ธปท.เผยหนี้เสียระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/63 แตะระดับ 3.09% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน พร้อมกำชับให้แบงก์ช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง จนกว่าโควิดจะคลี่คลายอย่างน้อย 2-3 ไตรมาส ขณะที่การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอียังน่าห่วง พบล่าสุดสินเชื่อยังติดลบ 3.5% เทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่เข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 17 ส.ค. นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2/63 ว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมมีอัตราการเติบโต 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าไตรมาสก่อนที่สินเชื่อเติบโต 4.1% โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจที่เติบโตถึง 5.1%
“สินเชื่อธุรกิจยังเติบโตต่อเนื่อง และเติบโตมากกว่าไตรมาสก่อน หากแยกประเภทจะพบว่าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ หรือสินเชื่อที่มีวงเงินเกิน 500 ล้านบาท เติบโตในระดับที่สูง ส่วนหนึ่งมาจากการกู้ยืมเงินของภาครัฐ และบริษัทขนาดใหญ่มีการระดมทุนผ่านสถาบันการเงิน เนื่องจากการระดมทุนผ่านตลาดทุนมีการสะดุดเล็กน้อย ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีติดลบ 3.5% ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 62 สะท้อนถึงความอ่อนแอของเอสเอ็มอีบางกลุ่ม” นายธาริฑธิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีไตรมาส 2/63 จะติดลบ 3.5% แต่เป็นอัตราการเติบโตที่ติดลบน้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 ที่สินเชื่อติดลบกว่า 5% และไตรมาส 1/63 ที่สินเชื่อติดลบ 4.7% โดยมีแรงสนับสนุนจากการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำของภาครัฐ (ซอฟท์โลน) ให้เอสเอ็มอี 1.3 แสนราย รวม 2.2 แสนล้านบาท และหากไม่มีซอฟท์โลนดังกล่าวเข้ามาสนับสนุน สินเชื่อเอสเอ็มอีไตรมาส 2/63 จะติดลบ 5.7%
“ภาคที่โดนกระทบเยอะๆอย่างที่พักโรงแรม ซึ่งเราได้ยินเสียงกังวลจากหลายฝ่าย สิ่งที่เราเห็น คือ สถาบันการเงินยังปล่อยสินเชื่อให้เซ็กเมนต์นี้อยู่ โดยโรงแรมขนาดใหญ่จะได้รับสินเชื่อไปค่อนข้างมาก เห็นได้จากสินเชื่อระดับเกิน 500 ล้านบาท เติบโต 22.7% ส่วนที่มีวงเงินต่ำกว่า 500 ล้านบาทจะเติบโตลดหลั่นกันลงมา และที่มีปัญหาจริงๆ คือ สินเชื่อที่มีขนาดไม่เกิน 20 ล้านบาท ติดลบ 4.6% ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาความสามารถในการแข่งขัน” นายธาริฑธิ์กล่าว
สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภค (คิดเป็น 34.8% ของสินเชื่อรวม) เติบโต 4.8% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ซึ่งสอดคล้องกับการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโต 4.4% เทียบกับไตรมาสก่อนที่เติบโต 3.4% สอดคล้องกับอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยที่ปรับดีขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง เช่นเดียวกับสินเชื่อรถยนต์ที่แม้ว่าจะเติบโต 4.1% เทียบกับไตรมาสก่อนที่เติบโต 6.1% แต่เริ่มเห็นสัญญาณยอดขายรถที่เพิ่มขึ้น
ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตติดลบ 0.7% เทียบกับไตรมาสก่อนที่เติบโต 2% แต่การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีแนวโน้มที่สูงขึ้น และสินเชื่อส่วนบุคคล แม้ว่าจะเติบโต 7.8% เทียบกับไตรมาสก่อนที่เติบโต 10.9%
นายธาริฑธิ์ กล่าวว่า สำหรับคุณภาพสินเชื่อไตรมาส 2/63 พบว่ายอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL หรือ stage 3) อยู่ที่ 5.09 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.09% เทียบกับไตรมาสก่อนที่ 3.04% โดยเพิ่มขึ้นจากธุรกิจสายการบินขนาดใหญ่เป็นหลัก ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 7.48% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 7.69%
นอกจากนี้ หากพิจารณาสินเชื่อเอสเอ็มอีจะพบว่าหนี้เสียลดลง เนื่องจากมีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่นเดียวกับสินเชื่อรายย่อยที่มีคุณภาพทรงตัว และคุณภาพสินเชื่อ stage 2 มีแนวโน้มลดลง
“ก่อนโควิดลูกหนี้ที่มีศักยภาพดีมีประมาณ 90% ของพอร์ตธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มนี้น่าจะยังมีศักยภาพที่ดีหลังจากโควิดคลี่คลายไปแล้ว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ทางการและสถาบันการเงินต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้ลูกหนี้ 90% ดังกล่าวเสียไป โดยเฉพาะกลุ่มที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ถ้าได้สภาพคล่องทันการณ์ มีการช่วยเหลือที่ดี เมื่อสถานการรณ์คลี่คลาย พวกนี้จะกลับมา” นายธาริฑธิ์กล่าว
สำหรับผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/63 ระบบธนาคารฯมีกำไรสุทธิลดลงจากการกันสำรองเพิ่มขึ้น 120% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพื่อเตรียมรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงจากผลกระทบของโควิด-19 ส่วนเงินกองทุนมีทั้งสิ้น 2.877 ล้านล้านบาท หรืออัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 19.2% เงินสำรองอยู่ที่ 7.437 แสนล้านบาท หรืออัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ 144.1%
ขณะที่อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ระดับ 183.4%
นายธาริฑธิ์ ระบุว่า แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบ แต่สิ่งที่แตกต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 และปี 51 คือ ในขณะที่เศรษฐกิจไตรมาส 2/63 ติดลบ 12.2% แต่สินเชื่อยังขยายตัวได้ 5% เทียบกับวิกฤติปี 40 และปี 51 ที่เศรษฐกิจหดตัวและสินเชื่อปรับตัวลดลง อีกทั้งยังมีการดำเนินมาตรการเงินและการคลังก่อนสินเชื่อจะเสื่อมคุณภาพ และด้วยการปล่อยสินเชื่อที่ระมัดระวัง ทำให้ไม่มีการสะสมความเสี่ยง นอกจากนี้ เงินกองทุนของสถาบันก็อยู่ในระดับสูง
“ระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/63 มีความมั่นคง ระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง สามารถสนับสนุนระบบเศรษฐกิจการเงินในภาวะที่ท้าทายในระยะต่อไปได้ และสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่อง คือ การปล่อยสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ขณะที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ ช่วยสนับสนุนสินเชื่อและชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์” นายธาริฑธิ์ระบุ
เมื่อถามถึงแนวโน้มหนี้เสียทั้งปี 63 หลังจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ นายธาริฑธิ์ กล่าวว่า ธปท.ได้หารือกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง และจะดูแลให้สถาบันการเงินเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเป็นระบบ โดยจะดูแลไปเรื่อยๆจนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่ลาย หรือเท่ากับว่าการช่วยเหลือจะยังมีต่อเนื่องต่อไป ส่วนจะช่วยเหลือในรูปแบบใดนั้น จะพิจารณาให้เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละกลุ่มมากขึ้น และคาดว่าหนี้เสียทั้งปี 63 จะทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบัน
“ในช่วงที่โควิดยังไม่คลี่คลายอย่างน้อยๆก็ 2-3 ไตรมาส เราจะยังคงเห็นการช่วยเหลือลูกหนี้อยู่ ดังนั้น ระดับคุณภาพหนี้จะยังไม่เสื่อมมาก และการปล่อยให้ลูกหนี้เป็นเอ็นพีแอลในช่วงนี้เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย” นายธาริฑธิ์กล่าว
อ่านประกอบ :
จีดีพีไตรมาสสองหด 12.2%! สศช.หั่นเป้าทั้งปีเป็นติดลบ 7.5%-หนี้เสียภาคบริโภคพุ่ง 23%
วิกฤติยังไม่คลี่คลาย! เตือนอีก 3 เดือนตกงานเพิ่ม 6 แสนคน-ต่อคิวสมัครงานล้น 'รร.มิราเคิล'
สั่งแก้คนว่างงาน -จี้ ขรก.อย่าเกียร์ว่าง! ‘บิ๊กตู่’มอบนโยบายครม.ใหม่-ตั้งศูนย์บริหาร ศก.
ว่างงานแตะ 2.7 ล้านคนยาว 3 ปี! ‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะรัฐเร่งใช้งบฟื้นฟูฯ-พัฒนาภาคเกษตรรองรับ
เปิดรายงานกนง. ห่วงจ้างงานอ่อนแอ-จีดีพีทรุดกว่าที่คาด หนุนรัฐปรับโครงสร้างศก. 5 ด้าน
วิจัยกรุงศรีหั่นจีดีพี! คาดปีนี้หดตัว 10.3%-หวั่น 'หนี้เสีย' พุ่ง หลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้ติดลบ 8.1%
เหมือนสงครามโลกครั้งที่ 3! ไทยว่างงาน 7 ล้านคน หลังโควิด จีนประเทศเดียวฉุด ศก.ไม่ไหว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/