ธปท.จับมือ 'สถาบันการเงิน-แบงก์รัฐ' ออกมาตรการใหม่ ให้ลูกหนี้รวมหนี้ ‘บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล-สินเชื่อเช่าซื้อ’ ไปปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้เหลือ ‘MRR’ พร้อมขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตามความสามารถของลูกหนี้ เริ่ม 1 ก.ย.63 ถึง 31 ธ.ค.64
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) มาอย่างต่อเนื่อง นั้น ปัจจุบัน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาคธุรกิจบางส่วนยังไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนทั่วไป
ดังนั้น เพื่อเป็นทางเลือกในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติม ธปท. ได้เห็นร่วมกันกับสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation)
โดยให้สามารถนำสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่อยู่ภายใต้ผู้ให้บริการทางการเงิน หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของผู้ให้บริการทางการเงินเดียวกัน อาทิ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อที่เกิดจากการให้เช่าซื้อ มาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยวิธีการรวมหนี้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อใช้ประโยชน์จากหลักประกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถลดอัตราดอกเบี้ยในส่วนของสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นให้เหลือไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate: MRR) และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตามความสามารถของลูกหนี้
ทั้งนี้ ผู้ให้บริการทางการเงินต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการตัดสินใจของลูกหนี้ เช่น ข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วมมาตรการ ข้อมูลเปรียบเทียบภาระหนี้เดิมกับภาระหนี้ใหม่ และทางเลือกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้รูปแบบอื่นที่ลูกหนี้สามารถทำได้
“มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดภาระการชำระหนี้โดยที่ลูกหนี้ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใดโดยไม่จำเป็น และยังสามารถใช้วงเงินบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีลักษณะหมุนเวียนที่ยังเหลือได้ รวมทั้งไม่ต้องจ่ายเบี้ยปรับการชำระหนี้ก่อนกำหนด (prepayment fee) ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการและแสดงข้อมูลว่าได้รับผลกระทบต่อผู้ให้บริการทางการเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2563 ถึง 31 ธ.ค.2564” นางธัญญนิตย์กล่าว
นางธัญญนิตย์ กล่าวว่า ธปท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ในช่วงที่ยากลำบากนี้ได้ ขณะเดียวกันผู้ให้บริการทางการเงินสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
อ่านประกอบ :
ยันแบงก์ไทยแกร่ง! ธปท.มั่นใจรับมือวิกฤติระดับรุนแรงได้-เร่งปรับโครงสร้างหนี้
วันสต็อปเซอร์วิส! ธปท.รุกปรับโครงสร้างหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย-แจ้งผลใน 30 วัน
ธปท.ตรึงหนี้เสีย! กำชับแบงก์ช่วยลูกหนี้จนกว่าโควิดจะคลี่คลาย-สิ้นไตรมาสสอง NPLs แตะ 3.09%
จีดีพีไตรมาสสองหด 12.2%! สศช.หั่นเป้าทั้งปีเป็นติดลบ 7.5%-หนี้เสียภาคบริโภคพุ่ง 23%
สั่งแก้คนว่างงาน -จี้ ขรก.อย่าเกียร์ว่าง! ‘บิ๊กตู่’มอบนโยบายครม.ใหม่-ตั้งศูนย์บริหาร ศก.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/