“…ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายแบบ countercyclical เพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งต้องขอบคุณภาครัฐ ที่ล่าสุดได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นเป็น 70% แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะดูแลสถานการณ์ให้ได้มากขึ้นและต่อเนื่อง…”
......................
หมายเหตุ : ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บรรยายพิเศษ หัวข้อ มาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยุคโควิด ในงานประชุมสามัญประจำปี 2564 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2564
ถ้าย้อนกลับไปช่วงยุคทองของเศรษฐกิจไทย ช่วง 15 ปีก่อนวิกฤตปี 2540 เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ต่อปี ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตในช่วงนั้น ก็คือ ภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง GDP ภาคอุตสาหกรรมโตเกือบ 10% และสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ของประเทศสูงถึง 34%
แต่ใน 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงมาเฉลี่ยไม่ถึง 3% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการเติบโตที่ 2% และสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP เหลือไม่ถึง 25%
ซึ่งสะท้อนว่ายุคที่เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูเป็นยุคที่ภาคอุตสาหกรรมเข้มแข็ง ช่วยขับเคลื่อนการลงทุนและเศรษฐกิจ รวมถึงความมั่งคั่งของประชาชน ดูได้จากการเติบโตของค่าจ้างในภาคอุตสาหกรรมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่โต 4% เทียบกับค่าเฉลี่ยของภาพรวมของประเทศที่ 2%
แต่ก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับไปเข้มแข็งได้ จะต้องก้าวผ่านวิกฤตโควิด และปูรากฐานให้ภาคอุตสาหกรรมในยุคหลังโควิดเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
วันนี้ ผมจึงขอแบ่งการบรรยายออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน
ส่วนแรก จะเป็นการฉายภาพรวมของผลกระทบต่อธุรกิจและครัวเรือนจากสถานการณ์โควิด
ส่วนที่ 2 จะให้มุมมองต่อการดูแลเศรษฐกิจและระบบการเงิน รวมทั้งมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ส่วนที่ 3 จะขอให้มุมมองเกี่ยวกับการปรับตัวของภาคส่วนต่าง ๆ ที่ต้องเร่งทำ ถ้าจะให้ประเทศโตได้อย่างยั่งยืนหลังผ่านปัญหาโควิดไปแล้ว
@จีดีพีลบมากสุดรอบ 22 ปี-ว่างงานเกิน 1 ปีพุ่ง 2 แสนคน
ส่วนแรก คือ ต้องยอมรับว่าวิกฤตโควิด เป็นวิกฤตที่หนัก ส่งผลกระทบในวงกว้างและแรง ทั้งต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดยตัวเลข GDP ติดลบมากที่สุดในรอบ 22 ปี เป็นรองแค่ปี 2541 แต่ตัวเลข GDP ก็อาจยังไม่สะท้อนผลกระทบในวงกว้างที่ภาคธุรกิจและประชาชนต้องเผชิญจากโควิด ซึ่งในรอบนี้ นับได้ว่าเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบแรงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
ภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เป็นตัวอย่างหรือจุดที่สะท้อนความรุนแรงของปัญหาที่เราเจอได้ดี ในช่วงก่อนโควิด เราได้เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมาประเทศไทยปีละ 40 ล้านคน แต่ล่าสุด ปีนี้จนถึงกรกฎาคม มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเพียง 6 หมื่นคน พูดได้ว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปเกือบทั้งหมด
และจากผลสำรวจของ ธปท. ในเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการโรงแรมถึง 65% จะมีสภาพคล่องในการทำธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน ทำให้หลายรายต้องปิดกิจการชั่วคราว และบางส่วนที่สู้ไม่ไหว ต้องประกาศขายกิจการ
และไม่ใช่เพียงภาคบริการที่ถูกกระทบหนัก ภาคการผลิตก็ได้รับผลหนักเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงระลอกแรกที่มีการประกาศ lockdown ที่การผลิตในไตรมาส 2 ปี 2563 ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี และการระบาดระลอกล่าสุด ก็กลับมากระทบการผลิตอีกครั้ง โดยเฉพาะการผลิตเพื่อขายในประเทศ
มิหนำซ้ำการผลิตเพื่อส่งออกก็ถูกกระทบจากปัญหาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลน semiconductor หรือตู้คอนเทนเนอร์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จากการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน เช่น การทำ Bubble and Seal ที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น
เห็นได้จากตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 3.5% เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ 0.5% ในขณะที่ต้นทุนนี้ ยังส่งผ่านไปยังผู้บริโภคไม่มาก สะท้อนจากราคาฝั่งขายที่ปีนี้เฉลี่ยอยู่เพียง 0.7%
นอกจากภาคธุรกิจที่ถูกกระทบหนักแล้ว ภาคครัวเรือนก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน ส่วนแรกที่เห็นชัดเจน คือ การจ้างงาน ที่ถูกกระทบอย่างรุนแรง โดยจากข้อมูลการจ้างงานในไตรมาส 2 ปีนี้ จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน (ผู้เสมือนว่างงาน คือ มีงานทำแต่ไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) รวมกันอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านคน เทียบกับแรงงานทั้งหมดที่ 39 ล้านคน ถือเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อย สอง
ผู้ว่างงานระยะยาว คือ เกิน 1 ปี อยู่ที่เกือบ 2 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 3 เท่าตัว นอกจากนี้ เรายังเห็นแรงงานย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมจากการถูกเลิกจ้าง โดยล่าสุดในเดือนสิงหาคม มีจำนวน 2 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา ที่ 5 แสนคน
@หน้าที่ ‘ธปท.’ ดูแล ‘ธนาคารพาณิชย์’ ทำงานต่อเนื่อง
ส่วนที่สอง ที่อยากพูดถึงคือ ภายใต้ผลกระทบที่หนักและเป็นวงกว้าง บทบาทสำคัญอย่างแรกของ ธปท. คือ ต้องดูแลให้ระบบการเงินและระบบสถาบันการเงินทำงานได้ตามปกติ เพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้ไปต่อได้ เพราะธนาคารพาณิชย์มีบทบาทสำคัญในการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ
และไทยก็เป็นประเทศที่พึ่งพาระบบธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างสูง เห็นได้จากตัวเลขสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท เทียบกับสินเชื่อที่มาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือ SFIs ที่ 5 ล้านล้านบาท คิดเป็นเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของระบบธนาคารพาณิชย์
และแม้ในช่วงหลัง ภาคเอกชนจะระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้น แต่ยอดคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนอยู่ที่เพียง 3 ล้านล้านบาท สะท้อนว่าเครื่องยนต์สำคัญที่จะหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน ก็คงหนีไม่พ้นธนาคารพาณิชย์
ซึ่งในภาวะที่มีความเสี่ยงสูงและเศรษฐกิจที่หดตัวนี้ โอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะหุบร่ม หรือไม่ปล่อยสินเชื่อ จะมีสูง ดังนั้น เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามและแรงไปกว่าเดิม หน้าที่สำคัญของ ธปท. คือ ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ทำงานได้ต่อเนื่อง ใกล้เคียงกับภาวะปกติ
แล้วที่ผ่านมา ระบบธนาคารพาณิชย์ทำงานได้ดีแค่ไหน
ที่ผ่านมา เราเห็นว่าระบบธนาคารพาณิชย์ยังทำงานได้ดีระดับหนึ่ง ดูได้จาก 3 เหตุผล คือ
(1) สินเชื่อยังโตใกล้เคียงกับก่อนโควิด สะท้อนจากสินเชื่อใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2564 ของระบบธนาคารพาณิชย์ ที่โต 4% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดที่ประมาณ 4% เช่นกัน ซึ่งการขยายตัวของสินเชื่อที่ 4% นี้ คิดเป็นเม็ดเงินสินเชื่อใหม่กว่า 5 แสนล้านบาท
(2) สินเชื่อยังโตได้ดีแม้ในภาวะวิกฤต หากเทียบกับบริบทของเศรษฐกิจในอดีต จะเห็นว่า ปกติสินเชื่อจะขยายตัวสูงในช่วงที่ GDP หรือเศรษฐกิจขยายตัวดี แต่สำหรับปีนี้ที่เศรษฐกิจน่าจะโตไม่ถึง 1% ขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์ยังสามารถให้สินเชื่อใหม่ได้ที่ 4% จึงเป็นสัญญาณว่าระบบยังทำงานได้ดี
และ (3) สินเชื่อของไทยยังโตได้มากกว่าประเทศในภูมิภาค แม้ไทยถูกกระทบจากโควิดหนักที่สุดและฟื้นช้ากว่าประเทศอื่น เห็นได้จาก สินเชื่อของไทยที่โต 4% ขณะที่อินโดนีเซียหดตัว 1.7% ฟิลิปปินส์หดตัว 0.9% และสิงคโปร์ขยายตัว 1.4% โดยมีเพียงมาเลเซีย ที่มีอัตราขยายตัวใกล้เคียงกับไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ยังไม่หุบร่ม ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง
@ชูโยบาย ‘countercyclical’ ในช่วงเศรษฐกิจซบเซา
นอกจากเรื่องสินเชื่อใหม่ ยังมีเรื่องการดูแลภาระหนี้เดิม ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้มาตรการต่างๆ ของ ธปท. มาต่อเนื่อง โดยลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือภายใต้มาตรการ เพิ่มขึ้นไปสูงสุด ณ เดือนกรกฎาคม 2563 กว่า 6 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้กว่า 4 ล้านล้านบาท
ซึ่งถ้าเทียบกับสินเชื่อทั้งหมดในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ 14 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นสัดส่วนไม่น้อย และในปัจจุบันจำนวนลูกหนี้ทั้งหมดภายใต้มาตรการมีอยู่เกือบ 3 ล้านบัญชี
แต่หากเทียบกับปัญหาที่รุนแรงและสะสมมานานจากวิกฤตครั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อและช่วยเหลือ ลูกหนี้โดยกลไกปกติของธนาคารพาณิชย์ แม้จะทำมาได้ดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร
ที่ผ่านมา เราจึงไม่ได้พึ่งพากลไกตลาดเพียงอย่างเดียว แต่มีบทบาทของภาครัฐเข้าไปเสริม หรือไปอุดในบางจุดที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่ เพื่อเพิ่มความช่วยเหลือให้ครอบคลุมมากขึ้น
โดยเราได้ดำเนินนโยบายแบบ countercyclical ที่ในช่วงเศรษฐกิจซบเซา ต้องเป็นนโยบายที่ผ่อนปรนเกณฑ์ต่างๆ ให้เหมาะกับบริบทที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน เพื่อลดโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะหุบร่ม รวมทั้งดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินและภาวะการเงินให้ผ่อนคลายต่อเนื่อง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
รวมทั้งได้ปรับลด FIDF fee ให้กับสถาบันการเงิน เพื่อส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงนี้ไปช่วยลดภาระต่อให้ลูกหนี้ โดยเราเห็นอัตราดอกเบี้ยในตลาด เช่น m-rates ลดลงประมาณ 0.5-0.7% เทียบกับก่อนโควิด ซึ่งช่วยลดภาระหนี้ของภาคธุรกิจและประชาชนได้
นอกจากนี้ จุดที่ระบบธนาคารพาณิชย์ยังทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร คือ การช่วยเหลือ SMEs ซึ่งสำหรับสินเชื่อใหม่ ถูกเสริมด้วยการออกมาตรการเฉพาะ เช่น พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟูฯ เพื่อให้ระบบธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือ SMEs ได้มากขึ้น โดยใช้การค้ำประกันผ่าน บสย. มาช่วยลดความเสี่ยงได้ส่วนหนึ่ง
ซึ่งแม้จะยังไม่เพียงพอ แต่อย่างน้อย เริ่มเห็นสินเชื่อ SMEs ขยายตัวกลับมาเป็นบวกได้ จากเดิมที่ติดลบมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด โดยล่าสุดในเดือนกรกฎาคม สินเชื่อ SMEs ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% ซึ่งหากไม่มีผลของมาตรการดังกล่าว สินเชื่อ SMEs จะยังติดลบที่ 1%
นอกจากนี้ ภาครัฐยังใช้กลไก SFIs มาเสริมในการสนับสนุนสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ SMEs โดยสินเชื่อ SFIs ขยายตัวกว่า 4% ซึ่งมีทั้งโครงการที่ดำเนินการตามมติ ครม. รวมถึงโครงการที่ SFIs ดำเนินการเองที่ปล่อยเม็ดเงินไปแล้วอีกกว่า 3 แสนล้านบาท ตั้งแต่ช่วงเกิดสถานการณ์โควิดเป็นต้นมา
และในจุดที่มาตรการ ธปท. ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เราก็ได้ปรับวิธีการ engage เพิ่มเติม ด้วยการเข้าไปรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจผ่านสมาคมต่างๆ รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยด้วย อีกทั้งยังเป็นตัวกลางในการประสานความช่วยเหลือระหว่างภาคธุรกิจและธนาคารพาณิชย์ในการสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟู
และประสานกับ SFIs ในส่วนของสินเชื่อโครงการรัฐ เช่น Lineman X Wongnai กับธนาคารออมสิน เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องธุรกิจร้านอาหารและกลุ่มไรเดอร์ที่ได้รับผลกระทบ และในระยะต่อไป จะขยายความช่วยเหลือไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในธุรกิจอื่นๆ
(เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ)
@สนับสนุนแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ของ ‘ลูกหนี้’ ระยะยาว
ที่เราดำเนินการไปทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่า เราทำพอแล้ว ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมจะออกหรือปรับมาตรการเพิ่มเติมตามความจำเป็น ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ พ.ร.ก. Soft loan ที่ ธปท. และภาครัฐได้เร่งออกมาเพื่อแก้ปัญหาในช่วงระบาดระลอกแรก
แต่เมื่อพบข้อจำกัด จึงได้ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มเติม ซึ่งสามารถให้สภาพคล่องแก่ธุรกิจ SMEs ได้เกิน 100,000 ล้านบาท ภายใน 4 เดือน เร็วกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 6 เดือน และแม้จะเป็นไปตามเป้าแล้ว ล่าสุด เรายังได้ปรับเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อสอดรับกับบริบทที่เจออยู่ เช่น ปรับรูปแบบการค้ำประกัน เพื่อให้สินเชื่อไปถึงกลุ่มเสี่ยงมากยิ่งขึ้น และลดโอกาสที่กลุ่มนี้จะเข้าไม่ถึงสินเชื่อ
นอกจากปรับเรื่องสินเชื่อใหม่ มาตรการดูแลหนี้เดิมก็มีออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่แตกต่างกันและยืดเยื้อ ทำให้มาตรการลักษณะที่เป็นการพักหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้น ๆ ไม่ตอบโจทย์และไม่เอื้อให้เกิดการปรับตัว ดังนั้น ธปท. จึงได้ออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 กันยายน
เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้เหมาะกับปัญหา โดยให้ลูกหนี้จ่ายหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงมากในช่วงนี้ และช่วยเหลือเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการขยายเวลาชำระหนี้ รวมทั้งต้องเร่งช่วยลูกหนี้ให้ได้จำนวนมากและเร็ว โดย ธปท. จะติดตามดูแลการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิด
ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือจากกลไกของระบบธนาคารพาณิชย์ กลไก SFIs และกลไกเสริมจาก ธปท. ก็คงยังจะมีคำถามจากหลายท่านในที่นี้ว่า เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้ว มีเพียงพอ ทั่วถึงทุกคน หรือช่วยเท่าที่ทุกคนต้องการแล้วหรือไม่
ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ได้ทั้งหมด ด้วยวิกฤตที่หนัก กว้าง และรุนแรงขนาดนี้ เราต้องจัดสรรทรัพยากรของประเทศที่มีจำกัดไปช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก แต่มีโอกาสที่จะพลิกฟื้นและกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ในทางกลับกัน หากจัดสรรทรัพยากรไปใช้อย่างไม่ถูกจุด ผู้เดือดร้อนหนักอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือเพียงพอ และอาจส่งผลให้กลไกของระบบธนาคารพาณิชยไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ เราจะเห็นการหุบร่มแทนจะที่เห็นการปล่อยสินเชื่อเพิ่ม เราจะเห็นการเรียกหนี้คืนจากธนาคารพาณิชย์ หรือการขายลูกหนี้หรือทรัพย์ออกไปนอกธนาคารพาณิชย์ในราคา force sale ดังเช่นที่เกิดขึ้นในวิกฤติ
ปี 2540 ซึ่งจะทำให้ผลกระทบยิ่งขยายเป็นวงกว้าง ดังนั้น การดูแลช่วยเหลือลูกหนี้จึงจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างการบรรเทาผลกระทบต่อลูกหนี้ กับการดูแลเสถียรภาพและการทำงานของระบบการเงินให้ดำเนินต่อไปได้ มิเช่นนั้น ผลกระทบจะกว้าง ยาว และหนักกว่าที่เราประสบในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี แม้การดูแลช่วยเหลือลูกหนี้จะไม่ได้ทำให้ลูกหนี้รอดทุกคน แต่สิ่งที่เราอยากเห็น คือ การทำให้ลูกหนี้รอดมากที่สุด ดังนั้น บทบาทสำคัญของ ธปท. จึงเป็นการออกแบบมาตรการ ปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เอื้อหรือสนับสนุนให้สถาบันการเงินสามารถจัดสรรทรัพยากรไปช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น และยังมีฐานะแข็งแกร่ง
เพราะด้วยหน้าที่หลักของ ธปท. คือ การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน รวมถึงให้ธนาคารพาณิชย์สามารถสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง แต่เราไม่ใช่เจ้าของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งแตกต่างจากกรณีแบงก์รัฐที่มีรัฐเป็นเจ้าของ รัฐสามารถเพิ่มทุน และกำหนดให้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามนโยบายของรัฐได้
ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์เองก็ถือเป็นผู้ประกอบธุรกิจเหมือนกับทุกท่านในที่นี้ ที่ต้องดูแลความมั่นคงของธุรกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อ stakeholder ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งสำหรับธนาคารพาณิชย์ ก็คือ ผู้ฝากเงิน หรือเจ้าของ ซึ่งก็คือผู้ถือหุ้น ดังนั้น การดำเนินการใด ๆ จึงต้องคำนึงถึงสิทธิและผลกระทบนี้ด้วย ทำให้ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความต้องการและความจำเป็นในแง่มุมต่าง ๆ อย่างรอบคอบ เพื่อให้เศรษฐกิจในภาพรวมยังเดินต่อไปได้
มาตรการต่างๆ ของ ธปท. ทั้งหมดที่ผมกล่าวมานี้ เป็นการเน้นให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจ ประชาชนรายย่อย และเศรษฐกิจโดยรวม ให้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้มากที่สุด แต่แน่นอนว่า คงไม่เพียงพอสำหรับระยะข้างหน้า ที่ธุรกิจจะเผชิญกับความท้าทายและต้องเติบโตให้ได้อย่างยั่งยืนในโลกใหม่ ซึ่ง ธปท. ก็พร้อมที่จะมีมาตรการเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนและจูงใจให้ทุกฝ่ายสามารถปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ได้อย่างราบรื่นและทันการณ์
@แนะตั้งรับกระแส ‘ดิจิทัล-สิ่งแวดล้อม’ มาแรงและเร็ว
ส่วนสุดท้าย ผมจะขอพูดถึงเรื่องการปรับตัวที่จำเป็นต่อการวางรากฐานในอนาคตให้เศรษฐกิจไทยและธุรกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ในระยะข้างหน้า มีหลายเรื่องที่เป็นกระแสใหม่ แต่จะมีอย่างน้อย 2 กระแสที่มาแรงและเร็ว ซึ่งเราทุกคนต้องเตรียมรับมือ
อย่างแรก คือ กระแสเรื่องดิจิทัล ที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นการใช้เทคโนโลยีต่างๆ อาทิ การใช้ digital footprint ในการทำธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น รวมถึงมีผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องของดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งการเตรียมความพร้อมในการรองรับกระแสดิจิทัลนี้ เป็นโจทย์สำคัญกับทุกภาคส่วน
นอกจากกระแสเรื่องดิจิทัลแล้ว อีกกระแสหนึ่งที่อยากจะฝากไว้คือเรื่อง ESG โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบเร็วและแรงกว่าที่คาด ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วม แต่จะรวมถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจจากการออกนโยบายต่างๆ เพื่อบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนของประเทศพัฒนาแล้ว
ตัวอย่างที่ชัดที่สุด คือ กรณีที่สหภาพยุโรปได้ออก European Green Deal ซึ่งจะมีการบังคับใช้ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ซึ่งจะคล้ายกับภาษีที่จัดเก็บตาม carbon footprint ของสินค้าต่างๆ ถ้าเราไม่ปรับตัว เช่น สินค้าส่งออกยังมี carbon footprint มาก เราก็จะได้รับผลกระทบมากเช่นกัน
ดังนั้น 2 กระแสนี้ จึงเป็นตัวอย่างของสิ่งที่จะมากระทบกับทุกภาคส่วน ซึ่งทุกฝ่ายต้องปรับตัว ปรับรูปแบบ และกระบวนการทำงาน เพื่อให้สามารถรองรับกระแสดังกล่าว ซึ่งนับวันจะยิ่งมีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ที่สำคัญ เราจะต้องออกจากวิกฤตนี้ด้วยแผลเป็นที่น้อยที่สุด เพื่อให้มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการปรับตัวรองรับกระแสโลกใหม่ได้ดีขึ้น
สำหรับภาคธุรกิจ ภายใต้บริบทที่ปัจจัยภายนอกมีความไม่แน่นอนสูง การวางแผนทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง การดำเนินกิจการหรือการลงทุนใหม่ จะต้องให้น้ำหนักมากขึ้นกับกระแสโลกใหม่ ทั้งการให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และกระแสเรื่องดิจิทัลที่จะทำให้ธุรกิจต้องแข่งขันกันมากขึ้น
ในส่วนของประชาชน ต้องเตรียมรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ เร่งวางแผนทางการเงิน จัดเตรียมเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทางการเงินมากขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มความสำคัญกับการเท่าทันกับกระแสดิจิทัล เพราะนอกจากจะเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับงานในโลกใหม่แล้ว ยังช่วยป้องกันการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ที่อาจมีเพิ่มขึ้นได้
สำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ นอกจากจะมีหน้าที่ดูแลให้ลูกหนี้ผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้แล้ว สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ การปรับตัวเพื่อรองรับบริบทใหม่ๆ และต้องจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปในรูปแบบที่สอดคล้องกับกระแสของอนาคตที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ green และ ESG มากขึ้น
อาทิ การผนวกเรื่อง ESG เข้าไปตลอดกระบวนการให้สินเชื่อ การเปิดเผยข้อมูลเรื่องการดำเนินการด้านความยั่งยืน รวมถึงการมีนโยบายขององค์กรที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างชัดเจน
ธปท. ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลระบบธนาคารพาณิชย์และทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ ก็ต้องปรับตัวอย่างน้อย 3 ด้าน คือ
(1) การดูแลให้บรรยากาศในภาคการเงินเอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงการปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน
(2) ต้องเพิ่มสมดุลระหว่างการเอื้อให้มีนวัตกรรมใหม่หรือมีผู้เล่นรายใหม่ กับการดูแลให้ระบบการเงินยังสามารถสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้และมีเสถียรภาพ
และ (3) ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนและ SMEs ที่ยังเป็น pain point สำคัญของระบบการเงินไทย ภาครัฐเอง ต้องปรับตัวไปสู่การเป็น facilitator โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชนมากขึ้น และในการแก้ปัญหาวิกฤตโควิดนี้
ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายแบบ countercyclical เพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งต้องขอบคุณภาครัฐ ที่ล่าสุดได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นเป็น 70% แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะดูแลสถานการณ์ให้ได้มากขึ้นและต่อเนื่อง แต่ก็ต้องใส่ใจกับการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น ให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพื่อให้เศรษฐกิจกลับไปเติบโตอย่างเต็มศักยภาพได้ยั่งยืน
สุดท้ายนี้ ผมอยากเรียนว่า เราเคยผ่านวิกฤตที่หนักหน่วงมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติปี 2540 วิกฤติการเงินโลกปี 2551 วิกฤติน้ำท่วมปี 2554 และมาถึงวิกฤตรอบนี้ ซึ่งได้กล่าวไปแล้วว่าหนักกว่ารอบก่อน ๆ แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยจะผ่านพ้นไปได้อีกครั้ง เพราะมีความเข้มแข็ง สามารถปรับตัวได้เร็ว
เห็นได้จากปีที่แล้ว ในช่วง lockdown ที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงจากระดับก่อนโควิดถึง 20% แต่สามารถฟื้นกลับมาได้ใน 4 ไตรมาส เช่นเดียวกับช่วงน้ำท่วมปี 2554 ที่ดัชนีฯ ลดลงถึงเกือบ 30% แต่สามารถฟื้นกลับมาได้ภายใน 2 ไตรมาส
ผมจึงเชื่อว่า ท้ายที่สุดเราจะผ่านพ้นจากวิกฤตินี้ไปได้ แต่จะพ้นอย่างไร
หากเราจะพ้นจากวิกฤตินี้ ในแบบที่ให้คนรอดมากที่สุด ลดแผลเป็นให้เหลือน้อยที่สุด สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงแค่แต่ละภาคส่วนทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจในบทบาทและข้อจำกัดของกันและกัน เพื่อไม่ให้เกิด “เส้นแบ่ง” ว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ ลูกจ้างหรือนายจ้าง รายเล็กหรือรายใหญ่
เพราะทุกคนต่างก็ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย และแต่ละคนก็อยู่ในหลายบทบาท มีหมวกหลายใบที่ต้องสวม ตัวอย่างเช่น ถ้าท่านเป็นเจ้าของธุรกิจ SMEs ท่านก็อาจเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ แต่ในขณะเดียวกัน ท่านก็อาจเป็นเจ้าหนี้การค้า และเป็นนายจ้างของลูกจ้างด้วย
ดังนั้น การหันหน้าเข้าหากัน การประนีประนอมกันมากขึ้น และมองให้รอบด้าน จะทำให้เราเห็นทางออกในการก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้อีกครั้ง
อ่านประกอบ :
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : ฉายภาพ‘อนาคตโลกการเงิน’-บทบาท ธปท. ยุค'แพลตฟอร์ม-คริปโตฯ'
‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ : เสถียรภาพด้านการคลังของประเทศไทยยังอยู่ใน 'เกณฑ์ดี'
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ :'หลุมรายได้'อาจมีขนาด 2.6 ล้านล.-จำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้น
เปิดใจ 'เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ' เบื้องลึกภารกิจฟื้นฟูเศรษฐกิจของ ธปท.
ดร.เศรษฐพุฒิ : สาดกระสุนไปโดยขาดความแม่นยำ...อาจกลายเป็นผลลบ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/