“…ตั้งแต่ช่วง 4-5 ปีที่แล้วที่ Cryptocurrency เริ่มเป็นที่รู้จัก ธปท. เห็นทั้งประโยชน์และความเสี่ยง โดยความเสี่ยงที่เห็น ได้แก่ (1) มูลค่าผันผวนสูง (2) มีความเสี่ยงด้านไซเบอร์ (3) อาจถูกใช้เป็นช่องทางทำผิดกฎหมายหรือการฟอกเงิน และ (4) ความเสี่ยงต่อการคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยผู้ใช้บริการอาจจะยังไม่เข้าใจความเสี่ยงของ Cryptocurrency…”
............................
หมายเหตุ : ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘The Future of Financial System อนาคตโลกการเงิน’ ในงานสัมมนา 50 ปี เครือเนชั่น Virtual Forum Thailand Next EP.2 gเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2564
ผมขอขอบคุณเครือเนชั่นที่ให้เกียรติผมมานำเสนอมุมมองวันนี้ ในหัวข้อที่น่าสนใจและมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ผมจะขอแบ่งการเล่าออกเป็น 5 เรื่องด้วยกัน
เรื่องที่ 1 ก่อนที่จะมองไปในอนาคต คงต้องมองย้อนกลับไปอดีตก่อน เพื่อฉายภาพให้เห็นถึงบริบทของเราวันนี้ ว่ามีที่มาอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงแบบไหน มากน้อยเพียงใด
เรื่องที่ 2 คือ การมองไปข้างหน้าว่าจะเห็นแนวโน้มต่าง ๆ ที่จะมีนัยต่อระบบการเงินของเราในอนาคตอย่างไร
เรื่องที่ 3 แนวโน้มเหล่านั้น จะมีผลอย่างไรต่อระบบการเงินของไทย ซึ่งอาจแตกต่างจากประเทศอื่น
เรื่องที่ 4 บทบาทและแนวทางในการกำกับดูแลของ ธปท. ต่อการปรับเปลี่ยนต่าง ๆ เหล่านี้
และเรื่องที่ 5 เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะขอใช้เรื่องของ Digital Currency ที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชนมาสะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่เราเห็น และปิดท้ายด้วยการปรับบทบาทและแนวทางในการกำกับดูแลของ ธปท. ในเรื่องนี้
เรื่องที่ 1 ใน 10 ปีที่ผ่านมา เราเห็นอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างในระบบการเงินไทย
เมื่อดูสถิติของผู้เล่นประเภทต่าง ๆ ในภาคการเงินในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์รวมของธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า สินทรัพย์รวมของสหกรณ์ออมทรัพย์เพิ่มขึ้นมาเกือบ 3 เท่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบ 2.7 เท่า และมูลค่าตราสารหนี้ภาคเอกชน เพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า บทบาทหรือ Footprint ของกลุ่ม Non-Bank ในระบบการเงินเพิ่มขึ้นมากใน 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแนวโน้มนี้จะคงเห็นมากขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า
อีกเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือ เรื่อง Digital โดย 10 ปีที่แล้ว เราเห็นจำนวนบัญชีที่ใช้ Mobile Banking เดิมอยู่ที่ 5 แสนบัญชี แต่ล่าสุด ณ เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น 75 ล้านบัญชี จำนวนธุรกรรม e-Payment เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่มีเพียง 17 ครั้งต่อคนต่อปี ล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 251 ครั้งต่อคนต่อปี คิดเป็นถึง 15 เท่า
นอกจากนี้ ตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนมาก คือ ปริมาณการโอนเงินผ่าน Internet และ Mobile Banking จากเดิม 95 ล้านรายการต่อปี มาอยู่ที่ 9,610 ล้านรายการต่อปีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่า
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่า 10 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้วเป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งในแง่ของบทบาทของ Non-Bank และที่ชัดคือบทบาทของ Digital ที่มากขึ้น
เรื่องที่ 2 หน้าตาของระบบการเงินในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเป็นอย่างไร
ต่างจากในอดีตที่ผู้เล่นยังมีหน้าตาที่คล้ายกัน ในอนาคต ผู้เล่นใหม่จะมีหน้าตาไม่เหมือนเดิม โดยจะมาจากทิศทางใหม่ ๆ เช่น ข้าม Jurisdiction หรือข้ามชาติเข้ามา หรือข้ามมาจาก Sector อื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเงินมาก่อน หรือ มาจาก Channel ใหม่ๆ
นอกจากนั้น อาจมีผู้เล่นใหม่ที่มีลักษณะเป็น No Player คือ เป็นผู้เล่นที่ไม่มีตัวตนอยู่เลย ดังเช่นผู้เล่นในธุรกิจที่เกี่ยวกับ Decentralized Finance (DeFi) ที่เป็นการเชื่อมต่อกันโดยตรงโดยการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น Blockchain โดยไม่มีตัวกลาง ดังนั้น การแข่งขันในอนาคตจะมาจากผู้เล่นที่หลากหลายยิ่งขึ้น จากทั้ง New Player และ No Player
อีกแนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจน คือ เรื่อง Digital ที่ผู้บริโภคจะสามารถใช้และเข้าถึงบริการทางการเงินได้แบบไร้ขอบเขต (Anywhere / Any time และบน Any Device) ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นเหมือนกันในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่การใช้ข้อมูลที่เป็น Digital หรือ Digital Footprint จะมีมากขึ้น
นอกจากเรื่อง Digital ที่การเปลี่ยนแปลงมาแน่และมาเร็วแล้ว จะมีอีกมิติหนึ่งที่ไม่ควรละเลย และจะส่งผลกระทบไม่น้อยต่อระบบเศรษฐกิจและการเงิน คือ กระแสของเรื่อง “Green” (ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม) ซึ่งโลกข้างหน้าจะมีความ Green กว่าเดิมมาก
เมื่อไม่นานนี้ Inter-governmental Panel on Climate Change (IPCC) ได้ออกรายงานที่มีเนื้อหาที่ค่อนข้างชัดและค่อนข้างแรงเกี่ยวกับ Scenarios ของ Climate Change และผลกระทบที่จะมีในวงกว้างต่อทุกสาขาธุรกิจและทุกประเทศในโลก รวมทั้งในเวทีการประชุมในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นขององค์กรระหว่างประเทศ ธนาคารกลางต่างประเทศ หรือธนาคารต่างประเทศ กระแสเรื่อง Green จะถูกหยิบยกและได้รับความสำคัญอย่างมาก
แม้ว่าผลกระทบโดยตรงจากเรื่อง Climate Change อาจยังไม่เห็นชัดเจนใน 10 ปีนี้ ตัวอย่างเช่น โลกที่จะร้อนขึ้น 1.5 องศา ใน 20-30 ปี หรือพื้นที่น้ำแข็งในขั้วโลกเหนือช่วงเดือนกันยายนจะละลาย จนมีโอกาสหายเกือบไปทั้งหมดภายใน 40 ปี
แต่ผลกระทบที่จะชัดเจนและมาเร็วยิ่งกว่า คือ ผลจากนโยบายในการรับมือกับ Climate Change ของประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้าของไทย กลุ่มประเทศที่เห็นชัดที่สุด คือ กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ที่การบังคับใช้นโยบายเรื่องนี้จะเข้มข้นมาก อย่างเรื่อง Cross Border Adjustment Mechanism (CBAM) คือ การที่จะจัดเก็บภาษีเพื่อสะท้อนถึงต้นทุนด้าน Carbon ของสินค้าที่จะนำเข้าในประเทศ
ดังนั้น โลกข้างหน้า ไม่เพียงแต่จะต้องเจอกับกระแสของ Digital แต่ยังมีกระแสของเรื่อง Green ด้วย ซึ่งไม่เฉพาะแต่ภาคธนาคารที่จะได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวรับมือกับกระแสเหล่านี้ แม้กระทั่งความร่วมมือในกลุ่ม Asset Managers ต่างก็มุ่งสู่ Net Zero Initiatives แล้ว เป็นมูลค่ากว่าครึ่งหนึ่งของ Asset under Management (AUM) ทั่วโลก
การเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาพใน 10 ปีข้างต้นนี้ จะ “เร็ว” และ “แรง” เนื่องจาก
1.การพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด เห็นได้จากราคาของเทคโนโลยีที่ลดลงอย่างรวดเร็ว เช่น ต้นทุนของอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่ในปี 1996 hard-drive 1 gigabyte ราคาอยู่ที่ประมาณ 625 USD ผ่านมา 5 ปี ในปี 2000 ราคาอยู่ที่ 10 USD และปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 2 cents เท่านั้น และต้นทุนของการประมวลผลก็ลดลงอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน
เห็นได้จากบทความของ Samsung ที่ชี้ว่าการประมวลผลของ smartphones ทั่วไปในวันนี้ ถือว่าเร็วกว่า Cray-2 Supercomputer เมื่อยุค 80 เกือบพันเท่า นอกจากนี้ การพัฒนาจากเครือข่าย 4G ไป 5G จะยิ่งทำให้การเชื่อมต่อต่างๆ เร็วขึ้นมาก
ซึ่งทุกอย่างตามที่กล่าวมานั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็ว และจะเร็วกว่าที่เราเห็นจากอดีตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จาก adoption ของเทคโนโลยีใหม่ของผู้บริโภคนั้นเกิดเร็วขึ้นแบบก้าวกระโดด สะท้อนจากระยะเวลาในการหันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สั้นลงเรื่อยๆ
2.Platform ต่างๆ จะมีบทบาทมากขึ้น และจะเป็นผู้เล่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลง Landscape และระบบการเงินอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการให้บริการในลักษณะที่เป็น Platform มีแนวโน้มที่จะเป็นลักษณะ Winner takes all ของผู้เล่นรายใหญ่ ๆ เพียงไม่กี่ราย เพราะ Platform มีองค์ประกอบที่จะทำให้เกิด Network Effect ได้มาก
คือ ยิ่งมีคนมาเข้าร่วมในวงของ Platform ใดมากยิ่งขึ้น มูลค่าหรือประโยชน์ที่จะได้รับจาก Platform นั้นก็จะยิ่งมากขึ้น และจะทำให้ยิ่งมีลูกค้าใหม่ ๆ สนใจร่วมมากขึ้นไปอีก จึงทำให้มีโอกาสที่จะเห็นผู้เล่นน้อยรายที่เป็นรายใหญ่ ตัวอย่างเช่น Messaging Application ที่เราใช้ ถ้าไม่มีผู้อื่นใช้กับเรา Application นั้นก็จะไม่มีประโยชน์ แต่หากมีคนเข้ามาใช้เพิ่มขึ้นก็จะส่งผลดีต่อผู้ใช้และ Platform มากยิ่งขึ้น
เมื่อมองควบคู่กับการที่มีการนำเทคโนโลยี Artificial Intelligent (AI) มาใช้สำหรับการให้บริการบน Platform เช่น Recommender System การที่ยิ่งมีคนใช้ Platform มากยิ่งขึ้น ข้อมูลจะยิ่งมากขึ้น ระบบ AI ก็จะแม่นยำยิ่งขึ้นไปด้วย และจะเป็นอีกแรงผลักดันให้ Platform มีความน่าสนใจและมีบทบาทมากยิ่งขึ้น
Platform ถือเป็นการเพิ่มคู่แข่งที่มีศักยภาพสูงมากในระบบการเงิน เนื่องจาก Platform เดิมที่มีผู้ใช้งานสูงอยู่ก่อนหน้า สามารถเสนอสินค้าและบริการใหม่ ๆ ได้ง่ายมากและง่ายกว่าผ่านช่องทางของผู้ให้บริการแบบดั้งเดิม
ตัวอย่างเช่น YouTube ที่เข้ามาทำธุรกิจ Music Streaming มีอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดของธุรกิจนี้ สะท้อนประโยชน์ในการใช้ฐานลูกค้าจากบริการด้านอื่น ๆ ของ YouTube มาเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจใหม่นี้จนกระทั่งกลายมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของ Traditional Player ในอุตสาหกรรมนี้ Platform จึงเป็นอีกมิติที่คิดว่าจะเป็นแนวโน้มที่สำคัญที่อยู่ในระบบการเงินในอนาคตข้างหน้า
เรื่องที่ 3 แล้วการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและแรงนี้ จะมีนัยและผลกระทบอย่างไรในบริบทของไทย
แนวโน้มต่าง ๆ ข้างต้น จะปรากฎให้เห็นได้ไม่แตกต่างกันทั่วโลก แต่เรื่องเหล่านี้จะมีพัฒนาการอย่างไรต่อไป สำหรับแต่ละประเทศแล้วอาจแตกต่างกัน ซึ่งจากข้อมูลที่เราเห็นจากต่างประเทศที่ชัดเจนคือ Uptake หรือการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเร็ว เมื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถปิด Pain Point สำคัญได้
เห็นได้จากตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ที่มีผู้เล่นใหม่เช่น KaKao และประเทศอังกฤษที่มีผู้เล่นใหม่เช่น Monzo ที่ช่วยทำให้การเปิดบัญชีรวดเร็วและง่ายดายขึ้นมาก ซึ่งเป็น Pain Point สำคัญของคนในประเทศ จึงประสบความสำเร็จและสามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
ในขณะเดียวกัน ประเทศไนจีเรียมีการ Uptake การใช้ Cryptocurrency ที่ค่อนข้างเร็ว เนื่องจากระบบเศรษฐกิจขาดเสถียรภาพ ค่าเงิน เงินเฟ้อ และการโอนเงินระหว่างประเทศ มีปัญหามาก ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจส่วนใหญ่หันมาพึ่งพิง Cryptocurrency จึงเกิด Uptake ที่ค่อนข้างเร็ว
ดังนั้น ความเร็วของ Adoption และ Uptake ของสิ่งที่มาใหม่ดูได้จากการตอบ Pain Point ของคนในประเทศนั้นๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในบริบทของไทยจะหน้าตาเป็นอย่างไร ต้องดู Pain Point สำคัญในระบบการเงินของไทย
สำหรับไทย Pain Point ไม่ได้อยู่ที่ด้านระบบการชำระเงินในประเทศ เพราะปัจจุบันในไทยสามารถโอนเงินผ่าน Mobile Banking ได้ค่อนข้างสะดวก การชำระเงินต่างๆ สามารถทำผ่านการ scan QR code ได้
ด้านเสถียรภาพระบบการเงินก็ไม่ได้เป็น Pain Point แบบกรณีของประเทศไนจีเรีย เพราะไทยมีเงินเฟ้อที่ไม่สูง ค่าเงินค่อนข้างมีเสถียรภาพ ระบบการเงินก็มีเสถียรภาพ ความมั่นใจของคนที่มีต่อระบบสถาบันการเงินสูง ดังนั้น Uptake ของ Cryptocurrency ที่จะมีการนำมาใช้ “ในวงกว้าง” และรวดเร็วในลักษณะเดียวกันกับที่เห็นในประเทศไนจีเรีย จึงไม่น่าเห็นในกรณีประเทศไทย
สิ่งที่เป็น Pain Point สำคัญของระบบการเงินไทย อยู่ที่การเข้าถึงสินเชื่อสำหรับรายย่อยและ SMEs โดยครัวเรือนร้อยละ 86 ยังมีหนี้กึ่งในระบบและนอกระบบ และร้อยละ 60 ของ SMEs ในไทย ยังไม่ใช้บริการสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน (ธนาคารพาณิชย์และ SFIs)
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดต่างๆ ที่รายย่อยและ SMEs ยังมีในการที่จะเข้าถึงสินเชื่อ ทำให้เป็นโอกาสที่เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถจะแก้ไขปัญหานี้ จะเกิดการ Uptake ได้มากและมีศักยภาพที่จะโตและปรับเปลี่ยนได้เร็ว
อีก Pain Point หนึ่งคือ การโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งต้นทุนไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นยังถือว่าสูง โดยค่าธรรมเนียมเฉลี่ยในการโอนเงินไปต่างประเทศต่อมูลค่าการโอนของไทยอยู่ที่ 13.3% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 6.5%
ที่กล่าวมา เป็นภาพทั้งในแนวโน้มที่น่าจะเห็นในโลก และจุดที่จะเห็นระบบการเงินไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย
เรื่องที่ 4 แล้วบทบาทของ ธปท. จะเป็นอย่างไร
บทบาทและแนวทางของ ธปท. ที่จะรองรับและเอื้ออำนวยให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างราบรื่น มี 3 มิติสำคัญ ดังนี้
มิติที่ 1 More Open Data Data เป็น Resource ที่สำคัญมาก เมื่อปีที่แล้วทางการจีนประกาศว่านอกจาก แรงงาน ทุน เทคโนโลยี ที่ดิน แล้ว Resource ที่สำคัญต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกอย่าง คือ Data ดังนั้น จึงต้องทำให้เกิดการนำ Data มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับ Resource อื่น รวมถึงการนำ Digital Footprint หรือข้อมูลที่เรา Generate จากการที่เราทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น e-Commerce Transaction มาช่วยให้การเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น
นอกจากการใช้ Data ข้าม Platform ต่าง ๆ แล้ว ในอีกแง่มุมหนึ่งที่อาจใกล้ตัวมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเร็วขึ้น คือ การใช้ Data ในแวดวงที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ แวดวงธนาคาร โดยมีโครงการที่ ธปท. กำลังดำเนินการร่วมกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ basic อย่าง Bank Statement ระหว่างสถาบันการเงินง่ายขึ้น ทำให้การขอสินเชื่อข้ามธนาคารสามารถทำได้สะดวกขึ้น เป็นต้น
มิติที่ 2 More Open Competition คือ การสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่กว้างขึ้น ซึ่งมีหลายมิติ มิติแรกที่ขาดไม่ได้ คือ มิติของการเปิดกว้างให้ผู้ให้บริการทางการเงินรายใหม่เข้ามาแข่งขันมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ต้องเปิดให้ผู้เล่นปัจจุบัน
เช่น ธนาคารพาณิชย์สามารถที่จะปรับตัวเพื่อที่จะแข่งขันกับผู้เล่นใหม่ได้ ให้มี Level-Playing Field ในการแข่งขัน ดังที่เราเห็นจากตัวอย่างในต่างประเทศที่ธนาคารทำการควบรวม (Merger and Acquisition) หรือซื้อบริษัท FinTech ต่าง ๆ ไว้เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสำหรับการแข่งขันในอนาคต
อีกสิ่งหนึ่งที่ ธปท. ยอมรับว่าต้องปรับปรุง เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่จะมี Player ใหม่และ Innovation ที่ต่อยอดไปได้ คือ การปรับเรื่อง Sandbox ของ ธปท. ซึ่งที่ผ่านมาอาจยังไม่ยืดหยุ่นเท่าที่ควร โดยต่อไปจะต้องปรับปรุงให้สามารถเอื้อต่อ More Open Competition ได้
มิติที่ 3 Open Infrastructure สิ่งที่สำคัญ คือ เราจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่จะให้ผู้เล่นหลากหลาย ทั้งผู้เล่นปัจจุบันและผู้เล่นใหม่ สามารถที่จะเข้ามาแข่งขัน บน Level-Playing Field และต่อยอดในเชิงนวัตกรรมได้
ตัวอย่างโครงการหนึ่งที่ ธปท. อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ Central Web Service ที่นำข้อมูล invoice มารวบรวมไว้เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงให้ SMEs ที่อยากจะขอสินเชื่อ Factoring สามารถเข้าถึงได้สะดวกและง่ายขึ้น ซึ่งเป็นตัวอย่างของการที่ ธปท. ได้ทำโครงสร้างพื้นฐานที่ทั้ง Bank และ Non-Bank สามารถเข้ามาใช้ได้ เพื่อช่วยให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ Factoring ได้ ซึ่งการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ถือเป็นหนึ่งใน Pain Point สำคัญของระบบการเงินไทย
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ของ Open Infrastructure คือ Central Bank Digital Currency (CBDC) ที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่ ธปท. ต้องเตรียมไว้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง
เรื่องที่ 5 Digital Currency
ที่หยิบยกเรื่อง Digital Currency ด้วยเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจ และจะช่วยให้เห็นภาพทิศทางการพัฒนาที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งในมุมของการมีผู้เล่นรายใหม่ที่มาจาก Sector อื่น เช่น ผู้ให้บริการเทคโนโลยี (Tech Firms) และทำให้เห็นว่าเส้นแบ่งระหว่างกิจกรรมและผู้ให้บริการต่างๆ เริ่มไม่ชัดเจน สร้างความท้าทายให้ทั้งหน่วยงานกำกับดูแลและผู้เล่นเดิมในตลาด
เช่น กรณีของ Decentralized Finance หรือ DeFi ซึ่งเป็นการให้บริการทางการเงินที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Programmable Contract และ Blockchain ซึ่งการตีความผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่เกิดจาก Programmable Contract จะมีความท้าทายมากขึ้น
ตั้งแต่ช่วง 4-5 ปีที่แล้วที่ Cryptocurrency เริ่มเป็นที่รู้จัก ธปท. เห็นทั้งประโยชน์และความเสี่ยง โดยความเสี่ยงที่เห็น ได้แก่ (1) มูลค่าผันผวนสูง (2) มีความเสี่ยงด้านไซเบอร์ (3) อาจถูกใช้เป็นช่องทางทำผิดกฎหมายหรือการฟอกเงิน และ (4) ความเสี่ยงต่อการคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยผู้ใช้บริการอาจจะยังไม่เข้าใจความเสี่ยงของ Cryptocurrency
อย่างไรก็ดี ธปท. เห็นถึงประโยชน์ เช่น เป็นเทคโนโลยีที่เปิดกว้าง เข้าถึงได้ง่าย สามารถนำไปต่อยอดนวัตกรรมได้ดี ดังนั้น ธปท. จึงหาวิธีที่จะลดความเสี่ยงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ให้ได้สูงสุด โดยได้จัดทำโครงการ Central Bank Digital Currency (CBDC) ในรูปแบบ Wholesale ภายใต้โครงการอินทนนท์ในปี 2561
และในระยะต่อไป จะขยายผลไปสู่การเตรียมทดลองใช้สำหรับประชาชน (Retail CBDC) หลังจากที่ได้จัดทำ Consultation Paper เพื่อรับฟังความเห็นจาก Stakeholders ไปแล้ว
เหตุผลที่ ธปท. เดินหน้าเรื่อง CBDC เนื่องจากมีประโยชน์ใน 3 ด้าน ได้แก่
(1) เป็นทางเลือกให้กับประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา มีการออก Cryptocurrency โดยภาคเอกชนอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย ทำให้มีประเด็นกังวลเรื่องความปลอดภัย เรื่องการเข้าถึง และการหวังผลกำไร ธปท. จึงมองว่าประชาชนควรมีทางเลือกในการเข้าถึงเงินดิจิทัลที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไร และทำเพื่อส่วนรวม ปลอดภัย และสามารถเข้าถึงได้
โดยไม่เกิด Fragmentation ของ Cryptocurrency ทำให้การแลกเปลี่ยนไม่สะดุด (2) ลดต้นทุน (3) เพิ่มโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะการทำ Programmable Contract บน Digital Currency ได้ ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ในหลายเรื่องและช่วยให้ระบบการเงินสามารถรองรับอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับช่องทางอื่น ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
เทียบกับเงินสด : CBDC สะดวกกว่าการใช้เงินสด จากการที่ CBDC สามารถส่งเงินทางไกลได้ และไม่ต้องขนย้ายเหมือนเงินสด ซึ่งมีต้นทุนมหาศาลในการบริหารจัดการ
เทียบกับ e-Money : แม้ e-Money จะมีความสะดวก แต่มีเอกชนทำหน้าที่เป็นตัวกลาง และยังต้องพึ่งพิงเครือข่ายต่าง ๆ ซึ่งทำให้โอกาสที่จะนำไปใช้งานในวงกว้างยังคงจำกัดอยู่ ดังนั้น Retail CBDC น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีเทียบกับ e-Money
เทียบกับ PromptPay : แม้ PromptPay จะมีการใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่ยังขาด Feature บางอย่าง เช่น Programmability หรือความสามารถในการกำหนดเงื่อนไขที่จะนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมทางการเงินอื่น ๆ ที่มีใน CBDC ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนและธุรกิจในอนาคตได้มากกว่า
เรื่อง Programmability เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการสร้าง Infrastructure โดยบทบาทการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตจะอยู่กับภาคเอกชนเป็นหลัก ดังนั้น โจทย์สำคัญของ ธปท. จึงเป็นการสร้างและพัฒนา Infrastructure ที่จะรองรับเรื่องนวัตกรรมให้เกิดการต่อยอดได้
ตัวอย่างของนวัตกรรมที่สร้างบนพื้นฐานของ Programmability เช่น การสั่งสินค้าออนไลน์ที่สามารถตั้งเงื่อนไขให้ยังไม่มีการจ่ายเงินออกไปจนกว่าของจะมาถึง หรือถ้ามองในแง่ของนโยบาย ภาครัฐอาจสามารถกำหนดให้การให้เงินอุดหนุนประชาชนสามารถกำหนดเงื่อนไขได้ว่าจะนำไปใช้กับสิ่งใดได้บ้าง เช่น กับสินค้าจำเป็น หรือแม้กระทั่ง การระบุเงื่อนไขให้เงินหมุนได้เร็วขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากบริบทการปรับตัวด้าน Digital แล้ว เรื่อง “กระแสความยั่งยืน” โดยเฉพาะเรื่องของ Climate Change จะมาเร็ว และ แรง เช่นกัน ภาคเอกชน ทั้งธุรกิจและสถาบันการเงินต้องรีบปรับตัว และ ธปท. เองในฐานะผู้กำกับดูแลภาคการเงินที่เป็นกลไกในการจัดสรรเงินทุนให้กับระบบเศรษฐกิจ จะเร่งสนับสนุนและผลักดันให้ทุกภาคส่วนพร้อมที่จะปรับตัวได้อย่างทันการณ์
โดย ธปท. จะสร้างระบบนิเวศเรื่องความยั่งยืนเพื่อสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องให้กับธุรกิจและภาคการเงิน โดยมีองค์ประกอบสำคัญ อาทิ การเปิดเผยข้อมูล (disclosure) เพื่อให้มีข้อมูลในการติดตามและประเมินเรื่องสิ่งแวดล้อม และการนิยามการเงินสีเขียว (green taxonomy) ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
“ท้ายนี้ ในการก้าวเข้าสู่โลกอนาคต จะเห็นว่าระบบการเงินจะต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลง คือ ภารกิจและพันธกิจของ ธปท. ที่จะยังมุ่งรักษาเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน ระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพราคาต่อไป”
อ่านประกอบ :
‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ : เสถียรภาพด้านการคลังของประเทศไทยยังอยู่ใน 'เกณฑ์ดี'
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ :'หลุมรายได้'อาจมีขนาด 2.6 ล้านล.-จำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้น
เปิดใจ 'เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ' เบื้องลึกภารกิจฟื้นฟูเศรษฐกิจของ ธปท.
ดร.เศรษฐพุฒิ : สาดกระสุนไปโดยขาดความแม่นยำ...อาจกลายเป็นผลลบ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/