“…โครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องเปิดโอกาสให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสที่สูงในหลายมิติ ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ บริการสุขภาพ เทคโนโลยี บริการทางการเงิน รวมถึงโอกาสในการประกอบอาชีพและโอกาสทางธุรกิจ…”
........................................
หมายเหตุ : เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กล่าวเปิดงานสัมมนา BOT Symposium 2022 ภายใต้แนวคิด ‘ก้าวสู่ยุคใหม่เศรษฐกิจการเงินไทย : Strengthening Economic and Financial Foundations for the Next Generation’ เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2565
ปีนี้มีความพิเศษ จากการที่เราเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 และปูรากฐานสำหรับการเติบโตเศรษฐกิจให้มีความมั่นคงและยั่งยืนในอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อไป จึงเป็นที่มาที่เราตั้งหัวข้อว่า ‘ก้าวสู่ยุคใหม่เศรษฐกิจการเงินไทย’
ตอนที่เราจะดูว่าเศรษฐกิจมีความยั่งยืน มีความมั่นคง และสร้างความเจริญต่างๆหรือไม่ เรามักจะดูเรื่องทุน ประชากร แรงงาน เทคโนโลยี ประสิทธิภาพ หรือที่เรียกว่า total factor productivity (ผลิตภาพรวม)
แต่อันหนึ่งที่สะท้อนว่า เศรษฐกิจไปสู่ความเจริญอย่างยั่งยืนหรือไม่ และบางทีเป็นพื้นฐานจะเราต้องดู คือ คนรุ่นใหม่ และคนรุ่นลูก มีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ รุ่นปู่ หรือรุ่นย่า หรือไม่
ถ้าดูในมิตินี้ ไม่ใช่เฉพาะในไทย แต่ในหลายประเทศ มีสิ่งที่สะท้อนว่า คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต เจอความไม่แน่นอน เจอการขาดความมั่นคงในหลายมิติด้วยกัน อย่างน้อยที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ มิติเศรษฐกิจ มิติเกี่ยวกับสังคม และมิติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
@โอกาสการสร้างรายได้-ความมั่งคั่ง ‘คนรุ่นใหม่’ ลดลง
เรื่องแรก การขาดความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจ (economic insecurity) ซึ่งจะพบว่าโอกาสในการสร้างรายได้ สร้างความมั่งคั่ง สำหรับคนรุ่นใหม่ ไม่ง่ายเลย และไม่ง่ายเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนๆ
เพราะถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจจะพบว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่าช่วงก่อน โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 1980 ซึ่งเป็นทศวรรษที่เฟื้องฟู เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยสูงถึง 7.2% แต่ในช่วงทศวรรษ 2010 การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงครึ่งหนึ่งหรือ 3.6% ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสหรือความสามารถในการสร้างความมั่งคั่ง สร้างรายได้ สร้างความเจริญที่ลดลง
มิติที่สอง เรื่องการศึกษาและการพัฒนาทักษะของคนรุ่นใหม่ให้ทันสมัย ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ พบว่าทำได้ยากขึ้นกว่าเดิม เพราะบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็ว และมีกระแสใหม่ๆ เช่น เรื่อง ESG คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) ที่มีความเข้มข้นขึ้น
จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า คนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยเรียน คนวัยทำงาน หรือคนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว นั้น จะมีทักษะอะไรที่เหมาะสม และตอบโจทย์ความต้องการของโลกในอนาคต ผมถูกถามบ่อยๆว่า ลูกเขาควรเรียนอะไร ซึ่งเป็นคำถามที่ตอบยากมากในภาวะปัจจุบันว่า จะเรียนอะไร
เพราะอาชีพเดิมๆที่เราคิดว่า เรียนไปแล้ว ค่อนข้างมั่นใจว่า จะเป็นรากฐานที่ดีที่ทำให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร หมอ มนุษย์การเงินอะไรต่างๆ แต่ในอนาคตเราเห็นกระแส AI ที่เข้ามา ดังนั้น การมีทักษะการศึกษาด้านพวกนี้อาจไม่ตอบโจทย์ก็ได้ และความมั่งคั่งก็อาจไม่ได้มาจากการเรียนในสาขาดั่งเดิม
นอกจากรายได้ที่สร้างได้ลำบาก และทักษะที่อาจทำให้ทันสมัย ทันการณ์ ทำได้ลำบากแล้ว อีกประเด็นหนึ่ง คือ คนรุ่นใหม่มีภาระหนี้ที่สูงกว่าคนรุ่นก่อนๆ ซึ่งเราจะเห็นว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น โดยพบว่า ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของคนอายุ 30 ปี มีหนี้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภค หนี้บัตรเครดิต ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
ขณะที่ 1 ใน 5 ของคนที่เป็นหนี้ และเป็นหนี้เสีย พบว่ากระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่อายุ 29 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน และอยู่ในช่วงการสร้างรากฐานของครอบครัว คนไทยนอกจากเป็นหนี้เยอะแล้ว ยังเป็นหนี้นานขึ้น
สะท้อนได้จากการที่หนี้ต่อหัวเร่งขึ้นในกลุ่มคนที่อายุปลาย 20 ปี เข้า 30 ปี และยังคงอยู่ในระดับสูงตลอดอายุการทำงาน และระดับหนี้ไม่ลดลงแม้จะเข้าสู่อายุใกล้เกษียณก็ตาม
@ปัญหาความ ‘เหลื่อมล้ำ’ ซ้ำเติมความไม่มั่นคงในสังคม
คนรุ่นใหม่ เผชิญกับการขาดความมั่นคงด้านสังคม (social insecurity) คนรุ่นใหม่ทั่วโลกเติบโตมาในช่วงที่ความขัดแย้งทางสังคมรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผลการสำรวจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น World Value Survey ที่พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนความเชื่อใจของคนในสังคมลดลงถึง 1 ใน 4 ในช่วงเวลา 10 ปี หรือระหว่างปี 2008-2018
ส่วนผลสำรวจเรื่องความแตกแยกในสังคม ‘คิดต่าง อย่างมีภูมิ’ โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างคนอายุต่ำกว่า 40 ปี เห็นว่าสังคมไทยมีคุณภาพต่ำกว่ากลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งสะท้อนถึง generation gap (ช่องว่างระหว่างวัย) ที่เกิดขึ้น ทั้งด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม การมีส่วนร่วมหรือการสมานฉันท์
สถานการณ์นี้ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับประเทศไทยเท่านั้น เพราะผลการสำรวจในกว่า 40 ประเทศ ของ Deloitte Global Millennial Survey พบว่า คนรุ่นใหม่แค่ 36% ของกลุ่มตัวอย่างในปี 2017 ที่คาดว่าสภาพสังคมและการเมืองจะดีขึ้น และที่น่าสังเกต คือ สัดส่วนนี้ลดลงเหลือเพียง 24% ในปี 2019
แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ความไม่มั่นใจ ความไม่มั่นคงทางสังคมเหล่านี้ ไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงในอนาคต จากการบริโภคสื่อที่มีความเห็นใกล้เคียงกันในระดับที่สูง จึงมีแนวโน้มที่จะสร้างความคิดแบบสุดขั้ว และรู้สึกอคติต่อคนฝั่งตรงข้ามมากขึ้น รวมทั้งถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศที่สูง โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในด้านโอกาส ยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความตึงเครียดในสังคมมากขึ้น
ความไม่มั่นคงด้านที่สาม คือ ความไม่มั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม (environmental insecurity) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เร่งตัวและรุนแรงขึ้น จะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน
โดยไทยถือเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภัยธรรมชาติ ขณะที่ขีดความสามารถของเราในการรับมือกับภัยธรรมชาติของไทยค่อนข้างต่ำ โดยอยู่ในอันดับที่ 39 จาก 48 ประเทศ ที่มีการสำรวจ
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคตของคนไทย ไม่เพียงแต่รายได้และทรัพย์สินที่เสียหายจากภัยธรรมชาติที่เกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังกระทบการผลิตในภาคเกษตรที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนไทย
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น จะทำให้พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น เป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญ มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบภาวะน้ำท่วม
ดังนั้น การขาดความมั่นคงในอนาคตทางสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ จึงครอบคลุมถึงการขาดความมั่นคงทางอาหาร (food insecurity) และการขาดความมั่นคงในถิ่นฐานที่อยู่ (insecurity in human settlements) อีกด้วย
ความไม่มั่นคงในอนาคตเหล่านี้จะบั่นทอนแรงจูงใจ ความพร้อม และโอกาสของคนรุ่นใหม่ ที่จะพัฒนาทักษะ ลงทุน บุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ และก้าวเข้ามาเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง
@โครงสร้าง ‘เศรษฐกิจไทย’ ไม่ตอบสนองบริบทเศรษฐกิจโลก
การที่คนไทยรุ่นใหม่ไม่มีความมั่นคงในอนาคตนี้เกิดจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือ การที่ระบบต่างๆ ในประเทศไทยปรับเปลี่ยนไม่ทันต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่พร้อมรับมือกับอนาคต ซึ่งผมขอยกตัวอย่าง 3 ตัวอย่าง
ตัวอย่างที่หนึ่ง คือ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ตอบสนองต่อบริบทของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป อุตสาหกรรมหลักของไทย ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เป็นอุตสาหกรรมโลกเก่า ซึ่งคิดเป็น 40% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด และ 37% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม และ 10% ของ GDP โดยรวม
ในขณะที่ในบางเซ็กเตอร์เจอความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นสาขารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปที่ถูกกระทบจากการเปลี่ยนเป็น EV จากความต้องการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ลดลงถึง 90%
สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไทยอาจไม่ได้ประโยชน์จากกระแส digitalization และ EV เนื่องจากผลิตสินค้าที่เติบโตต่ำ เช่น hard disk drives คิดเป็น 38% ของการส่งออกในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี มีแนวโน้มที่กระแสสิ่งแวดล้อมจะทำให้ความต้องการใช้พลาสติกและน้ำมันลดลง
ตัวอย่างที่สอง ที่สะท้อนความไม่เท่าทันของเรา คือ ระบบการศึกษาไม่ตอบสนองต่อตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ทำให้อาชีพของคนไทยในปัจจุบัน ไม่ตรงกับระดับการศึกษามากนักเมื่อเทียบกับในอดีต
งานวิจัยโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คนที่จบปริญญาตรีร้อยละ 80 ทำงานในอาชีพที่ถือว่าเป็นอาชีพทักษะสูง (high skill) แต่ในปัจจุบันคนที่จบปริญญาตรี กลับทำงานในกลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะระดับกลาง (middle skill) มากขึ้น ส่วนกลุ่มที่จบอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาที่ส่วนหนึ่งเคยได้ทำงานกลุ่มทักษะกลางและสูง ปัจจุบันก็ถูกผลักไปทำงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะ (low skill) เป็นส่วนใหญ่
ตัวอย่างที่สาม ที่เราอาจขาดความพร้อม คือ การขาดการแข่งขันที่เป็นธรรมในภาคธุรกิจที่ไม่เอื้อต่อการเข้ามาประกอบกิจการของผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งเป็นการจำกัดศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่มีความความสามารถ แต่ขาดโอกาส
โดยงานวิจัยโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า อัตราการเข้าสู่ตลาดของธุรกิจรายใหม่ (entry rate) มีแนวโน้มลดลงในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่บริษัทเดิมในอุตสาหกรรมมีอำนาจผูกขาดมากขึ้น
ในบริบทโลกใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พลวัตของภาคธุรกิจที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
@โครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องเปิดโอกาสให้ ‘ทุกคน’ เท่าเทียม
การสร้างความมั่นคงในอนาคตให้กับคนรุ่นใหม่จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนและเสริมสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งภาพหรือรูปร่างหน้าตาการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (shape of growth) ที่ควรจะเป็นควรครอบคลุมมิติ ต่อไปนี้
หนึ่ง โครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องเปิดโอกาสให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสที่สูงในหลายมิติ ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ บริการสุขภาพ เทคโนโลยี บริการทางการเงิน รวมถึงโอกาสในการประกอบอาชีพและโอกาสทางธุรกิจ
เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ใช้ศักยภาพของตนตอบสนองความต้องการในระบบเศรษฐกิจในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งยังช่วยลดการกระจุกตัวของความเจริญทางเศรษฐกิจ
สอง ระบบเศรษฐกิจจะต้องเอื้อให้คนรุ่นใหม่สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งในการยกระดับการผลิตในภาคเศรษฐกิจปัจจุบันที่สะท้อนจุดแข็ง (comparative advantage) ของประเทศ
เช่น การทำเกษตรอัจฉริยะ (smart farming) และการใช้ช่องทางทาง ecommerce ในการขายสินค้า รวมถึงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งภาคเศรษฐกิจและการเงินในอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในบริบทโลกใหม่
สาม ระบบเศรษฐกิจต้องมีโครงข่ายความคุ้มครอง (safety nets) เพื่อให้คนรุ่นใหม่กล้าที่จะบุกเบิก แสวงหาโอกาสใหม่ในการลงทุนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันได้
@ธปท.ชู 2 นโยบายหนุนศักยภาพคนรุ่นใหม่พัฒนาประเทศ
การเสริมสร้างรากฐานให้ระบบเศรษฐกิจการเงินของไทยก้าวทันบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เพื่อช่วยให้คนรุ่นต่อไปสามารถใช้ศักยภาพที่มีในการร่วมพัฒนาประเทศของเรา จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาครัฐ
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็มีบทบาทและหน้าที่ในการดูแลรักษาเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพด้านราคา ด้านการเงิน เศรษฐกิจ และระบบการชำระเงิน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญและจำเป็นในการลดความไม่มั่นคงเหล่านี้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ประเทศที่ประสบปัญหาการขาดเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเราบางประเทศ หรือเราเองที่เจอปัญหาในวิกฤติช่วงก่อน นี่เป็นตัวอย่างว่า หาก ธปท.ไม่สามารถทำหน้าที่เรื่องการรักษาเสถียรภาพได้อย่างดี จะเป็นตัวที่บั่นทอนการสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่
แต่นอกเหนือจากการทำหน้าของเราในการดูแลด้านเสถียรภาพ ธปท.ได้ทำนโยบายอย่างน้อย 2 ด้าน ที่จะช่วยสร้างโอกาสและลดความไม่มั่นคงให้กับคนรุ่นใหม่
แนวนโยบายแรก คือ แนวนโยบายเพื่อเพิ่มโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นในต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่ง ธปท.ได้ออก Consultation Paper เกี่ยวกับภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ซึ่งมีการพูดถึง 3 Open ได้แก่
Open Infrastructure หรือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เปิดกว้างให้ผู้ให้บริการที่หลากหลายสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม และให้ผู้บริโภคมีทางเลือกบริการที่ตรงกับความต้องการมากขึ้น
Open Data โดยการผลักดันระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลของประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและนอกภาคการเงิน เพื่อให้ digital footprint ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง ไม่เกิดการผูกขาดข้อมูลโดยบริษัทรายใหญ่ไม่กี่ราย และ
Open Competition โดยสนับสนุนให้ผู้ผู้ให้บริการทางการเงินรายใหม่และรายเดิมสามารถแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม (level-playing field) เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ตอบสนองผู้ใช้บริการและอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับดูแลที่เท่าเทียมกัน
ทั้ง 3 Open ที่ว่ามานี้ โจทย์หลัก คือ ช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ๆ ที่จะช่วยให้คนเข้าถึงทางเลือกด้านการเงินได้ง่ายขึ้น ได้มากขึ้น ทั่วถึง และสร้างโอกาสให้กับคน ซึ่งหากเทียบเคียงกับสมัยก่อนๆ ตัวที่เป็น Key พัฒนาประเทศอันหนึ่ง คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชิงคมนาคม ถนน รถไฟ ทำให้เกิดการค้า สร้างโอกาส
แต่ยุคนี้ ถนนหนทางค่อนข้างดีแล้ว แต่ตอนนี้ตัว Key ที่ต้องสร้าง คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการเงิน ซึ่งเป็นการปู เพราะคนเดินทางไปที่นี่ได้แล้ว แต่อยากทำให้เขาจับจ่ายใช้สอยได้สะดวก เดินทางไปประเทศเพื่อนบ้าน เราก็ทำ cross border payment (การชำระเงินข้ามพรมแดน) เพื่อทำให้การชำระเงินได้สะดวก ซึ่งเป็นโจทย์ของเรา
แนวนโยบายที่สอง คือ เราต้องการให้ภาคการเงินช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถ ปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนผ่านไปสู่ความต้องการของโลกใหม่ได้เร็วขึ้น โดยให้ภาคการเงินสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินที่จำเป็นต่อการปรับตัว
ธปท.ได้เผยแพร่เอกสารทิศทางด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมไปเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนให้ภาคการเงินผนวกเรื่องนี้ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจและการบริหารความเสี่ยง
ธปท.หวังว่าแนวนโยบายทั้งสองนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิจิทัล หรือ sustainably หรือเรื่อง Green น่าจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้คนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ สามารถเข้าถึงโอกาสในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม และสามารถใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ