'สภาพัฒน์'คัดกรองเงินกู้รอบแรกจาก 1.44 ล้านล้านบาท เหลือ 213 โครงการ วงเงิน 1 แสนล้านบาท เตรียมชง ครม.อนุมัติ 8 ก.ค.นี้ 'ดนุชา' เผยหลายโครงการขอใช้เงินไม่ตรงวัตถุประสงค์ ทั้งทำถนน-จัดอีเวนต์-จ้างที่ปรึกษา ตัดทิ้งหมด 'ทศพร' คาดรอบแรก สร้างงานทั่วประเทศ 4 แสนตำแหน่ง อาทิ จ้าง นศ.เดือนละ 1.5 หมื่นบาทสำรวจความต้องการท้องถิ่น-แจกเงิน 2 แสนให้ 7.9 หมื่นหมู่บ้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงความก้าวหน้าของการวิเคราะห์โครงการภายใต้กรอบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ว่า ข้อมูล ณ วันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีหน่วยงานเสนอแผนงานแล้ว 46,411 โครงการ วงเงินรวม 1.44 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น
1.แผนงานด้านการพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 160 โครงการ วงเงิน 277,490 ล้านบาท
2.แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน 44,960 โครงการ วงเงิน 513,793 ล้านบาท
3.แผนงานกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน ไม่มีผู้เสนอแผนงาน และมีโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการมาแล้วก่อนหน้านี้
และ 4.แผนงานสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน 1,264 โครงการ วงเงิน 612,897 ล้านบาท
ล่าสุดคณะอนุกรรมการได้คัดกรองโครงการที่ตรงกับวัตถุประสงค์การใช้เพียง 213 โครงการ วงเงิน 101,482.29 ล้านบาท แบ่งออกเป็น
1.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเข้มแข็ง 129 โครงการ วงเงิน 58,069.71 ล้านบาท
2.แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 77 โครงการ 20,989.81 ล้านบาท
และ 3.แผนงานกระตุ้นอุปโภค บริโภค และกระตุ้นการท่องเที่ยว 7 โครงการ วงเงิน 22,422.77 ล้านบาท โดยคณะกรรมการกลั่นกรองจะพิจารณารายละเอียดในวันที่ 1 ก.ค. และเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา 8 ก.ค.นี้ ทั้งนี้ทุกโครงการที่เสนอมายังไม่ถูกตัดทิ้ง และเก็บไว้พิจารณาในรอบถัดไป โดยการกลั่นกรองโครงการรอบสองจะทำช่วงเดือน ส.ค. และรอบที่สามในช่วงเดือน ก.ย.
นายทศพร กล่าวว่า ก่อนเสนอให้ ครม. พิจารณาคาดว่าจะปรับลดวงเงินจาก 101,482.29 ล้านบาทเหลือประมาณ 70,000 – 80,000 ซึ่งจะพิจารณาให้ยึดโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งเน้นที่การจ้างงาน สร้างอาชีพ เสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก คาดว่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงานในทุกพื้นที่ 410,415 ราย สร้างความเข้มแข็งให้ 79,604 หมู่บ้าน 3,000 ตำบล ภาคการท่องเที่ยวจะมีการพัฒนาต้นแบบสำหรับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 6-7 พื้นที่ ส่วนภาคการเกษตรจะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 95,000 คนจากการเสริมความมั่นคงทางด้านอาหารและน้ำ และเกิดพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ 2.4 แสนไร่
“เรามีกรอบยุทธศาสตร์ชาติเป็นต้นทาง และมีบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก.กู้เงินที่ได้ล็อคไว้แล้วว่าจะทำอะไรได้บ้าง แน่นอนว่าที่ผ่านมาอาจจะมีการตีความหลักเกณฑ์ได้หลากหลาก เช่น เสนอคำขอมาทำถนน หรือโครงการอื่นๆ ที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ซึ่งโครงการแบบนี้เรายังไม่ได้หยิบมาพิจารณาในรอบแรก” นายทศพร กล่าว
นายทศพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้โครงการรอบแรกจะมีการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่กว่า 7 หมื่นตำแหน่ง ให้ลงพื้นที่สำรวจความต้องการพื้นฐานของแต่ละชุมชน โดยกำหนดสัดส่วน 2 คนต่อ 1 ตำบล ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท มีระยะเวลาทำงานประมาณ 1 ปี จ้างผู้บริบาลดูแลผู้สูงอายุ จ้างงานการพัฒนาป่าไม้ เฝ้าระวังสร้างแนวกันไป ทั้งนี้ยังกันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับแจกจ่ายให้หมู่บ้านละ 200,000 บาท รวม 79,604 กองทุน ส่วนนี้จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ 238,812 คน โดยตัวอย่างโครงการ ประกอบด้วย โครงการหมู่บ้านสมุนไพร , ก่อสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา และสร้างรีสอร์ทเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ
นายทศพร กล่าวต่อไปว่า การใช้เงินกู้ครั้งนี้ คงไม่ได้ทำให้จีดีพีโตมากเท่าไร และคงไม่ใช่วัตถุประสงค์การใช้เงิน เพราะเราต้องการช่วยประคองสถานการณ์ให้คนมีเงินกิน มีอาชีพ ดังนั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจคงไม่หวือหวา แต่เราต้องการสร้างฐานรากให้มีความเข้มแข็ง
ขณะที่นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า สำหรับโครงการที่ถูกตีตกในครั้งนี้ หลายโครงการไม่เกี่ยวกับการจ้างงาน สร้างอาชีพ แต่โครงการที่ผ่านการคัดกรองจะมีลักษณะการฝึกอบรม สร้างอาชีพใหม่ เช่น ภาคใต้เสนอโครงการฝึกอบรมเกษตรกร เพื่อปลูกพืชทดแทนการทำสวนยาง และยังแจกเมล็ดพันธุ์ให้ด้วย ซึ่งถือว่าเสนอโครงการมาครบวงจรแล้ว
“บางโครงการเอางบประมาณไปลงที่บริษัทที่ปรึกษาหรือผู้รับเหมา เราคงไม่ได้อนุมัติให้วันนี้ บางอันก็เป็นเรื่องขอจัดอีเวนต์ ผมขอเรียนตามตรง บางโครงการชื่อดูดี แต่พอเปิดรายละเอียดแล้วเป็นคนละเรื่องก็มี” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวอีกว่า สำหรับข้อกังวลเรื่องความโปร่งใส เราได้กำหนดให้ทุกโครงการต้องจัดทำแบบรายงานประเมินความเสี่ยง ที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อประเมินจุดที่มีความเสี่ยงของแต่ละโครงการ และให้นำเสนอแนวทางปิดจุดอ่อนเหล่านั้น นอกจากนั้นการอนุมัติเงินทั้งหมด ไม่มีการจ่ายเป็นเงินสด แต่จะโอนผ่าน e-banking รวมถึงการเน้นย้ำให้ทุกส่วนราชการดำเนินการระเบียบจัดซื้อจัดจ้างอย่างเคร่งครัด ต้องมีการสืบราคาของผู้ค้าอย่างน้อย 3 ราย ต้องปรากฏเอกสารรายละเอียดให้สำนักงบประมาณพิจารณา เพื่อให้เกิดการรัดกุมในการใช้จ่ายเงินทั้งหมด
อ่านประกอบ :
แห่ขอใช้เงินกู้ทะลุ 1.36 ล้านล้านบาท 'สภาพัฒน์'คาดกลั่นกรองเสนอ ครม.8 ก.ค.นี้
สแกนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจกรอบเงินกู้ 4 แสนล้าน ผ่านคำค้นยอดฮิตยุคโควิด
ติดตั้งซีซีทีวี 670 ล้าน! 3 หน่วยงานรัฐยื่นขอใช้งบพ.ร.ก.กู้เงินฯรวม 41 โครงการ
ต้องอย่าให้ปลิงมาดูดเลือด! 'พิธา'เปิดอภิปรายตั้ง กมธ.ตรวจงบเงินกู้สู้โควิด 1.9 ล้านล้าน
กษ.จองกฐินใช้เงินกู้ 4 แสนล.ให้ อ.ต.ก.แลกสินค้าเกษตรห้องพักรร.-ตั๋วเครื่องบิน1.4หมื่นล.
แห่ขอใชัเงินกู้ฟื้นฟู ศก.รอบแรก 3 หมื่นโครงการทะลุเพดาน 6 แสนล้านบาท
เช็กกระสุนฟื้นโควิด ‘บิ๊กตู่’ เหลือ 'เงินกู้-งบกลาง' ในมือ 4 แสนล้าน-จับตาพายุหนี้ 19 ล้านล.
'สภาพัฒน์' แจก 4 สูตรขอใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน ลดพึ่งพิงส่งออก-เลิกหวังนักท่องเที่ยวต่างชาติ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage