‘ชัชชาติ’ แถลงหลัง สภากทม. คว่ำญัตติ ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ น้อมรับมติ เล็งตั้ง กมธ.ศึกษาประเด็นนี้ให้ชัด จ่อตอบกลับ ‘มหาดไทย’ ไม่ต่อสัมปทานในส่วนผู้บริหารกทม.ก่อน ส่วนการคืนโครงการให้รัฐบาล ยังเป็นไปได้ เลื่อนจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่มีกำหนด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 26 ตุลาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า หลังจากสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) มีมติให้ถอนวาระการพิจารณาเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำให้การเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทารปราการ ต้องเลื่อนออกไปก่อน เพราะตนต้องการให้ สภากทม. เห็นข้อมูลและรับทราบ คาดว่า หลังจากนี้ สภากทม.จะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อศึกษาในประเด็นนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง
ส่วนกรณีการตอบกลับความเห็นกระทรวงมหาดไทย ก็อาจจะตอบในส่วนของผู้บริหาร กทม. ไปก่อน โดยความเห็นที่จะตอบคือ ควรปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562) และควรให้รัฐบาลสนับสนุนค่างานโครงสร้างพื้นฐานเหมือนโครงการอื่น เช่น โครงการถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว - สำโรง ซึ่งเงื่อนไขที่ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 วางไว้ก็ต้องยึดประชาชนเป็นสำคัญ เพราะอำนาจตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ความเห็นของ กทม. เป้นเพียงส่วนเล้กน้อยเท่านั้น
ขณะที่ช่องทางการคืนโครงการให้รัฐบาลทั้งหมด นายชัชชาติตอบว่า เป็นไปได้ และถ้าทุกโครงการมีเจ้าของคนเดียว ค่าแรกเข้าอะไร ก็ง่ายขึ้น แต่จะทำอะไรก็ตาม ประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด
ขณะที่การตั้งข้อสังเกตว่า อำนาจในการพิจารณาเป็นของคณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 นั้น นายชัชชาติระบุว่า ก็เป็นสิ่งที่สมาชิกสภากทม.ให้ความเห็นไว้ อาจจะต้องหารือกับอัยการสูงสุดต่อไปในประเด็นทางกฎหมาย
เลื่อนเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2
ด้านแหล่งข่าวจาก กทม. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ส.ก.ส่วนใหญ่ ยังมีความไม่เข้าใจในประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว จึงต้องการที่จะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาก่อน ส่วนจะใช้เวลากี่วันกี่เดือน ยังไม่ได้หารือกัน
ส่วนการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอขิต - สะพานใหม่ - คูคต ยังไม่สามารถจัดเก็บได้ต่อไป เพราะคณะผู้บริหาร กทม. ต้องการรับทราบความเห็นของ สภากทม. อีกทั้งการที่ผู้บริหารกำหนดแล้วว่าจะจัดเก็บที่ 15 บาท แต่การเก็บค่าโดยสารในอัตราดังกล่าว ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยการจัดเก็บค่าโดยสารที่ 15 บาท จะทำให้กทม.มีรายได้ 1,899 ล้านบาท/ปี แต่ต้นทุนการบริหารจัดการเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 อยู่ที่ 4,800 ล้านบาท/ปี (เดือนละ 400 ล้านบาท) เกิดเป็นส่วนต่างประมาณ 2,901 ล้านบาท ซึ่งจะต้องขอ สภากทม. อนุมัติงบประมาณอุดหนุนด้วยในกาลต่อไป
อ่านประกอบ
สภากทม.คว่ำ ‘ญัตติ’ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตีความ คำสั่งม.44 ไม่ให้อำนาจ กทม.-ส.ก.พิจารณา
‘ชัชชาติ’ ประกาศไม่ต่อสัมปทานสายสีเขียว เสนอรัฐบาลอุดหนุนค่าก่อสร้าง 5.8 หมื่นล้าน
‘ชัชชาติ’ ลุ้น สภากทม. เคาะค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายสายสีเขียว 26 ต.ค.นี้
ศาลสั่ง ‘กทม.-เคที’ จ่าย 1.1 หมื่นล้าน ปมค้างค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
เจาะคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เกาะติดท่าที 'กทม.-เคที'อุทธรณ์คดีค่าเดินรถ'สายสีเขียว'
เบื้องหลัง 2 แนวคิดเก็บค่าตั๋วส่วนต่อขยาย‘สายสีเขียว’คั้นรายได้ 2.6 พันล.โปะหนี้ BTSC
2 สัญญา 3.5 แสนล.! ย้อนดูค่าจ้าง เดินรถ'สายสีเขียว'ส่วนต่อขยาย ก่อน'เคที'จ่อรื้อใหม่
ISRA WHY? : ‘ธงทอง จันทรางศุ’แม่ทัพ'กรุงเทพธนาคม'ภารกิจสุดขอบฟ้า ล้างหลุมดำ กทม.
แก้จ้างเดินรถ BTS ชัดเจนปีนี้ ‘ธงทอง’เคลียร์ส่วนต่อขยาย 1-2
ไม่เกินส.ค.นี้เสนอสภากทม.เคาะค่าโดยสารสายสีเขียว ถอดรายได้ 2 สูตรจ่ายค่าเดินรถ