‘ธปท.-สมาคมแบงก์’ เปิดโครงการ ‘DR BIZ’ รุกปรับโครงสร้างหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายรายแบบ ‘วันสต็อปเซอร์วิส’ แจ้งผลใน 30 วัน นำร่องกลุ่มธุรกิจที่มีสินเชื่อ 50-500 ล้านบาท กว่า 8,400 รายมูลหนี้ 1.1-1.2 ล้านล้านบาท ช่วยบรรเทาภาระลูกหนี้ตั้งแต่ 'ขยายเวลาชำระหนี้-ลดหนี้-ยืดหนี้-ให้สินเชื่อใหม่'
เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดตัว ‘โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง’ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายราย ให้ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้และมีกลไกจัดการหนี้กับสถาบันการเงินทุกแห่งอย่างบูรณาการ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการปรับโครงสร้างหนี้ ก่อนมาตรการพักชำระหนี้ตามพ.ร.ก.ซอฟโลนท์จะสิ้นสุดวันที่ 22 ต.ค.นี้
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าธปท. กล่าวถึงที่มาของโครงการ DR BIZ ว่า ปัญหาที่เราต้องเผชิญข้างหน้า คือ มีผู้ประกอบการจำนวนมากต้องการให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุก เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้และกระแสเงินสดของธุรกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบของแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ที่ผ่านมากลับพบอุปสรรคว่า ผู้ประกอบการที่มีเจ้าหนี้มากกว่า 1 รายขึ้นไป ไม่สามารถเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพมากนัก
“เมื่อเงินสดที่จะนำมาชำระหนี้ให้สถาบันการเงินมาจากลูกหนี้รายเดียวกัน แต่ถ้ายังไม่ได้คำตอบจากสถาบันการเงิน ก. ว่าจะยืดหนี้ให้ลูกหนี้หรือไม่ สถาบันการเงิน ข. ก็ไม่กล้าตัดสินใจอะไร เพราะถ้าตัวเองยืดหนี้ให้ไป แล้วสถาบันการเงิน ก. ไม่ยืดหนี้ และไปเร่งรัดหนี้กับลูกหนี้คืนด้วย หนี้สถาบันการเงิน ข. ยืดให้ จะต้องไปจ่ายให้สถาบันการเงิน ก. แทน นี่เป็นตัวอย่าง เราจึงต้องการประสานงานที่ดี มีมาตรฐานฐานกลาง และมีกรอบเวลาที่ชัดเจน” นายวิรไทกล่าว
สำหรับแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ภายใต้โครงการ DR BIZ ให้ลูกหนี้ติดต่อกับสถาบันเงินหลักที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ (ลีดแบงก์) เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ จากนั้นลีดแบงก์จะประสานงานกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้อื่นๆร่วมพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนกระบวนการตัดสินใจว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยวิธีการใดนั้น จะให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้โหวต ซึ่งไม่ได้แปลว่าทุกรายต้องเห็นด้วย เพียงแต่มีคะแนนโหวตสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเจ้าหนี้ทุกรายเห็นด้วย
นายวิรไท ย้ำว่า โครงการ DR BIZ จะช่วยเร่งรัดให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุกให้กับลูกหนี้ โดยระยะแรกจะเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการที่มีหนี้ตั้งแต่ 50-500 ล้านบาท และมีเจ้าหนี้มากกว่า 1 ราย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวมีอยู่ประมาณ 8,400 ราย มูลหนี้รวม 1.1-1.2 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ โครงการนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.63-31 ธ.ค.64 และหากการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้เสร็จไม่ทันก่อน 22 ต.ค. จะมีกลไกบางอย่างมารองรับ แต่ไม่ใช่การประกาศเป็นการทั่วไป
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบขณะนี้มีสถาบันการเงินหลายแห่งบอกว่า จะใช้แนวทางและกลไกโครงการ DR BIZ ในการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่เป็นรายเดียว และขยายไปยังลูกหนี้ที่มีวงเงินเกิน 500 ล้านบาทด้วย นอกจากนี้ ธปท.มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้โครงการ DR BIZ โดยจะทำหน้าที่ประสานกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้และไกล่เกลี่ยในการที่เจ้าหนี้ตกลงเรื่องปรับปรุงโครงสร้างหนี้บางรายไม่ได้
นายวิรไท ยืนยันว่า สถาบันการเงินของไทยมีความพร้อมในการเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกให้กับลูกหนี้ เพราะหากพิจารณาสภาพคล่องของสถาบันการเงินพบว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก มีเงินฝากที่ไหลกลับเข้าไปสู่สถาบันการเงินในสัดส่วนที่สูง และอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่มีการกู้ยืมกันก็อยู่ในระดับที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ต้องลดหนี้ให้กับลูกหนี้จะต้องสะท้อนกลับมาที่การตั้งสำรองฯ แต่จากการทำเรื่อง stress test กับสถาบันการเงิน และการปรับปรุงกฎเกณฑ์กติกาที่ทำให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกได้เร็ว ได้มีการผ่อนผันเกณฑ์ตั้งสำรองฯไปแล้ว โดยทำมาตั้งแต่เดือนก.พ.63 แล้ว
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกภายใต้โครงการ DR BIZ ในระยะแรกจะเริ่มที่ลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย ในทุกประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งมีวงเงินสินเชื่อ 50-500 ล้านบาท , มีสถานะปกติ หรือเป็นหนี้เสีย (NPL) กับธนาคารบางแห่งตั้งแต่ 1 ม.ค.62 และพิสูจน์ได้ว่าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด และต้องไม่ถูกฟ้องคดี ยกเว้นเจ้าหนี้ถอนฟ้อง
ส่วนแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้หรือบรรเทาภาระหนี้ ได้แก่ 1.การแก้ไขหนี้เดิมของลูกหนี้ เช่น การลดค่างวดให้ต่ำกว่าสัญญาเดิม ขยายเวลาชำระหนี้ หรือปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ให้เหมาะสมกับศักยภาพของลูกหนี้ การกำหนดระยะเวลาปลอดหนี้ช่วงแรก และผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสมในระยะต่อไป และทบทวนการให้ใช้วงเงินของลูกหนี้ที่เหลืออยู่ 2.การให้สินเชื่อใหม่ โดยธนาคารเจ้าหนี้จะร่วมกันพิจารณาให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ที่มีประวัติชำระหนี้ดี มีแผนธุรกิจชัดเจน
“สำหรับลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย ภายใต้โครงการ DR BIZ จะให้เจ้าหนี้มารวมกันและเจรจาร่วมกัน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกแบบวันสต็อปเซอร์วิส ซึ่งช่วยลดภาระให้ทั้งลูกหนี้ และเจ้าหนี้ รวมทั้งทำให้กาปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จในเวลารวดเร็ว โดยหลังจากลูกหนี้ยื่นเรื่องให้กับเจ้าหนี้หลัก (ลีดแบงก์) แล้ว จะกำหนดมีการแจ้งผลการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ทราบภายใน 1 เดือน” นายรณดลกล่าว
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า โครงการ DR BIZ จะทำให้ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ได้รับประโยชน์ ทั้งการชะลอการชำระหนี้ การลดหนี้ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ และการหาผู้ร่วมทุน รวมทั้งมีโอกาสได้รับสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญโครงการนี้จะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้มีมาตรฐานเดียวกันและเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ซึ่งช่วยประคองให้ลูกหนี้ผ่านพ้นวิกฤติช่วงนี้ไปได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาด้านหนี้สินของลูกค้าอย่างรวดเร็วและเบ็ดเสร็จในครั้งเดียวกัน ลูกค้าสามารถติดต่อกับสถาบันการเงินที่มีวงเงินกู้เพียงแห่งเดียว หรือสถาบันการเงินที่มีวงเงินกู้แนะนำลูกค้าให้เข้าร่วมโครงการ โดยสถาบันการเงินจะประสานงานกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาผลกระทบตามความหนักเบาของลูกค้าแต่ละราย โดยมีแนวทางในการช่วยเหลือลูกค้าภาคธุรกิจใน 3 มิติคือ
1.การบูรณาการความช่วยเหลือร่วมกันจากทุกสถาบันการเงิน ลูกค้าสามารถแก้ไขปัญหาภาระหนี้ได้อย่างรวดเร็ว และเบ็ดเสร็จในคราวเดียว ลดความซ้ำซ้อนในการเรื่องการติดต่อ การจัดส่งเอกสาร และการเจรจาแก้ไขปัญหา โดยได้ข้อยุติร่วมกันจากทุกสถาบันการเงิน
2.ลูกค้าได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ลูกค้าธุรกิจแต่ละรายมีปัจจัยการดำเนินธุรกิจและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน สถาบันการเงินทุกแห่งสามารถร่วมกันพิจารณาและวิเคราะห์ถึง Root Cause ของลูกค้าและหาแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะสมกับลูกค้ารายนั้นๆ ที่สำคัญคือ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อทำให้ธุรกิจอยู่รอดและฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางการช่วยเหลือที่หลากหลาย
3.โอกาสทางการเงินและทางธุรกิจ ในกรณีที่ลูกค้ามีศักยภาพและแผนธุรกิจที่ชัดเจน โครงการนี้เปิดโอกาสให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินต่างๆ ได้รับสินเชื่อเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงิน
(ผยง ศรีวณิช)
"ภาคการธนาคารตระหนักถึงภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง และเข้าใจถึงความจำเป็นรีบด่วนในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้ความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง และหลายระยะ ซึ่งเชื่อมั่นว่าการช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง ที่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน จะสามารถช่วยเหลือลูกค้าได้ทันท่วงที โดยสถาบันการเงินจะมีการหารือเพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละรายต่อไป"นายผยงระบุ
อ่านประกอบ :
ธปท.ตรึงหนี้เสีย! กำชับแบงก์ช่วยลูกหนี้จนกว่าโควิดจะคลี่คลาย-สิ้นไตรมาสสอง NPLs แตะ 3.09%
จีดีพีไตรมาสสองหด 12.2%! สศช.หั่นเป้าทั้งปีเป็นติดลบ 7.5%-หนี้เสียภาคบริโภคพุ่ง 23%
สั่งแก้คนว่างงาน -จี้ ขรก.อย่าเกียร์ว่าง! ‘บิ๊กตู่’มอบนโยบายครม.ใหม่-ตั้งศูนย์บริหาร ศก.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/