‘ศาลปกครองกลาง’ นัดนั่งพิจารณาคดี ‘นัดแรก’ คดี ‘รฟท.’ ฟ้อง ‘กรมที่ดิน’ ขอศาลฯสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดิน ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่-ชดใช้ค่าเสียหายอีก 707 ล้านบาท
....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 21 มี.ค.นี้ ศาลปกครองกลางนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ฟ้องคดี) กับ กรมที่ดิน ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง (คดีที่ดินเขากระโดง)
สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ฟ้องว่า กรมที่ดิน ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง มีคำสั่งตามหนังสือ ที่ มท 0516.2/3025 ลงวันที่ 13 ส.ค.2564 เรื่อง ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจึงนำคดีมาฟ้อง
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงเดือน ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา รฟท. ได้ยื่นฟ้องกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และอธิบดีกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครองกลาง กรณีไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินรถไฟฯ ‘เขากระโดง’ โดย รฟท.บรรยายฟ้องว่า เดิมที รฟท. ได้ถูกประชาชนที่อาศัยครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดง ฟ้องร้อง เนื่องจาก รฟท. ได้ยื่นคัดค้านการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์
ต่อมาคดีถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกา โดยศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในคดีหมายเลขแดงที่ 842-876/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ 8027/2561 ในทำนองเดียวกัน ว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 และเส้นทางรถไฟที่เข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง และบ้านตะโก ซึ่งเป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาอุบลราชธานี
และเป็นที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 นั้น เป็นที่ดินของ รฟท. ซึ่งหวงห้ามมิให้ประชาชนเข้ายึดถือหรือครอบครอง รวมทั้งห้ามโต้แย้งสิทธิใดๆ ดังนั้น รฟท.จึงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ต.เขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่รวม 5,083 ไร่ 80 ตารางวา
ต่อมา รฟท. ได้เข้าไปสำรวจที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง และพบว่า ที่ดินบริเวณส่วนกิโลเมตรที่ 4+540 ถึงกิโลเมตรที่ 8+000 มีชาวบ้านเข้ามาปลูกที่อยู่อาศัย และบางส่วนได้จัดทำเป็นสนามฟุตบอล และสนามแข่งรถ รวมทั้งมีหน่วยงานของรัฐได้มีการขอเอกสารสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน โดยปัจจุบัน กรมที่ดิน มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในที่ดินของ รฟท. บริเวณแยกเขากระโดงเต็มพื้นที่เป็นจำนวน 4,150 ไร่ 47 ตารางวา จากที่ดินทั้งหมด 5,083 ไร่ 80 ตารางวา
ทั้งนี้ รฟท. เข้าไปตรวจสอบเอกสารทางทะเบียน พร้อมคัดถ่ายจากสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ปรากฏว่า รฟท. สามารถคัดถ่ายเอกสารสิทธิ์มาได้เบื้องต้น 497 แปลง เท่านั้น จากเอกสารสิทธิ์ที่เป็นโฉนดที่ดินทั้งหมดที่มีประมาณ 850 แปลง ซึ่งส่วนที่เหลือทั้งหมดยังอยู่ในความครอบครองของสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์
ต่อมาวันที่ 23 มิ.ย.2564 รฟท. ได้มีหนังสือถึงกรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน โดยขอให้กรมที่ดินดำเนินการตรวจสอบที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เนื่องจากพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนที่ดินของ รฟท. และศาลยุติธรรมเองได้มีการวินิจฉัยรับรองว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท. ทั้งหมด
นอกจากนี้ รฟท. ยังขอให้ กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน ดำเนินการสอบสวนและเพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งหรือหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดิน ตามนัยมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินโดยเร็ว และอย่างช้าจะต้องดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งหรือหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินแล้วเสร็จไม่เกิน 90 วันนับแต่วันที่ รฟท. ได้รับหนังสือ
อย่างไรก็ตาม หลังจากอธิบดีกรมที่ดิน ได้รับหนังสือของ รฟท. เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2564 แล้ว อธิบดีกรมที่ดิน ไม่ได้มีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ เพื่อให้ รฟท. เข้าไปแสดงพยานหลักฐานว่า เป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณเขากระโดง แต่อย่างใด แต่กลับมีคำสั่งให้ รฟท. นำส่ง 'แผนที่กรรมสิทธิ์' และ 'นำครอบแผนที่ในระวางที่ดิน' ซึ่งเป็นคำสั่งที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย เนื่องจาก อธิบดีกรมที่ดิน ไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งดังกล่าว ตามนัยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรคสอง
อีกทั้งเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2564 รฟท.ได้ชี้แจงและมีหนังสือเร่งรัดไปยังอธิบดีกรมที่ดิน พร้อมนำส่งเอกสารหลักฐานเพื่อแสดงถึงกรรมสิทธิ์ของ รฟท. โดยชัดแจ้ง และเพียงพอที่จะให้อธิบดีกรมที่ดินได้ทราบข้อเท็จจริง เพื่อให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับหนังสือเร่งรัดฯ แต่ปรากฏว่า เมื่อครบกำหนด กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน กลับเพิกเฉยเช่นเดิม และยังมีหนังสือปฏิเสธที่จะดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ ตามที่ รฟท.ขอให้ดำเนินการอีก
จากพฤติการณ์ที่กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน ได้ทำการออกหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินทับที่ดินบริเวณแยกเขากระโดงของ รฟท. ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอำเภอเมืองและมีความเจริญโดยรอบ ทำให้ รฟท.ไม่สามารถเข้าครอบครองหรือนำออกให้เช่าหาประโยชน์ได้แต่อย่างใด ทั้งๆที่กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินก็ทราบข้อเท็จจริงมาโดยตลอด ทำให้ รฟท. ขาดประโยชน์หรือเข้าครอบครองเพื่อหาประโยชน์ ซึ่งเกิดความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมในเชิงกรรมสิทธิ์และเชิงพาณิชย์ เป็นเงินได้ปีละ 707,638,320 ล้านบาท (4,150 ไร่ 47 ตารางวา (1,660,187.50 ตาราง) x 2.75% ของราคาประเมิน 15,500 บาท/ตารางวา)
ดังนั้น รฟท.จึงมีความประสงค์ขอให้ศาลพิพากษาบังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ดังต่อไปนี้
1.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน) ตามหนังสือเลขที่ มท 0516.2/3025 ลงวันที่ 13 ส.ค.2564 เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
2.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน) ตามหนังสือเลขที่ มท 0516.2/3539 ลงวันที่ 27 ก.ย.2564 เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
3.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน) ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทำการสอบข้อเท็จจริงในการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีพื้นที่ บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ โดยมิชอบ ตามหนังสือเลขที่ รฟ.1/1911/2564 เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 23 มิ.ย.2564 ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
4.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน) ร่วมกันเพิกถอนคำสั่งออกเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี พื้นที่บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกเอกสารโดยมิชอบ ซึ่งเป็นการคลาดเคลื่อน ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดในพื้นที่ของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว และขับไล่ผู้ครอบครองและถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของ ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด
5.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี เป็นเงินค่าเสียหาย 707,638,320 บาท กับชดใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 58,969,860 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์
อ่านประกอบ :
เปิด 2 คำร้อง! ยื่น ป.ป.ช. เอาผิด-สอบจริยธรรม‘ศักดิ์สยาม’ เอื้อเครือญาติยึด‘เขากระโดง’
ยื่น ป.ป.ช.ฟัน'ศักดิ์สยาม' 3 เรื่อง! 'ทวี'แนะปมเขากระโดง ส่งศาลฎีกาสอบจริยธรรมทันที
ข้อมูลใหม่! โฉนด 12 แปลง 179 ไร่ ออกทับที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ โยงเครือญาติตระกูล‘ชิดชอบ’
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : รุมซักฟอก'ศักดิ์สยาม'อ้างใช้นอมินีถือหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ รับงานรัฐ
คำชี้แจง ‘ผู้ว่าฯรฟท.’ กรณีเพิกถอนโฉนด ‘เขากระโดง’-‘ในยุคผม...ผมไม่ฟ้องประชาชน’
ไม่อยากระรานประชาชน! ‘ผู้ว่าฯรฟท.’ แจงเหตุเมินไล่ฟ้องเพิกถอนโฉนด ‘เขากระโดง’ รายแปลง
ยื่น‘กมธ.ป.ป.ช.’สอบจริยธรรม 2 รมต. ไม่เพิกถอนโฉนดเขากระโดง-ใช้ที่ดินหลวงเพื่อปย.ส่วนตน
คดีที่ 3! ศาลฎีกาย้ำ'เขากระโดง'ที่ดินรถไฟฯ 'ทวี'ข้องใจฟ้องชาวบ้าน ไม่แตะ'ชิดชอบ'?
เปิดคำฟ้อง 'รฟท.'! ให้ 'กรมที่ดิน' เพิกถอนโฉนด 'เขากระโดง'-ชดใช้ 707 ล้าน