสั่งยุติเรื่องไป
แต่หากสำนักวินัยฯสรุปว่า เข้าข่ายเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ตามกระบวนการแล้ว อัยการสูงสุดจะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) และเป็นอำนาจของ ก.อ. ในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงต่อไป
“วิธีการวินัยของอัยการ คนที่จะชี้ คือ คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) แต่กระบวนการก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น จะมีกระบวนการกลั่นเป็นชั้นๆ มีกระบวนการกลั่นกรอง อย่างกรณีนี้ คณะทำงานฯ (5 คณะ 6 คดี) ไม่มีอำนาจเสนอเรื่องวินัยได้เลย แม้ว่าจะอยู่ในข่ายที่ให้ความเห็นได้ แต่การดำเนินการจะต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบ อันนี้เป็นหลักประกันให้กับอัยการทั่วประเทศในการทำงาน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง” นายประยุทธ กล่าว
นายประยุทธ ระบุว่า ในกรณีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงฯ กรณีการสั่งไม่ฟ้องคดีสำคัญ 6 คดี นั้น หากผู้เกี่ยวข้องรายนั้น ได้ลาออกจากจากสำนักงานอัยการสูงสุดไปแล้ว ตามกฎหมายระบุว่า สำนักงานอัยการสูงสุดจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หรือ 6 เดือน แต่หากทำไม่ทันภายใน 6 เดือน ก็ไม่สามารถดำเนินการสอบวินัยกับผู้เกี่ยวข้องรายนั้นได้
“กฎหมายไม่ได้ห้ามใครลาออก ถ้าใครจะลาออกก็ต้องให้เขาออก แต่ถ้ามีวินัย มันหนีไม่ได้ ถ้าผิดวินัย ก็ตามไปได้ แต่ต้องดำเนินการภายใน 180 วัน ซึ่งเขา (คนที่เกี่ยวข้อง) ก็เพิ่งออกไปได้ไป 1 เดือนกว่า เรายังมีเวลาอีก 5 เดือน ซึ่งไทม์ไลน์พวกนี้ผู้ใหญ่เขารู้” นายประยุทธ กล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่า การดำเนินการในส่วนของสำนักงานอัยการสูงสุด ‘ไม่ช้า’ แน่นอน
อ่านประกอบ :
ส่งครบทั้ง 6 คดีแล้ว! วัดใจ‘อสส.’ตั้งสอบวินัยฯ‘ผู้เกี่ยวข้อง’ ปมสั่งไม่ฟ้องคดีสำคัญ
สอบเสร็จ1ใน6คดี! ‘อสส.’ส่ง‘สำนักงาน ก.อ.’พิจารณาอีกครั้ง ปมสั่งไม่ฟ้องคดีบ่อนพนันออนไลน์
ลุยสาง 5 คดี'ขยะใต้พรม'! อสส.ฟังเสียง ผอ.อิศรา ตั้งคณะทำงานสอบปมสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
ต้องเร่งกวาดขยะใต้พรมที่สำนักงานอัยการสูงสุด
หลายคนเป็นว่าที่ อสส.! อัยการ ขอ ปชช.มั่นใจ 5 คณะทำงานสอบ 6 คดีใหญ่
เปิดไทม์ไลน์ 3 ปี 3 ข้อสังเกต คดีบ่อนออนไลน์ ‘มาวินเบต’ ก่อน อดีต อสส.สั่งไม่ฟ้อง
เสี่ยง ม.157! กก.ก.อ ชง อสส.เรียกสอบสำนวนคดี'มาวินเบต' ปมดึงเรื่องกลับ-สั่งไม่ฟ้อง
เซ็นก่อนพ้นตำแหน่ง 4 วัน! เปิดคำวินิจฉัย 'สิงห์ชัย' อดีต อสส. สั่งไม่ฟ้องคดี 'มาวินเบต'