'นารี ตัณฑเสถียร' อสส. ฟังเสียง ผอ.อิศรา ลงนามคำสั่งตั้งคณะทำงานสอบข้อเท็จจริง สางขยะใต้พรม 5 คดีสำคัญ 'กำพล วิระเทพสุภรณ์- ซี.พี.เคฯ-แทนไท ณรงค์กูล-มาวินเบต ดอทคอม -ยาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 400,000 เม็ด' ปมทำไมไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหา
แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2566 นางสาวนารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ 420 / 2566 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีข่าวสารและเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสูงสุด จำนวน 5 คดี ประกอบไปด้วย คดีเผาสวนงูภูเก็ต , คดี ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก , คดีนายแทนไท ณรงค์กูล กับพวก , คดีมาวินเบต ดอทคอม และคดียาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 400,000 เม็ด และ คดีนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ กับพวก พร้อมให้รายงานผลการตรวจสอบความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นเกี่ยวกับการสั่งคดีต่ออัยการสูงสุดด้วย
โดยในคำสั่งดังกล่าว ระบุว่า ด้วยสำนักข่าวอิศรา วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 เผยแพร่ข่าว "ต้องเร่งรัดกวาดขยะใต้พรมที่สำนักงานอัยการสูงสุด" ผ่านทางเว็บไซด์ www.isranews.org กล่าวถึง "มีคดีจำนวนหลายคดีที่กลายเป็นภาระและเป็น "ขยะใต้พรม" ที่นางสาวนารี ตัณฑเสดียร ต้องเร่งเก็บกวาด ขณะที่เวลาที่อยู่ในตำแหน่งมีเพียง 1 ปี ซึ่งเวลาผ่านไปแล้ว 5 เดือน จึงเหลือเวลาอยู่ในตำแหน่งอีกเพียง 7 เดือน ถ้าไม่สามารถสะสางสิ่งที่ซุกช่อนอยู่ได้หมด ภาระนี้จะกลายเป็นของผู้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดคนต่อไป"
ซึ่งตามข่าวมี 5 คดี ประกอบด้วย คดีเผาสวนงูภูเก็ต , คดี ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก ,คดีนายแทนไท ณรงค์กูล กับพวก ,คดีมาวินเบต ดอทคอม และคดียาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 400,000 เม็ด ที่จังหวัดนนทบุรี และมีคดีนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ กับพวก ตามหนังสือร้องเรียนของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ฉบับลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงประธาน ก.อ. อันเป็นกรณีเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 จึงแต่งตั้งบุคคลต่อไปนี้เป็นคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีข่าวสารและเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุดดังกล่าว โดยมีองค์ประกอบดังนี้
คณะที่ 1. คดี นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ กับพวก และคดีเผาสวนงูภูเก็ต ประกอบด้วย
1. นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงาน
2. นายอิทธิพร แก้วทิพย์ คณะทำงาน
3. นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ คณะทำงาน
คณะที่ 2. คดี ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก ประกอบด้วย
1. นายศักดา ช่วงรังษี หัวหน้าคณะทำงาน
2. นายโชคชัย ทิฐิกัจจธรรม คณะทำงาน
3. นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง คณะทำงาน
คณะที่ 3. คดี นายแทนไท ณรงค์กูล กับพวก ประกอบด้วย
1. นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ หัวหน้าคณะทำงาน
2. นายโกวิท ศรีไพโรจน์ คณะทำงาน
3. นายคถา สถลสุต คณะทำงาน
คณะที่ 4. คดี มาวินเบต ดอทคอม ประกอบด้วย
1. นายสมเกียรติ คุววัฒนานนท์ หัวหน้าคณะทำงาน
2. นายชาติ ชัยเดชสุริยะ คณะทำงาน
3. นายทรงพล สุวรรณพงศ์ คณะทำงาน
คณะที่ 5. คดี ยาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 400,000 เม็ด ที่จังหวัดนนทบุรี ประกอบด้วย
1. นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ หัวหน้าคณะทำงาน
2. นายนิติ สุขเจริญ คณะทำงาน
3. นายจิตภัทร พุ่มหิรัญ คณะทำงาน
ให้มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
1. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและการสั่งคดีของพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ได้รับมอบหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุด
2. จัดทำลำดับเหตุการณ์ (Timeline) ในการดำเนินคดีที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่รับสำนวนและการสั่งคดีของพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้อง เพื่อขี้แจงต่อที่ประชุม ก.อ. และสาธารณชน
3. เรียกสำนวนคดีที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา
4. เชิญพนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อเท็จจริง ข้อมูลหรือความเห็นประกอบการตรวจสอบ
5. เรียกเอกสารจากหน่วยงานภายในสำนักงานอัยการสูงสุดที่เก็บรักษาเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณา และให้หน่วยงานดังกล่าวให้ความร่วมมือจัดส่งเอกสารโดยพลัน
6. เชิญบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อเท็จจริง ข้อมูลหรือความเห็นประกอบการตรวจสอบและขอเอกสารหลักฐานจากบุคคลและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ ให้หัวหน้าคณะทำงานฯ แต่ละคณะมีอำนาจลงนามในหนังสือออก
7. ให้หัวหน้าคณะทำงานแต่ละคณะมีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงนเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
8. ให้หัวหน้าคณะทำงานแต่ละคณะมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลดำเนินการอื่นใดเพื่อให้ความช่วยเหลือสนับสนุน หรืออำนวยความสะดวกในการดำเนินการตรวจสอบของคณะทำงานให้สำเร็จลุล่วง รวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำเนินการตรวจสอบของคณะทำงานได้ตามที่เห็นสมควรและจำเป็น
9. รายงานผลการตรวจสอบพร้อมความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นเกี่ยวกับการสั่งคดีและข้อเสนอแนะอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควรต่ออัยการสูงสุดเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งการในโอกาสแรก
สั่ง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
(นางสาวนารี ตัณฑเสถียร)
อัยการสูงสุด (ดูเอกสารประกอบ)
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำหรับเรื่อง "ต้องเร่งกวาดขยะใต้พรมที่สำนักงานอัยการสูงสุด" เป็นบทความที่เขียนโดย นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา มีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การนำเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นเกี่ยวกับคดีที่ยังคงเป็นปริศนาและเป็นที่เคลือบแคลงของสังคมว่า ทำไมพนักงานอัยการหรืออัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 5 คดี และเรียกร้องให้ น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด เร่งสะสางปัญหาโดยเร็ว (คลิกอ่านบทความเรื่องนี้ท้ายเรื่อง)