เปิดข้อเสนอ ‘กมธ.’ แนะ ‘เรกูเรเตอร์’ แก้ปม ‘เจ้าหนี้ AMC-บริษัททนายความ’ ลักไก่นำคดีหมดอายุความฟ้องศาล หาก ‘ลูกหนี้’ ไม่มาศาล-ไม่ยก ‘อายุความ’ สู้คดี ต้องโดนเรียก ‘ดอกเบี้ย’ ไม่มีลิมิต ขณะที่ ‘เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ’ จี้จัดการ ‘กองทุนอีแร้ง’ กว่า 250 บริษัท ยืมมือ 'ศาลฯ' ขูดรีดลูกหนี้
.......................................
จากกรณีที่เมื่อเดือน มี.ค.2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่รายงานการศึกษา เรื่อง ‘ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูบำนาญต่อวิกฤติหนี้ในปัจจุบัน’ โดยได้เสนอปัญหาเชิงโครงสร้างของหนี้ครู และข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สินครูในองค์รวม นั้น (อ่านประกอบ : เปิดรายงาน กมธ.(จบ) ข้อเสนอแก้‘หนี้ครู’ ชงรื้อกลไก‘สวัสดิการหักเงินเดือน’-คุมกู้เกินตัว)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในรายงานการศึกษาฉบับดังกล่าว คณะกรรมาธิการฯได้มีการเสนอแนะให้หน่วยงานกำกับดูแล หรือ Regulator เข้ามากำกับดูแลเจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เช่น กรณีเจ้าหนี้นำหนี้ที่ขาดอายุความไปฟ้องศาล เพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้ เพราะทราบข้อจำกัดของศาลว่า กรณีที่ลูกหนี้ไม่มาศาลในวันพิจารณาคดีนั้น ศาลจะยกประเด็นนี้ขึ้นมาไม่ได้ ทำให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยที่สูง
โดยมีเนื้อหาว่า ปัญหาที่พบบ่อยในกรณีที่ลูกหนี้ถูกโอนไปที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) คือ การที่เจ้าหนี้ AMC ลักไก่นำคดีที่ขาดอายุความแล้วไปฟ้องศาล เนื่องจากตระหนักว่าประชาชนส่วนใหญ่เกินครึ่งที่มีคดี แล้วไม่มาศาล ในกรณีเช่นนี้ แม้อายุความจะขาดแล้ว แต่ศาลไม่อาจจะยกประเด็นนี้ขึ้นมาได้ และเมื่อได้รับคำพิพากษาจากศาลแล้ว จะสามารถไปเรียกร้องจากลูกหนี้ตามที่ตั้งใจได้
อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญอยู่ที่เรื่องอายุความนั้น ในด้านหนึ่งจะช่วยควบคุมจำนวนดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้เรียกเก็บไม่ให้มากเกินไป ดังนั้น เมื่ออายุความไม่มีแล้ว ก็หมายความว่าเจ้าหนี้จะสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยได้แบบไม่มีลิมิต และถ้าดูลึกลงไปในรายละเอียดของกรณีส่วนใหญ่พบว่า เม็ดเงินที่ลูกหนี้จ่ายชำระหนี้นั้นอาจจะมากพอสมควร หรืออาจจะมากกว่าเงินต้นแล้วก็ได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีเกณฑ์ที่จะควบคุมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่เจ้าหนี้จะคิดได้ (Total Cost Cap) เหมือนในหลายประเทศ และเมื่ออายุความไม่มีความหมายและไม่สามารถควบคุมได้ ความเดือดร้อนจึงตกไปอยู่ที่ประชาชนที่มีความรู้และทักษะทางการเงินจำกัด แม้ศาลจะตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถหาทางออกในเรื่องนี้ได้
คณะกรรมาธิการเห็นว่า Regulator ผู้กำกับดูแล สามารถดำเนินการได้ในหลายทาง อาทิ กำหนดแนวทางเมื่อเจ้าหนี้จะฟ้องร้องดำเนินคดี ในการเขียนคำบรรยายฟ้องจะต้องระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องอายุความว่า อายุความยังเหลือกี่ปี ตรงนี้จะช่วยสกัดเจ้าหนี้ที่ลักไก่ ไม่ให้ดำเนินการอย่างไม่ถูกกฎหมาย หรือในขั้นตอนการไกล่เกลี่ยในทุกจุด เจ้าหนี้จะต้องแจ้งอายุความของคดีให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ ซึ่งจะทำให้การไกล่เกลี่ยมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น
“Regulator จำเป็นต้องคำนึงโจทย์ความเดือดร้อนของประชาชนมากกว่าที่ผ่านมา และจะต้องผ่าทางตันหาทางแก้ไขปัญหา ถ้าทราบข้อเท็จจริงแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการอะไรก็จะเท่ากับละเลยหน้าที่ที่ควรทำ” รายงานฯระบุ
นอกจากนี้ ในรายงานฯระบุว่า ในหลายประเทศจะมีการกำหนดจำนวนเพดานสูงสุดที่เจ้าหนี้จะคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากการกู้ยืม (Total Cost Cap) เช่น อังกฤษกำหนดเพดานสูงสุดไว้ที่ไม่เกิน 100% และที่ญี่ปุ่นกำหนดเพดานสูงสุดไว้ไม่เกิน 109% และหากเกินเจ้าหนี้ถือว่ามีความผิดทางอาญา แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันยังไม่มีกำหนดเพดานสูงสุดไว้ ทำให้ลูกหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยแบบไม่มีลิมิต
@ยก‘กฎหมายต่างประเทศ’ ห้าม‘บ.ซื้อหนี้เน่า’ใช้สิทธิทางศาลฯ
ด้าน น.ส.กัลยาณี รุทระกาญจน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ องค์กรสาธารณประโยชน์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า เรื่องหนี้หมดอายุความแล้วนำคดีไปฟ้องศาลนั้น ตอนนี้กำลังเป็นธุรกิจที่สร้างความเดือดร้อนให้ลูกหนี้อย่างมาก ซึ่งในต่างประเทศเรียกว่า ‘กองทุนอีแร้ง’ และในประเทศไทยไม่ได้มีแต่เฉพาะบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เท่านั้นที่ทำธุรกิจนี้ แต่มีนิติบุคคลธรรมดาไม่น้อยกว่า 250 แห่ง ที่ไปจดทะเบียนแล้วทำธุรกิจในลักษณะนี้
“ในอังกฤษ เขาออกกฎหมายเลยว่า บริษัทพวกนี้ห้ามไปใช้สิทธิทางศาล แต่เมืองไทย เขาใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการขูดรีดประชาชน ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่ากระบวนการยุติธรรมละเลยเรื่องนี้ได้อย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือ ธุรกิจนี้มีผลประโยชน์มหาศาล และตอนนี้บริษัทพวกนี้ เป็นบริษัททนายความ หรือบริษัทอะไรก็ได้หมดแล้วนะ เอาหนี้หมดอายุความไปฟ้อง ถ้าลูกหนี้ไม่ไปศาลฯ พอฟ้องเสร็จ ได้คำพิพากษามา ก็เอาไปยึดบ้านของลูกหนี้ ปั่นป่วนอลหม่านไปหมด” น.ส.กัลยาณี กล่าว
ส่วนข้อเสนอของคณะกรรมธิการฯ ที่เสนอให้ Regulator กำหนดแนวทางให้เจ้าหนี้ที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ต้องเขียนคำบรรยายฟ้อง โดยต้องระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ‘เรื่องอายุความ’ ในคำฟ้อง นั้น น.ส.กัลยาณี ระบุว่า หาก Regulator เป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีคำถามตามมาว่า ธปท.จะกำกับดูแลได้ทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงคือ เป็นไปไม่ได้ อย่างเช่น บริษัททนายที่ไปซื้อหนี้เน่ามานั้น ธปท.ไม่มีอำนาจไปควบคุมหรือกำกับดูแลตรงนี้ได้
“เขาจะซื้อหนี้ถูก แล้วไปขูดรีด ก็ไม่มีกฎหมายอะไรไปห้ามเขา ซึ่งถ้าเป็นธุรกิจของสถาบันการเงินอย่างนี้ แบงก์ชาติคุมได้ แต่ตอนนี้เขาไม่ทำอย่างนั้น เพื่อให้แบงก์ชาติคุมเขาได้หรอก เขาขายหนี้ออกมาข้างนอก แล้วรู้หรือไม่ว่ากองทุนอีแร้งมันมาตั้งกระจุกอยู่ในตอนนี้ แล้วอยากถามว่า ทำไมแบงก์ต้องขายหนี้ ทั้งๆที่ไม่ได้เกิดวิกฤต แบงก์ไม่ได้กำลังจะล้ม ทำไมไม่ห้ามเจ้าหนี้ไม่ให้ขายหนี้ เพราะตอนเป็นหนี้ ลูกหนี้เลือกว่าจะเป็นหนี้ใคร แต่พอถึงเวลา คุณไปบังคับขายหนี้ให้ใครก็ไม่รู้ ลูกหนี้ไม่สิทธิเลยใช่หรือไม่” น.ส.กัลยาณี กล่าว
น.ส.กัลยาณี ซึ่งริเริ่มก่อตั้งศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมจากเจ้าหนี้ ตั้งแต่ปี 2548 หรือเป็นเวลา 18 ปีแล้ว กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะไม่มีการรวบรวมข้อมูลว่ามีลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจากการนำหนี้ที่ขาดอายุความไปฟ้องศาลเท่าใด แต่เมื่อมีนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อทำธุรกิจในลักษณะนี้ไม่ต่ำกว่า 200 บริษัท เพราะเห็นว่าได้ผลประโยชน์มหาศาล จึงเชื่อว่ามีลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก
“เรายังตามไม่ถึงว่ามีกระบวนการชักใยอยู่เบื้องหลังเปล่า เพราะมีบางบริษัทเป็นต่างด้าว จดทะเบียนที่เกาะเคย์แมน แต่หน่วยงานภาครัฐกลับอนุญาตให้ทำธุรกิจนี้ได้อย่างถูกต้อง จึงทำให้เกิดคำถามว่า มันมีกระบวนการที่โยงใยถึงนักการเมือง ผู้มีผลประโยชน์อื่นใด หรือใครในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ จึงทำให้เกิดปัญหาอย่างนี้อยู่ได้ ในขณะที่ต่างประเทศเขาออกกฎหมายเลยว่า ห้ามบริษัทพวกนี้ไปใช้สิทธิทางศาล
ถ้าอยากจะซื้อหนี้เน่าก็ไปเสี่ยงกันเอง ซื้อหนี้ไปแล้ว จะเรียกได้หรือไม่ได้ก็ไปเสี่ยงกันเอง แต่ไม่ต้องมาใช้ศาลเป็นเครื่องมือ และในปีที่แล้วรัฐนิวยอร์ก (สหรัฐ) ออกมาเป็นกฎหมายเลยว่า ห้ามบริษัทพวกนี้ใช้สิทธิทางศาล ซึ่งไม่เฉพาะคดีที่หมดอายุความเท่านั้น แต่เป็นคดีอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับการไปซื้อหนี้เน่าเข้ามา เพราะพวกนี้ไปซื้อหนี้เน่า 100 บาทมาในราคาบาทเดียว แล้วไปขูดรีดเขาเต็มไปเรียกเขา 120 บาท เรื่องพวกนี้อย่ามาใช้สิทธิทางศาลฯ
แต่สำหรับประเทศไทย เป็นประเทศที่สยบสมยอมกับทุนนิยม คือ ซื้อหนี้เน่า 100 บาท มาในราคาแค่สลึงเดียว แล้วไปเรียกได้ 100 บาท นี่ก็เป็นกรณีที่มีคำพิพากษาศาลออกมาแล้ว และคงต้องตอบกันให้ได้ว่า นิติบุคคลเหล่านี้ เรียกหนี้เกินอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนด 15% ได้อย่างไร เพราะไปซื้อหนี้แค่ 2% แล้วมาเรียก 120% และเรียกได้โดยคำพิพากษาของศาล ซึ่งกระบวนการยุติธรรมต้องมีคำตอบในเรื่องนี้” น.ส.กัลยาณี กล่าว
@ชี้‘ไทย’ประเทศเดียว เป็น‘หนี้บัตรเครดิต’แล้วถูกยึดบ้านได้
น.ส.กัลยาณี ระบุว่า ปัญหาสำคัญของการเป็นหนี้สินของคนไทย คือ ลูกหนี้ส่วนใหญ่คิดเพียงว่าตนเองเป็นหนี้เท่านั้น แต่ไม่เข้าใจถึงผลกระทบที่ตามมา เช่น เป็นหนี้บัตรเครดิต 10,000 บาท แล้วปล่อยไป ซึ่งประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศเดียวที่เป็นหนี้บัตรเครดิตแล้วสามารถถูกยึดบ้าน ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินได้ แต่ในต่างประเทศไม่ทำให้อย่างนั้น ซึ่งทางศูนย์ฯ เคยเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เข้ามาแก้ไขเรื่องนี้ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้
“เราไปหาท่านวิษณุ เครืองาม มาแล้ว ท่านบอกว่า ไปแตะต้องอะไรเขาไม่ได้ อย่างนี้เลิกเป็นหนี้กันเถอะ เพราะลูกหนี้ก็ไม่มีความรู้ กระบวนยุติธรรมก็ไม่ช่วยเหลือ เงินเป็นใหญ่ เป็นหนี้เขาก็ต้องใช้หนี้ ซึ่งเป็นสโลแกนของประเทศนี้ แต่ไม่รู้ว่าเป็นหนี้ใคร และเป็นหนี้เท่าไหร่ หนี้ 100 บาท เขาขายให้เจ้าหนี้ใหม่ 2 บาท แล้วเจ้าหนี้ใหม่เรียก 100 บาทบวกดอกเบี้ยด้วย ก็ยอมให้เขาทำ พวกนี้อ้วนปุก รวยเละ และ ก.ล.ต.ก็ให้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วอายเขาหรือไม่ว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่ตลาดทุนมีกิจการกองทุนอีแร้ง” น.ส.กัลยาณี กล่าว
น.ส.กัลยาณี เสนอว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องเข้ามาสอนเรื่องการเป็นหนี้ ตั้งแต่ระดับมัธยมปลายว่า การเป็นหนี้ต้องเป็นอย่างไร มีวิธีป้องกันทำอย่างไร และหากมีปัญหาติดขัด แล้วจ่ายหนี้ไม่ได้ต้องทำอย่างไรบ้าง รวมทั้งมีเครื่องมือใดบ้างที่จะช่วยลูกหนี้ได้ อีกทั้งต้องมีการสนับสนุนให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครดิตบูโร และตรวจสอบเครดิตบูโรเองได้ เนื่องจากคนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะคนในต่างจังหวัดไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้
อ่านประกอบ :
ธปท.' เล็งออกเกณฑ์คุม 'สินเชื่อใหม่' ไตรมาส 3-ตั้งเป้ากดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ต่ำ 80%
‘ธปท.’เผยหนี้สินครัวเรือนไทยไตรมาส 3/65 แตะ 14.9 ล้านล.-สัดส่วนต่อจีดีพีลดเหลือ 86.8%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กลับสู่ความยั่งยืน!‘ธปท.’เล็งออกมาตรการคุม‘หนี้ครัวเรือน’-ไตรมาส 2 หนี้ทะยาน 14.7 ล้านล.
‘ธปท.’เล็งประกาศแนวนโยบายแก้ปัญหา‘หนี้ครัวเรือน’ หวังกำกับปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ