“...เวลาที่เราทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลจะมีรอยเท้าดิจิทัล หรือ Digital Footprint และรอยเท้าการชำระเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งในรอยเท้าที่สำคัญของ Digital Footprint ซึ่งเจ้าของรอยเท้า หรือตัวลูกค้าเอง สามารถนำไปทำธุรกรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงบริการทางการเงิน การปรับรูปแบบการบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละคนได้มากขึ้น วันนี้เราอยู่ในช่วงของการวางระบบ หรือพัฒนาสถาปัตยกรรมของระบบ Payment Data (ข้อมูลการชำระเงิน) ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงกว้าง เชิงลึก และลงรายละเอียดรายธุรกรรม เพื่อทำให้เกิดประโยชน์กับเจ้าของข้อมูล...”
.....................................
หมายเหตุ : วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษในงาน 'Bangkok FinTech Fair 2020' ผ่านระบบออนไลน์ (virtual conference) ภายใต้หัวข้อ 'Digital Transformation for the New Normal : พร้อมรับวิถีใหม่ เอสเอ็มอี ก้าวต่อไปด้วยดิจิทัล' จัดโดยธนาคารแห่งประเทศ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2563
FinTech จะมีบทบาทสำคัญมากสำหรับโลกยุคใหม่ ซึ่งเป็นโลกดิจิทัลมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ ทั้งธุรกิจที่เป็นสถาบันการเงิน และธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมทั้งยังทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ถูกลง มีต้นทุนการเงินที่ถูกลง และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ที่สำคัญจะช่วยทำให้การบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับทางการเงินมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 คล้ายกับการที่มีคนมากดปุ่ม fast forward ทำให้หลายอย่างที่เราคิดว่าจะเกิดขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก ในการประยุกต์ใช้ดิจิทัลก็เช่นเดียวกัน โควิด-19 ได้มากดปุ่ม fast forward ทำให้เราต้องเร่งการปรับตัว และการ Transform ตัวเองให้เข้าสู่โลกดิจิทัลให้เร็วมากขึ้น”
ในโลกข้างหน้า เราพูดกันถึงโลกหลังโควิด-19 ซึ่งเรามักบอกกันว่าเป็นชีวิตวิถีใหม่สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาคธุรกิจ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างมาก
แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลย คือ เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาเป็นหัวใจสำคัญ เข้ามาเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประชาชนหรือภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่โลกใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในขณะที่เราจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เพราะกำลังผลิตส่วนเกินที่เกิดขึ้นมาก ไม่ใช่เฉพาะเกิดขึ้นแต่ไทยเท่านั้น แต่รวมถึงระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งใครก็ตามที่สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ จะช่วยลดต้นทุนไปพร้อมๆกับช่วยยกระดับรูปแบบการทำธุรกิจของตัวเองได้
“เรื่องการปรับตัวให้เข้าสู่โลกดิจิทัล และสอดคล้องกับวิถีของโลกใหม่ เป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างความสามารถในการทนทาน และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง หรือคาดเดาไว้ยากขึ้นเรื่อยๆได้”
เช่นเดียวกัน ธปท.ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวให้เข้าสู่โลกในยุคดิจิทัล ซึ่งต้องทำให้เร็วขึ้น ต้องทำให้กว้างไกลขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา คนที่ติดตามงาน 'Bangkok FinTech Fair มาต่อเนื่อง จะเห็นว่าธปท.มีนวัตกรรมทางการเงินหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยนวัตกรรมทางการเงินเหล่านี้เป็นกลไกที่สำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้เกิด 'Digital Transformation ในวงกว้าง โดยขอยกตัวอย่าง 3 เรื่อง
เรื่องแรก เป็นระบบการชำระเงิน Instant Payment หรือระบบพร้อมเพย์ (Promptpay) ของไทย ซึ่งเริ่มเมื่อ 4 ปีที่แล้ว วันนี้ได้รับการยอมรับจากประชาชนในวงกว้าง มีคนที่ลงทะเบียนกับพร้อมเพย์ไอดี ไม่ว่าจะเป็นเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ หรือเลขประจำตัวนิติบุคคล มีการลงทะเบียนพร้อมเพย์สูงถึง 55.1 ล้านไอดี และมียอดการใช้งานทำลายสถิติใหม่เรื่อยๆ โดยสุงสุดอยู่ที่ 20 ล้านรายการต่อวัน
ส่วนระบบชำระเงินผ่าน QR Code ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ต่อยอดจากพร้อมเพย์ ซึ่งในช่วงที่มีการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 มีคนมาใช้ QR Code สำหรับการชำระเงินเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยปัจจุบันมีคนที่รับและจ่ายเงินผ่าน QR Code สูงถึง 6 ล้านไอดี
“การปรับตัวเข้าสู่ระบบพร้อมเพย์ ส่งผลให้การทำธุรกรรมการชำระเงินแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เช็ค การเบิกเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม หรือการทำธุรกรรมเบิกถอนเงินสดที่สาขาของธนาคารพาณิชย์ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสัญญาณดีว่าที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมเริ่มปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งธุรกิจไหนก็ตามที่หันมา QR Code ดิจิทัลเพย์เมนต์ ก็สามารถทำธุรกิจได้ต่อเนื่องในช่วงที่มีการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19
อีกทั้งยังสามารถขยายโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้บริโภคในตลาดใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยช่องทางการค้าขายแบบออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเราจะพัฒนาระบบพร้อมเพย์ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็เชื่อว่าระบบนี้ยังต่อยอดได้อีกมาก และทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆที่อาศัยช่องทางการชำระเงินพร้อมเพย์ ในลักษณะที่กว้างขึ้น ลึกขึ้น เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้เพิ่มขึ้นอีกมาก”
เรื่องที่สอง ที่ธปท.เริ่มต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรู้จักกันในชื่อ โครงการอินทนนท์ หรือโครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency : CBDC) โดยเราได้ทำการทดสอบ พัฒนาต้นแบบ ซึ่งมีพัฒนาการโดยต่อเนื่อง ตั้งแต่การชำระเงินระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารในประเทศไทย และขยายวงเชื่อมต่อไปสู่ธนาคารกลางต่างประเทศ และเราเพิ่มทำการทดสอบการโอนเงินข้ามประเทศกับธนาคารกลางฮ่องกง
รวมทั้งไปเชื่อมต่อกับระบบการชำระของตราสารสำคัญ คือ ตราสารพันธบัตร อันนี้เป็นหัวใจที่ธนาคารกลางชั้นนำของโลกจะต้องให้ความสำคัญ และธปท.กำลังวางแผนในการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางต่อไปในอนาคต
เรื่องที่สาม การนำเทคโนโลยีชีวมิติ หรือการยืนยันตัวตนผ่านเทคโนโลยีชีวมิติ (Biometrics) เข้ามาใช้ในเรื่องการยืนยันตัวตน เพราะการทำธุรกรรมทางการเงินดิจิทัล ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราต้องก้าวข้ามอุปสรรคสำคัญ คือ การยืนยันตัวตนโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลแทนที่เราจะต้องเอาตัวของเราไปแสดงตนที่สาขาหรือที่ทำการของผู้ให้บริการ วันนี้เราเริ่มเห็นการใช้ Biometric Facial Recognition (การยืนยันตัวตนผ่านใบหน้า) เข้ามาใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ในขณะที่การพัฒนาแพลตฟอร์ม National Digital ID (NDID) ที่เริ่มนำไปใช้บริการในภาคธนาคารแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง ธปท.ได้ร่วมกับกระทรวงการคลั และทำให้เกิดขึ้นแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา คือ การส่งเสริมให้เกิด P2P Lending Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ที่้เปิดกว้างมากขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกการเข้าถึงสินเชื่อแก่ประชาชนและเอสเอ็มอี
“เชื่อว่าเทคโนโลยีที่เป็น platform base จะต้องตอบโจทย์ในโลกที่เป็น ‘แพลตฟอร์มอีโคโนมี’ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเรายังต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิด Transformation ของธุรกิจไทย และประชาชนคนไทยในวงกว้าง”
(วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย)
ขณะเดียวกัน มีงานที่อยู่ในแผนงานสำคัญของ ธปท. อีก 4 เรื่อง
เรื่องแรก เป็นการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่จะขยายตัวไปสู่ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยเราจะใช้มาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินเพิ่มขึ้น และเป็นไปตามมาตรฐานใหม่ หรือ ISO 20022 ซึ่งการส่งข้อมูลการเงินรูปแบบใหม่จะทำได้ละเอียดมากขึ้น มีข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่ข้อมูลเพียงแค่ใครโอนเงิน โอนเงินเท่าไหร่ และปลายทางอยู่ที่ไหน แต่สามารถโยงรายละเอียดไปถึงธุรกรรมที่เกี่ยวข้องได้
“ข้อมูลที่แสดงออกมาจะไม่ใช่แค่ข้อมูลธุรกรรมเบื้องต้นเท่านั้น แต่จะเป็นข้อมูลเชิงลึกที่สามารถโยงไปสู่รายละเอียดธุรกรรมที่เกี่ยวข้องได้ และนี่จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การทำ e-Invoice (ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์) หรือทำ E-Factoring (ข้อมูลลูกหนี้การค้าทางอิเล็กทรอนิกส์) ต่อไป”
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงมาตรฐาน ทั้งเรื่องของข้อมูลด้านการเงิน หรือข้อมูลการชำระเงินตามมาตรฐาน ISO 20022 จะต้องเป็นความร่วมมือกัน ทั้งสถาบันการเงิน บริษัท และธุรกิจห้างร้านต่างๆ รวมทั้งผู้ที่มีส่วนในการพัฒนาระบบหลังบ้านให้กับธุรกิจร้านค้าต่างๆด้วย และนี่จะเป็นโครงการใหญ่ที่จะใช้เวลาอีก 1 ปีครึ่งนับจากนี้ไป จนกว่าจะเห็นผลสำเร็จในวงกว้าง
เรื่องที่สอง หัวใจอันหนึ่งของโลกดิจิทัล เป็นเรื่องของการมีข้อมูลเชิงลึกรายธุรกรรม หรือเป็นข้อมูลที่เรียกว่า Granular Data ซึ่งเราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องการตอบโจทย์ของลูกค้าที่เป็นเจ้าของข้อมูลได้มากขึ้น
“เวลาที่เราทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลจะมีรอยเท้าดิจิทัล หรือ Digital Footprint และรอยเท้าการชำระเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งในรอยเท้าที่สำคัญของ Digital Footprint ซึ่งเจ้าของรอยเท้า หรือตัวลูกค้าเอง สามารถนำไปทำธุรกรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงบริการทางการเงิน การปรับรูปแบบการบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละคนได้มากขึ้น วันนี้เราอยู่ในช่วงของการวางระบบ หรือพัฒนาสถาปัตยกรรมของระบบ Payment Data (ข้อมูลการชำระเงิน) ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงกว้าง เชิงลึก และลงรายละเอียดรายธุรกรรม เพื่อทำให้เกิดประโยชน์กับเจ้าของข้อมูล”
เรื่องที่ 3 เป็นเรื่อง Digital ID ถ้าเราจะเข้าสู่โลก Digital Transformation เราต้องก้าวข้ามเรื่องของการยืนยันตัวตน ให้เป็นการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลได้เช่นเดียวกัน วันนี้เรามี NDID แต่ยังจำกัดอยู่กับบางภาคส่วน ที่เริ่มจากธนาคารพาณิชย์ แต่ต่อไปจะต้องมีการขยายไปสู่ธุรกิจการเงินอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหลักทรัพย์ หรือบริการภาครัฐอื่นๆด้วย ต่อไปเรื่อง Digital ID ต้องทำให้เปิดกว้างมากขึ้นเหมือนกับที่เราพกบัตรประชาชน สามารถทำธุรกรรมได้หลากหลายประเภทไม่ใช่เพียงธุรกรรมในด้านการเงินเท่านั้น
“เราคาดหวังว่าประเทศไทย จะมีบัตรประชาชนที่้เป็นดิจิทัลสำหรับเราทุกคน และสามารถใช้ทำธุรกรรมได้หลากหลายประเภท”
เรื่องที่ 4 การต่อยอดโครงการอินทนนท์ หรือโครงการ Central Bank Digital Currency (CBDC) ที่จะเชื่อมต่อกับระบบของภาคธุรกิจ และถ้าจะทำเรื่อง CBDC ให้เกิดผลได้จริง คงจะจำกัดการทำธุรกรรมไว้แต่เฉพาะในภาคการเงินไม่ได้ ซึ่งในปี 2563 ธปท.ได้เริ่มทดสอบระบบกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีระบบการชำระเงินกับซัพพลายเชน (ห่วงโซ่อุปทาน) และเราหวังว่า CBDC ภายใต้โครงการอินทนนท์ จะสามารถเป็นกลไกสำคัญในการชำระเงินระหว่างภาคธุรกิจด้วยกันเอง นี่้้เป็นพัฒนาการสำคัญที่จะขยายผลไปยังวงกว้าง
นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 เรื่องที่จะพูดถึงและเห็นเป็นข่าวอยู่บ้างแล้ว ซึ่งเป็นการให้บริการทางการเงินหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ซึ่งเราคิดว่ามีความสำคัญมาก
อันแรก เป็นเรื่องสินเชื่อบุคคลดิจิทัล (digital personal loan) โดยธปท.ได้ออกหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าสู่บริการทางการเงิน และการกู้ยืมเงินของผู้ให้บริการทางการเงินที่เป็นทางการได้ โดยอาศัยข้อมูลที่หลากหลายและรอยเท้าดิจิทัลที่หลากหลาย ไม่ต้องดูในเรื่องของเงินเดือนเป็นหลัก หรือสลิปเงินเดือนเป็นหลักเหมือนที่ผ่านมา
“เราตระหนักว่าเรื่อง Digital Footprint เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้สถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการทางการเงินใหม่สามารถใช้ในเรื่องการประเมินความเสี่ยง และติดตามพฤติกรรมของลูกค้าได้”
อีกเรื่องหนึ่งที่ธปท.ได้ร่วมกับหลายภาคีในการพัฒนา คือ การสร้างระบบนิเวศน์ใหม่สำหรับ Digital Factoring ซึ่ง Factoring เป็นผลิตภัณฑ์การเงินที่สำคัญสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี เวลาที่ส่งของไปแล้ว และได้รับการประทับใบรับของแล้ว แต่กว่าจะได้เงินจริงจะใช้เวลาค่อนข้างนาน ซึ่งใบรับของเหล่านั้น มีความหมาย สามารถเอาไปใช้ในเรื่องการขอสินเชื่อได้ เพื่อร่นระยะเวลาการรับเงินของ SME
“ใบเสร็จการส่งมอบสินค้าต่างๆ เป็นอีกข้อมูลที่ธุรกิจขนาดเล็กสามารถนำไปขอสินเชื่อได้ แต่ที่ผ่านมาการที่ไม่มีระบบดิจิทัล ทำให้เวลาที่มีใบเอกสารต่างๆเหล่านั้น นอกจากจะมีต้นทุนในการประมวลผลที่ค่อนข้างสูงแล้ว ก็อาจเกิดเหตุการณ์ในเรื่องการปลอมแปลงเอกสารต่างๆได้ง่าย เพราะฉะนั้น การทำให้เกิดระบบนิเวศน์ที่เอื้อให้เกิด Digital factoring platform จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ”
ทั้งนี้ ธปท.อยู่ในช่วงการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนในการพัฒนาฐานข้อมูลกลาง เพื่อสนับสนุนการทำ Digital factoring ซึ่งเราได้ขอความเห็นจากประชาชนและภาคธุรกิจทั่วไป โดยจะนำความเห็นเหล่านั้นมาประกอบการออกแบบระบบ
อ่านประกอบ :
ให้วงเงินกู้ 2 หมื่นบาท-ผ่อนไม่เกิน 6 เดือน! ธปท.ประกาศเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อออนไลน์
เน้นช่วยกลุ่มถูกเลิกจ้าง-รายได้ลด! ธปท.แจงมาตรการรวมหนี้บัตรฯเป็น ‘หนี้บ้าน’ ลดภาระดบ.-ค่างวด
ธปท.ผุดมาตรการใหม่ช่วยรายย่อย! ปรับโครงสร้างหนี้บัตรฯเป็น ‘หนี้บ้าน’ ลดดอกเบี้ยเหลือ MRR
ยันแบงก์ไทยแกร่ง! ธปท.มั่นใจรับมือวิกฤติระดับรุนแรงได้-เร่งปรับโครงสร้างหนี้
วันสต็อปเซอร์วิส! ธปท.รุกปรับโครงสร้างหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย-แจ้งผลใน 30 วัน
ธปท.ตรึงหนี้เสีย! กำชับแบงก์ช่วยลูกหนี้จนกว่าโควิดจะคลี่คลาย-สิ้นไตรมาสสอง NPLs แตะ 3.09%
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/