"...ผมยังไม่ได้มีแผนอะไรที่ชัดเจน ผมเป็นคนที่ถ้าตัดสินใจจะทำอะไร ต้องทำเต็มที่ ทำให้ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สมดุลในชีวิตบางอย่างอาจจะไม่ค่อยดีนัก เมื่อพ้นจากการทำหน้าที่ผู้ว่าการแล้ว จึงอยากใช้เวลาเพื่อปรับสมดุลด้านต่าง ๆ ของชีวิตให้ดีขึ้นกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจตัวเอง การให้เวลากับครอบครัว รวมถึงการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วย..."
หมายเหตุ : วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ ‘Conversation with the Governor’ ฉบับส่งท้ายตำแหน่งของผู้ว่าการ ธปท. คนปัจจุบัน โดยมี กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร นักคิดและนักเขียนชื่อดัง เจ้าของเพจ ‘8 บรรทัดครึ่ง’ ร่วมพุดคุยกับเกี่ยวบทสรุปการเดินทางในโลก VUCA+ ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งสิ่งที่ฝากถึงชาว ธปท. เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโจทย์ใหญ่ในอนาคตที่จะท้าทายการดำเนินงานของธนาคารกลางมากยิ่งขึ้น
@ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เท่าทันโลกการเงินยุคใหม่
กวีวุฒิ : ขอเริ่มต้นจากการย้อนกลับไปมองการทำงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ท่านผู้ว่าการคิดว่าบรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวังไว้หรือไม่
วิรไท : ผมถือว่าการทำหน้าที่ผู้ว่าการเป็นการเดินทางร่วมกับพี่น้องชาว ธปท. เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจการเงินไทย ไปพร้อมๆ กับการทำหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของธนาคารกลาง คือการดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ
ถ้ามองในภาพใหญ่ ผมคิดว่ามีหลายเรื่องที่ ธปท. ได้ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และอาจมีหลายเรื่องที่ยังไม่เกิดผลอย่างที่ต้องการ ขอยกตัวอย่างเรื่องที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนและประชาชนสัมผัสได้ คือ การทำให้มีระบบนิเวศการเงินดิจิทัลในระบบการเงินไทย อย่างเช่นการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เมื่อก่อนประเทศไทยอาจจะยังตามหลังหลายประเทศ แต่วันนี้ เราเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่ามีพัฒนาการด้าน e-Payment ที่ดีมาก จนหลายประเทศขอเรียนรู้และถอดบทเรียนจากเรา
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เราได้พัฒนามากขึ้นคือ การดูแลเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม (financial stability) จากเดิมที่เราให้ความสำคัญกับธนาคารพาณิชย์เพราะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยตรง แต่เมื่อระบบการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้นและเชื่อมโยงกันสูงขึ้นมาก เวลาเกิดปัญหาที่จุดใดจุดหนึ่งก็อาจลามไปทั้งระบบการเงินได้เร็วมาก การยกระดับการทำงานร่วมกันของผู้กำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ธปท. กระทรวงการคลัง ผู้กำกับดูแลด้านตลาดทุน และผู้กำกับดูแลด้านประกันภัย ไปพร้อมกับการสร้างองค์ความรู้และการพัฒนาฐานข้อมูล ทำให้เราสามารถออกมาตรการหลายอย่างได้อย่างเท่าทัน โดยเฉพาะมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินและช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19
@การบริหารความคาดหวังที่หลากหลายคือสิ่งที่ท้าทายมาก
กวีวุฒิ : อะไรคือความท้าทายที่สุดในการทำหน้าที่ผู้ว่าการ ธปท.
วิรไท : ธปท. มีหน้างานที่กว้างมาก ตั้งแต่การทำนโยบายการเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพด้านราคาและดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ตามศักยภาพ การกำกับดูแลสถาบันการเงิน การบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ การบริหารระบบการชำระเงินหลักของประเทศ ไปจนถึงการบริหารจัดการธนบัตร และการคุ้มครองและให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน การทำงานของ ธปท. จึงกระทบกับทุกคนในมิติที่แตกต่างกัน
คนส่วนใหญ่อาจรู้สึกว่า “ธปท.” เป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้ว งานของ ธปท. เป็นเรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความคาดหวังแตกต่างกัน การบริหารความคาดหวัง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะไม่มีทางที่การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของ ธปท. จะถูกใจทุกคน และไม่ควรเป็นเช่นนั้นด้วย เพราะว่าทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด และไม่มีอะไรฟรี อีกทั้ง “เสถียรภาพ” เป็นเรื่องที่ต้องมองไปให้ไกล มองไปในระยะยาว แปลว่าต้องยอมเสียสละบางอย่างในช่วงระยะสั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาว
การบริหารความคาดหวังและการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการทำนโยบายของ ธปท. จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และจะเป็นความท้าทายของธนาคารกลางต่อไปในอนาคต
@เทคนิคการรับมือกับความคาดหวังที่มีต่อการดำเนินนโยบายของ ธปท.
กวีวุฒิ : ในเมื่อการบริหารความคาดหวังถือเป็นความท้าทายของ ธปท. ท่านผู้ว่าการมีเทคนิคในการรับมือกับความคาดหวังที่หลากหลายจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างไร
วิรไท : ข้อแรกคือ นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่เราทำต้องอธิบายได้ การตัดสินใจทุกอย่างของ ธปท. จะต้องอยู่บนหลักการที่ชัดเจนและมีข้อมูลประกอบ ในโลกปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น นโยบายที่เราทำส่งผลกระทบกับคนหลากหลายกลุ่มซึ่งมีความคาดหวังแตกต่างกัน ฉะนั้น เราจึงต้องทำนโยบายให้ตรงจุดและมีเป้าหมายชัดเจน จะทำแบบเหวี่ยงแหไม่ได้ นี่คือหลักปฏิบัติที่สำคัญมากในการทำงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และจะยิ่งสำคัญมากขึ้นไปอีกในอนาคต
อีกข้อหนึ่งที่สำคัญคือ การสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholders engagement) เราต้องสร้างความเข้าใจไว้ล่วงหน้าก่อนออกนโยบายต่าง ๆ ทั้งกับผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ต้องเข้าใจความกังวลและปัญหาของแต่ละกลุ่ม และอธิบายได้ว่าสิ่งที่ ธปท. ทำจะมีผลอย่างไร จะแก้ความกังวลของเขาได้อย่างไร เราต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย เพื่อที่เขาจะยินดีให้ข้อมูลกับเราอย่างตรงไปตรงมา ตรงนี้ถือเป็นหัวใจของการบริหารความคาดหวัง และยอมรับในการตัดสินใจสุดท้ายของ ธปท.
นอกจากนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทำอย่างไรเราจึงจะสื่อสารไปสู่ประชาชนหรือภาคธุรกิจซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางของนโยบายได้ เพราะการทำนโยบายใด ๆ ก็ตามต้องมีผลต่อพฤติกรรมของประชาชนและภาคธุรกิจ ถ้าเขาเข้าใจและเห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ จึงจะเกิดผลลัพธ์อย่างที่ต้องการได้
เมื่อก่อน ธปท. มักสื่อสารนโยบายกับสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแล แล้วคาดหวังว่านโยบายเหล่านั้นจะมีผลต่อประชาชนและภาคธุรกิจ แต่ในโลกความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น ในช่วง 4 - 5 ปีที่ผ่านมา ธปท. จึงเพิ่มการรับฟังและพูดคุยกับผู้คนที่หลากหลายในสังคมไทยเพื่อนำความคิดเห็นและคำแนะนำที่ได้รับมาเป็นแนวทางการทำงานและการออกนโยบายต่าง ๆ
@ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน
กวีวุฒิ : ค่านิยมร่วมขององค์กรที่ว่า “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน” มีส่วนช่วยในการบริหารจัดการความคาดหวังของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง
วิรไท : ค่านิยมร่วมเป็นเรื่องสำคัญมาก "ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน" เริ่มมาตั้งแต่สมัยท่านผู้ว่าการธาริษา วัฒนเกส ปฏิบัติต่อเนื่องมาสมัยท่านผู้ว่าการประสาร ไตรรัตน์วรกุล จนถึงปัจจุบัน เป็นหลักการที่สำคัญอย่างยิ่งของคน ธปท. เพราะสินทรัพย์สำคัญที่สุดของ ธปท. ก็คือ ความเชื่อถือของประชาชนและสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีต่อ ธปท.
คำว่า "ยืนตรง" คือ ธปท. ต้องมีหลักการชัดเจนในสิ่งที่ทำ การยืนตรงนี้เองที่จะทำให้คนเกิดศรัทธา ทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งคนที่พอใจและอาจจะไม่พอใจในสิ่งที่เราทำ “มองไกล” ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะเราจะมาตามแก้ปัญหาอย่างเดียวไม่ได้ หน้าที่หลักของ ธปท. คือการรักษาเสถียรภาพ ซึ่งเป็นแนวคิดระยะยาว ฉะนั้น เราต้องมองไปข้างหน้าตลอดเวลา คน ธปท. จึงต้องตื่นตัวอยู่เสมอ แล้วพยายามมองว่ามีปัญหาใดบ้างที่อาจเกิดขึ้น และจัดการให้ได้ก่อนที่ปัญหาจะเกิดหรือลุกลามใหญ่โต ซึ่งทั้ง "ยืนตรง" และ "มองไกล" ถือเป็น DNA ของคน ธปท. มาตั้งแต่ในอดีต ทำให้เราได้รับการยอมรับและสามารถเข้าไปมีส่วนสำคัญในการให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วน "ยื่นมือ" และ "ติดดิน" จะมีความสำคัญมากขึ้นในโลกปัจจุบันและโลกอนาคต เมื่อโลกเศรษฐกิจซับซ้อนมากขึ้น นโยบายของ ธปท. ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองแล้วเกิดผลอย่างที่ต้องการ อีกทั้งไม่มีมาตรการใดมาตรการหนึ่งที่จะตอบโจทย์ยาก ๆ ของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยได้ การ "ยื่นมือ" ทำงานร่วมกับผู้คนที่หลากหลายในสังคม ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จึงเป็นเรื่องสำคัญ สุดท้าย "ติดดิน" ก็คือ เราต้องเข้าใจปัญหาและความต้องการของผู้อื่นแบบติดดิน ไม่ใช่อยู่บนหอคอย การออกนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงและเกิดผลลัพธ์ตามที่เราต้องการ
ผมเชื่อว่า หลักการ "ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน" จะเป็นคุณค่าหลัก (core value) ของการดำเนินนโยบายของ ธปท. ไปอีกนาน
@มองให้ไกล มองให้เห็นปัญหาในระยะยาว
กวีวุฒิ : มองไปในอนาคต ท่านคิดว่าประเทศไทยยังมีปัญหาใดที่น่าเป็นห่วงในมิติทางเศรษฐกิจ และการทำงานของ ธปท. จะช่วยสอดประสานให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นในสังคมไทยอย่างไร
วิรไท : มีหลายเรื่องที่จะยิ่งท้าทายมากขึ้นในอนาคต ทำให้ต้องคิดว่าสิ่งที่ ธปท. เคยมองและทำงานในมุมเดิม โดยเฉพาะเรื่องการกำกับดูแลระบบการเงินและสถาบันการเงิน อาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะยกระดับเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนได้ ดังนั้น เราจึงต้องมองให้ไกลและมองให้รอบกว่าเดิม
เรื่องหนึ่งที่เราให้ความสำคัญมากขึ้น คือการดูแลผู้ใช้บริการทางการเงินที่มีหลากหลายกลุ่มให้ได้รับบริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม เพราะในอดีตผู้บริโภครายเล็กไม่มีอำนาจต่อรองกับสถาบันการเงิน หรือพฤติกรรมของสถาบันการเงินที่ปฏิบัติต่อเนื่องมายาวนาน กลายเป็นเอาเปรียบผู้บริโภคเกินพอดี เช่น การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และค่าธรรมเนียมหลายอย่างที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค การบังคับขายประกันจนผู้บริโภคไม่อยากไปสาขาธนาคารพาณิชย์ การให้บริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการของผู้ขายแต่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธปท. จึงได้ยกเครื่องกฎเกณฑ์การกำกับดูแลเรื่องการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (market conduct) ได้ทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย เราจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นและต้องทบทวนนโยบายอยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม
ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ ธปท. ให้ความสำคัญมาก เป็นปัญหาใหญ่ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว และพอเกิดวิกฤติโควิด 19 ปัญหานี้ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเพราะประชาชนขาดรายได้จึงจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นมากเพื่อมาเลี้ยงชีพ ซึ่งจะมีผลกับฐานการออมของประเทศในระยะยาว และการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แปลว่าเราจะต้องมีเงินออมไว้ใช้เมื่ออายุมากขึ้น
แต่เรากลับเริ่มมาจากจุดที่เปราะบาง การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยหลากหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องของการแข่งขันสำหรับสถาบันการเงินที่เร่งปล่อยสินเชื่อจนเกินพอดี พฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่และค่านิยม “ของมันต้องมี” ที่ทำให้ไม่คำนึงถึงการวางแผนทางการเงินระยะยาว ไปจนถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับต่ำจนไม่สร้างแรงจูงใจให้คนออม หรือแม้แต่การขาดความรู้ความเข้าใจทางการเงินซึ่งเป็นทักษะสำคัญของชีวิต
จะเห็นได้ว่า ธปท. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาเองได้ทั้งหมด ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย แม้จะเป็นปัญหาในระยะยาว แต่ถ้าเราไม่เริ่มแก้ไขจริงจังตั้งแต่วันนี้ ปัญหาก็จะยิ่งใหญ่ขึ้นและแก้ยากมากขึ้นด้วยเช่นกัน
@การประสานนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
กวีวุฒิ : เพื่อช่วยกันแก้ “โจทย์ยาก” ของประเทศให้ลุล่วง ธปท. กับรัฐบาลต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง
วิรไท : ธปท. เป็นองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่ทำนโยบาย ดังนั้นเราจึงต้องทำงานสอดประสานกับนโยบายด้านอื่นของประเทศ เวลาที่พูดถึง “ความเป็นอิสระ” ของธนาคารกลาง ไม่ได้หมายถึงการทำงานอย่างโดดเดี่ยว เราต้องพูดคุยกับรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ เพื่อประสานนโยบายอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันต้องไม่ทำให้การดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบการเงิน ถูกบั่นทอนประสิทธิภาพและประสิทธิผลลง หากมีสิ่งที่ภาคการเมืองหรือรัฐบาลอยากให้เราทำ แต่เมื่อเห็นว่าจะสร้างผลเสียในระยะยาว เราก็ต้องยึดมั่นในหลักการของธนาคารกลางอย่างชัดเจนและต้องอธิบายได้ว่าไม่ควรทำเพราะอะไร
ฉะนั้น ธนาคารกลางกับรัฐบาลจะต้องทำงานร่วมกันแต่ต้องรักษาระยะห่างให้เหมาะสมด้วย เพราะธนาคารกลางถูกออกแบบให้มีพันธกิจหลักด้านการรักษาเสถียรภาพซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว ขณะที่รัฐบาลโดยทั่วไปมักให้ความสำคัญกับเรื่องระยะสั้นตามระยะเวลาของการเลือกตั้ง เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีในช่วงเวลาสั้น ๆ ธนาคารกลางกับรัฐบาลจึงอาจเห็นต่างกันบ้างในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและการทำนโยบาย ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาของธนาคารกลางทุกประเทศ เพราะธนาคารกลางเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องเตือนเมื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินพอดีหรือมีจุดเปราะบางเกิดขึ้นในจุดใดจุดหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ ถ้าเราเห็นสัญญาณไม่ดีก็ต้องแตะเบรกเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามจนเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ
@“ทีมงาน” ขุมพลังแห่งการทำงานของผู้ว่าการ
กวีวุฒิ : มองย้อนกลับไป 5 ปีที่ผ่านมา ด้วยภาระหน้าที่ที่ค่อนข้างหนัก ท่านผู้ว่าการมีเทคนิคในการรีเฟรช (refresh) ตัวเองอย่างไรให้อยากตื่นขึ้นมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกวัน
วิรไท : ถ้าเราเข้าใจว่าพันธกิจของเราคืออะไร และตระหนักว่างานที่ทำมีความสำคัญอย่างไรบ้าง จะช่วยทำให้เกิดพลังในการทำงาน ผมถือว่าการอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. เป็นโอกาสที่จะช่วยให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนได้ นอกจากนี้ ต้องบอกว่าผมโชคดี เพราะเพื่อนร่วมงานที่ ธปท. มีแนวคิดคล้ายกันอยู่มาก คนที่ตัดสินใจมาทำงานที่นี่มักเป็นคนที่มีจิตสาธารณะ ยอมสละผลประโยชน์ในภาคเอกชนที่ได้รับผลตอบแทนสูงกว่า เพราะฉะนั้น เราจึงมี “ทีมงาน” ที่มีพลัง มีความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดพลังในการทำงานเพื่อส่วนรวม
@ปรับความสมดุลในชีวิตและไม่หยุดเรียนรู้
กวีวุฒิ : หลังจากหมดวาระผู้ว่าการ ธปท. แล้ว ท่านวางแผนว่าจะทำอะไรบ้าง
วิรไท : ผมยังไม่ได้มีแผนอะไรที่ชัดเจน ผมเป็นคนที่ถ้าตัดสินใจจะทำอะไร ต้องทำเต็มที่ ทำให้ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สมดุลในชีวิตบางอย่างอาจจะไม่ค่อยดีนัก เมื่อพ้นจากการทำหน้าที่ผู้ว่าการแล้ว จึงอยากใช้เวลาเพื่อปรับสมดุลด้านต่าง ๆ ของชีวิตให้ดีขึ้นกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจตัวเอง การให้เวลากับครอบครัว รวมถึงการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วย เรื่องที่ผมเรียนรู้ในช่วงที่ผ่านมาจะเน้นหนักในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการเงินและระบบการเงิน แต่ในโลกยังมีองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาก เราจะหยุดนิ่งไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง
@ฝากข้อคิดถึงเพื่อนพนักงาน ธปท.
กวีวุฒิ : สุดท้ายอยากให้ท่านฝากข้อคิดถึงเพื่อนพนักงาน ธปท. เพื่อใช้ในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ
วิรไท : ผมขอย้อนกลับไปที่ค่านิยมร่วมของชาว ธปท. คือ “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน” ผมมั่นใจว่ายืนตรงกับมองไกลเป็น DNA ของชาว ธปท. อยู่แล้ว แต่ในระยะข้างหน้า การยื่นมือและติดดินจะเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น เราต้องเปิดใจ เพื่อจะเข้าใจคนอื่น เข้าใจปัญหา และเข้าใจความต้องการ เพื่อช่วยประสานการทำงานและสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกับผู้คนที่หลากหลายในสังคมได้ นอกจากนี้ สิ่งที่เราทำต้องไม่เป็นเพียงทฤษฎีที่อยู่บนหิ้ง แต่ต้องนำไปใช้ได้ในทางปฏิบัติและเกิดผลได้จริง ต้องเน้นที่ผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้น เรื่องเหล่านี้สำคัญสำหรับการสร้างความน่าเชื่อถือและศรัทธาให้กับ ธปท.
ผมย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ธนาคารกลางทำงานได้คือความน่าเชื่อถือและศรัทธาของประชาชน โจทย์ที่เราจะเผชิญในอนาคตจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายและซับซ้อนมากขึ้น และเราก็ไม่สามารถทำตามความคาดหวังของทุกคนได้ บางครั้งเราอาจจะต้องทำในสิ่งที่คนไม่พอใจหรืออาจขัดผลประโยชน์ แต่เราต้องทำให้เขาเห็นว่า สิ่งที่ ธปท. ตัดสินใจทำ ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยในระยะยาว แม้คนบางกลุ่มอาจเสียผลประโยชน์ในระยะสั้น ๆ ถ้าคน ธปท. ช่วยกันสร้างบรรทัดฐานเช่นนี้ให้เกิดขึ้นได้ เราจะสามารถทำหน้าที่ธนาคารกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในระยะยาว
อ่านประกอบ :
หนุนรัฐกระตุ้นศก.! ‘วิรไท’ ชี้ขยายกรอบหนี้สาธารณะได้หากจำเป็น-'คลัง' โต้ ‘ถังแตก’
หนี้สาธารณะพุ่ง 51.64% ต่อจีดีพี! ครม.ไฟเขียวแผนบริหารใหม่-6 ปี 'บิ๊กตู่' เพิ่ม 2.68 ล้านล.
เปิดรายงานกนง. : ความไม่แน่นอนทางการเมืองกระทบค่าเงิน-หนุนนโยบายการคลังกระตุ้นศก.
'ขุนคลัง' ปรีดี ดาวฉาย : เอาวิกฤติให้รอดก่อน-รักษาหนี้สาธารณะที่ระดับ 60% ของจีดีพี
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ : โชว์นโยบายพลังงานกระตุ้นศก. ดันไทย 'ฮับขายไฟฟ้า-รื้อราคาโซลาร์ปชช.'
ครม.เห็นชอบ 'อนุชา บูรพชัยศรี' นั่งโฆษก รบ.คนใหม่ พร้อมตั้ง 11 ขรก.ดำรงตำแหน่ง 5 กระทรวง
วิกฤติยังไม่คลี่คลาย! เตือนอีก 3 เดือนตกงานเพิ่ม 6 แสนคน-ต่อคิวสมัครงานล้น 'รร.มิราเคิล'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/