"...คดีเหล่านี้กลายเป็นภาระและ ‘ขยะใต้พรม’ที่น.ส.นารีต้องเร่งเก็บกวาด ขณะที่เวลาที่อยู่ในตำแหน่งมีเพียง 1 ปี ซึ่งเวลาผ่านไปแล้วประมาณ 5 เดือน จึงเหลือเวลาอยู่ในตำแหน่งอีกเพียง 7 เดือน ถ้าไม่สามารถสะสางสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ได้หมด ภาระนี้จะกลายเป็นของผู้ดำรงตำแหน่ง อสส.คนต่อไป..."
นับแต่ น.ส.นารี ตัณฑเสถียร เข้าดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด(ออส.) ต้องเผชิญแรงกดดันอย่างหนักโดยเฉพาะความคาดหวังในการกอบกู้ภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ถูกทำลายอย่างย่อยยับในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะการกลับคำสั่งไม่ฟ้อง ‘บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา’ในคดีขับรถชนนายดาบตำรวจรายหนึ่งเสียชีวิตซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่ก็ยังคงยืนยันว่า การสั่งคดีดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้อง จนคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานได้สรุปผลการตรวจสอบมาว่า มีกระบวนการสมคบคิดกันระหว่างฝ่ายต่างๆจนกระทั่งนำไปสู่การกลับคำสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร นาคสุข รอง อสส. ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอให้ปฏิรูปการทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด
แต่เวลาผ่านไป 2 ปีแทบไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากคณะกรรมการอัยการ(ก.อ.)มีมติให้ข้าราชการอัยการ 2 รายที่เกี่ยวข้องออกจากราชการ
หนึ่งในนั้นคือนายเนตร นาคสุข ที่ยังคงไปตะรอนสมัครเป็นกรรมการ ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการ ป.ป.ช.มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
นอกจากคดีบอสแล้ว ยังมีอีกหลายคดีที่สังคมเคลือบแคลงสงสัยในการสั่งไม่ฟ้องและยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรอัยการเป็นอย่างยิ่ง
คดีเหล่านี้กลายเป็นภาระและ ‘ขยะใต้พรม’ที่น.ส.นารีต้องเร่งเก็บกวาด ขณะที่เวลาที่อยู่ในตำแหน่งมีเพียง 1 ปี ซึ่งเวลาผ่านไปแล้วประมาณ 5 เดือน จึงเหลือเวลาอยู่ในตำแหน่งอีกเพียง 7 เดือน ถ้าไม่สามารถสะสางสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ได้หมด ภาระนี้จะกลายเป็นของผู้ดำรงตำแหน่ง อสส.คนต่อไป
ตัวอย่างคดีที่ยังคงเป็นปริศนาและเป็นที่เคลือบแคลงของสังคมว่า ทำไมพนักงานอัยการหรืออัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหา
คดีแรก คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายแทนไท ณรงค์กูลกับพวกซึ่งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งข้อหาเมื่อปี 2563 ว่า เป็นผู้ก่อตั้งเว็บพนันออนไลน์โดยมีข้อมูลว่า มีเงินหมุนเวียนนับหมื่นล้านบาท
ต่อมานายสมคิด สายเจริญ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักอัยการพิเศษคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด มีหนังสือลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ใจความว่า อัยการสูงสุด มีความเห็นเด็ดขาดไม่สั่งฟ้องนายแทนไทในข้อหาดังกล่าวและข้อหาฟอกเงิน
ต่อมา มีข่าวว่า นายแทนไท เป็นผู้ชนะประมูลทะเบียน หมายเลข 9 กก 9999 ของกรมขนส่งทางบกจัดขึ้น ที่สร้างสถิติราคาสูงสุดที่ 45,090,000 บาท เมื่อเดือนธันวาคม 2565 จนกลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์
คดีสอง คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ผู้ต้องหาคดีกลุ่มเครือข่ายบ่อนพนันออนไลน์รายใหญ่ชื่อ “มาวินเบต คอทคอม” ซึ่งมีการเปิดให้เล่นพนันในหลายรูปแบบ เช่น หวยยี่กี หวยออนไลน์ แทงบอลออนไลน์ และกาสิโนออนไลน์ มีเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่าหลักหมื่นล้านบาท ที่เคยปรากฏเป็นข่าวใหญ่โต ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2563 ว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคอมมานโด กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ปิดล้อมตรวจค้นภายใต้ปฏิบัติการ “วาฬเกยตื้น” และจับกุมตัวผู้ต้องหาได้จำนวนหนึ่ง พร้อมยึดของกลางเงินสด 50 ล้านบาท รถยนต์หรู 8 คัน อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนอีก 5 กระบอก เนื่องจากอัยการสูงสุดอ้างว่า เป็น ‘คดีนอกราชอาณาจักร’ดึงสำนวนจากอัยการจังหวัดชลบุรีที่มีความเห็นสั่งฟ้องไปแล้ว ไปดำเนินการเอง จนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี อ้างว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอ
ต่อมาพนักงานสอบสวนในคดีทำหนังสือร้องเรียน น.ส.นารี และ ก.อ.ให้มีการสอบสวนใหม่
(เซ็นก่อนพ้นตำแหน่ง 4 วัน! เปิดคำวินิจฉัย 'สิงห์ชัย' อดีต อสส. สั่งไม่ฟ้องคดี 'มาวินเบต' )
คดีที่สาม นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาดเมื่อกุมภาพันธ์ 2563 ไม่ฟ้องนายชัยณัฐร์ หรือ 'ตู้ห่าว' กรณ์ชายานันท์และพ.ต.ท.หญิง วันทนารีย์ กรณ์ชยานันท์(ยศขณะนั้น) ภรรยา ในคดีจ้างวานบุกเข้าไปเผาสวนงู ของ บริษัท ภูเก็ต เฮลตี้นูทรีเมนต์ จำกัด ที่จังหวัดภูเก็ต และทำร้าย นายอนุชิต ไชยทองงาม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนพิการเมื่อ 23 เมษายน 2555 หรือเมื่อกว่า 10 ปีก่อน
(ปริศนา? ทำไมอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ‘ตู้ห่าว’คดีเผาสวนงูภูเก็ต)
คดีที่สี่ เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด มีหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งว่า นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 , นางพิไลจิตร เริงพิทยา ผู้ต้องหาที่ 2 , นางนิจพร จรณะจิตต์ ผู้ต้องหาที่ 3 และนางอรเอม เทิดประวัติ ผู้ต้องหาที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งได้กระทำเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ และร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครอง รวมตลอดถึงการก่นสร้างหรือเผาป่าในที่ดินของรัฐมีเนื้อที่เกิน 50 ไร่ หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นการทำอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดินโดยไม่มีสิทธิครอบครอง หรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อปี 2561 เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานได้เข้าตรวจสอบและตรวจยึดบริเวณสวนเกษตรภูเรือวโนทยาน ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ซึ่งเป็นป่าท้องที่บ้านร่องจิก หมู่ที่ 6 บ้านนาขาป้อม หมูที่ 9 ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย และบ้านหนองสนุ่น หมู่ที่ 7 ตำบลโคกงาม บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 2 ตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เกี่ยวกันพันจำนวน 6,229 ไร่
ใน 4 คดีข้างต้นล้วนแต่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวมาตลอดว่า ในการเข้าจับกุมโดยพนักงานสอบสวน แต่พอถึงขั้นตอนการพิจารณาว่า สั่งไม่ฟ้อง กลับทำกันอย่างเงียบเชียบซึ่งสะท้อนให้เห็นระบบความไม่โปร่งใสในกระบวนการเหล่านี้ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและการใช้ดุลพินิจของอัยการสูงสุดได้
ที่สำคัญไม่มีระบบการเปิดเผยเหตุผลในคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องเหล่านั้นต่อสาธารณชน ยิ่งทำให้มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มฉวยโอกาสในการแสวงหาประโยชน์จากคดีที่มีมูลค่าสูงหรือผู้ต้องหาที่มีอิทธิพลทางการเงินได้อย่างง่ายดาย
(คำสั่งเด็ดขาด! อสส.ไม่ฟ้อง บ.ซี.พี.เคฯในเครือ'เปรมชัย'คดีรุกป่า 6,229 ไร่ จ.เลย)
คดีที่ห้า ยังไม่เคยตกเป็นข่าวอื้อฉาวเหมือนกับ 4 คดีแรก แต่มีการทำเรื่องร้องเรียนไปที่ ก.อ.ขณะที่อัยการจังหวัดนนทบุรี ได้ทำหนังสือหารือไปยัง น.ส.นารี ตัณฑเสถียรว่า จะให้ดำเนินการอย่างไร
กล่าวคือ มีอัยการระดับสูงรายหนึ่งนำเอา ‘กากสำนวน’หรือสำเนา คดีค้ายาบ้า 400,000 เม็ด ที่นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อดีตอัยการสูงสุด เคย ‘ชี้ขาด’ให้ฟ้องไว้แล้ว มากลับคำสั่งเป็นไม่ฟ้อง ทั้งๆที่อัยการจังหวัดนนทบุรีนำคดีนี้ยื่นฟ้องต่อศาลไปแล้ว
ปรากฏว่า ผู้ต้องหาที่มีบางคนหนีไปต่างประเทศ ได้นำเอา ‘กากสำนวน’ไปอ้างขอให้อัยการจังหวัดนนทบุรีถอนฟ้อง แต่อัยการจังหวัดนนทบุรีไม่กล้าเลยทำเรื่องหารืออัยการสูงสุดคนปัจจุบัน
เพราะในอดีต เคยมีมาแล้ว สมัยยังเป็น กรมอัยการที่อธิบดีกรมอัยการ ชี้ขาดให้ฟ้องไว้แล้ว ต่อมา รองอธิบดีขึ้นมาเป็น อธิบดี แล้วจับเอาคดีมาชี้ขาดไม่ฟ้อง ศาลอาญาเคยตัดสินลงโทษจำคุก
คดีสุดท้ายนี้ พูดกันกระฉ่อนในสำนักงานอัยการสูงสุด จริงเท็จอย่างไร ในฐานะที่กุมบังเหียนสูงสุดในขณะนี้ น่าเห็นใจ น.ส.นารี ต้องเร่งทำทุกเรื่องให้กระจ่างโดยเร็วเพื่อสร้างความน่าเชือถือให้แก่องค์กรอัยการอีกครั้งหนึ่ง