การติดตามตัว 132 คนไทยที่ไปร่วมชุมนุมของผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลามที่ประเทศมาเลเซียเข้มข้นจริงจังในระดับสูงสุด เพราะเกรงว่าคนเหล่านี้จะกลับมาเป็น super spreader ในประเทศไทย
วันจันทร์ที่ 16 มี.ค.63 มีข่าวลือตลอดทั้งวันว่าสำนักจุฬาราชมนตรีอาจเปิดแถลงข่าวด่วน หลังจากเมื่อวันเสาร์ที่ 14 มี.ค. นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เพื่อแจ้งให้ติดตามตัว 132 คนไทยที่ไปร่วมงานชุมนุมของผู้เผยแผ่ศาสนาที่ มัสยิด ศรี เปตาลิง กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 24 ก.พ.ถึง 2 มี.ค. เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมงานชาวบรูไน 11 ราย และมาเลเซีย 1 ราย ติดเชื้อโควิด-19
และหลังจากนั้นก็มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนผู้เข้าร่วมงานมากถึง 16,000 คน
งานนี้ไม่มีการลงทะเบียน ทำให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธาาณสุข ไม่สามารถหาตัวผู้เข้าร่วมงานได้ จึงประสานไปยังสำนักจุฬาราชมนตรี เพื่อให้ช่วยสำรวจคนไทยที่ไปร่วมงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำศาสนาและโต๊ะครู คาดว่าการแถลงของสำนักจุฬาราชมนตรึ หากจะมีขึ้นหลังจากนี้ น่าจะเป็นการชี้แจงความคืบหน้าการสำรวจผู้นำศาสนาที่ไปร่วมงาน ซึ่งต้องรวบรวมรายชื่อส่งกรมควบคุมโรค
ประเด็นที่น่ากังวลก็คือ ผู้นำศาสนาและโต๊ะครูที่เดินทางไปไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่เฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ยังมีจังหวัดอื่นๆ ด้วย ซึ่งยังสรุปไม่ได้ว่าจังหวัดใดบ้าง
ปัตตานีเจอแล้ว 19 คน ป่วยเป็นไข้ 7 ราย
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มี.ค. นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยในพื้นที่ พร้อมเปิดเผยว่า ในกลุ่ม 132 คนไทย มีบุคคลในพื้นที่จังหวัดปัตตานีไปร่วมงานด้วยทั้งหมด 30 คน ขณะนี้ได้เข้ารายงานตัว และดำเนินการตรวจคัดกรองแล้ว 13 คน ส่วนใหญ่มีอาการเป็นปกติ ให้มีการแยกและกลับไปกักตัวที่บ้าน ในจำนวนนี้มีเพียง 2 คนที่พบว่ามีไข้ จึงได้รับตัวมากักกันเพื่อทำการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล โดย 1 ใน 2 คนนี้มีไข้สูงมาก แพทย์กำลังเร่งเฝ้าระวังและชันสูตรให้ครบถ้วนเพื่อยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่
ล่าสุดวันจันทร์ที่ 16 มี.ค. ผู้ว่าฯปัตตานี บอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" เพิ่มเติมว่า ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ
ต่อมา ผู้ว่าฯปัตตานี พร้อมด้วยรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี ได้ร่วมกันแถลงข่าวการบริหารจัดการรับมือโรคระบาด ไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 หรือ โควิค-19 ในพื้นที่ จ.ปัตตานี โดยเน้นให้ทุกส่วนราชการ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมขับเคลื่อนเพื่อดูแลประชาชน
ส่วนการติดตามตัว 132 คนไทยที่มีภูมิลำเนาใน จ.ปัตตานีนั้น มีทั้งสิ้น 30 คน พบตัวแล้ว 19 คน จึงได้พาตัวทุกคนเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง พบว่าส่วนใหญ่อาการปกติ มีเพียง 7 รายที่มีไข้สูง และอยู่ในความดูแลของแพทย์ รอยืนยันผลการตรวจ 2 แล็บตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข
ส่วนมาตรการการจัดการ แบ่งเป็น 5 เรื่อง คือ 1.คนที่เดินทางไป 4 ประเทศที่มีการระบาดของโรค ตามการประกาศของกระทรวงสาธารณสุข 2. คนที่เดินทางไปมาเลเซีย 3. คนที่เดินทางไปในพื้นที่ที่มีคนป่วย 4. บุคคลที่คนป่วยไปมาหาสู่ และ 5. บุคคลที่ไม่ได้ไปไหน อยู่กับบ้าน แต่กลับมาป่วยขึ้นมา โดยใน 3 กลุ่มแรกต้องกักแยกออก เพราะถือว่าเป็นบุคคลเสี่ยงที่จะติดโรค
ยะลาพบ 9 คน ยังไม่มีอาการป่วย
ขณะที่ นายชัยสิทธ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้นำหน้ากากอนามัย 1,000 ชิ้นไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนที่ตลาดสดเทศบาลนครยะลา พร้อมกับยืนยันว่า ยังไม่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อไวรัสตามที่มีกระแสข่าวทางสื่อสังคมออนไลน์ มีเพียงผู้ต้องสงสัยที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่เมื่อตรวจสอบแล้วก็ไม่พบว่าติดเชื้อ
สำหรับกลุ่มผู้ที่เดินทางไปประกอบกิจกรรมทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย ทางจังหวัดตรวจสอบแล้วพบว่า ในจำนวนคนไทย 132 คนนั้น มีชาวยะลา 9 คน เจ้าหน้าที่พบตัวหมดแล้ว ยังไม่มีอาการป่วย แต่มี 3 คนที่เข้ารับการตรวจเชื้อที่โรงพยาบาลแบบสมัครใจ
นราธิวาสตรวจสุขภาพ 21 คน เป็นไข้ 2
ที่ จ.นราธิวาส มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข โควิด-19 (EOC) และทางศูนย์ EOC ได้ตรวจสอบกรณี 132 คนไทย ประมาณการว่ามีชาวไทยมุสลิมจาก จ.นราธิวาส ไปร่วมกิจกรรมจำนวน 30 คน ทางศูนย์ EOC ได้ดำเนินการติดตามตัวเพื่อซักประวัติ คัดกรองสุขภาพแล้วจำนวน 21 ราย จากจำนวนนี้มี 2 รายที่มีอาการไข้ ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสได้ดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ทางศูนย์ EOC นราธิวาส ขอความร่วมมือผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมของผู้เผยแผ่ศาสนา และผู้สัมผัสใกล้ชิด โทรแจ้ง 1669 หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน และขอเน้นย้ำให้บุคคลที่ไปร่วมงาน ดูแลตนเองโดยการสวมหน้ากากอนามัย และกักตัวเองจนครบเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 14 วัน พร้อมแจ้งศูนย์
EOC นราธิวาสด้วย
สธ.แจงตัวเลขทางการ ติดเชื้อแล้ว 2 ราย
ด้าน นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการติดตามบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่ไปร่วมชุมนุมของผู้เผยแผ่ศาสนาในประเทศมาเลเซียว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงมหาดไทยตรวจสอบทุกพื้นที่ พบว่ามี 2 รายป่วยด้วยอาการทางเดินหายใจ และเข้าสู่การรักษาพยาบาลพร้อมตรวจหาเชื้อแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในการดูแลของแพทย์ ยืนยันว่าสามารถควบคุมได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีเพียง 2 ราย และไม่มีการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง
รองแม่ทัพรุดตรวจด่านชายแดน-ยังไม่ปิดจุดผ่อนปรน
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่มาเลเซีย รุนแรงกว่าไทย ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยสะสม ณ วันที่ 16 มี.ค. พุ่งไปถึง 428 คนแล้ว ส่วนหนึ่งติดจากงานชุมนุมของผู้เผยแผ่ศาสนา
เมื่อวันอาทิตยที่ 15 มี.ค. พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 และรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (รองผอ.รมน.ภาค 4 สน.) จึงได้เดินสายตรวจเยี่ยมมาตรการคัดกรองป้องกันโรคระบาดที่ด่านพรมแดน 4 แห่ง คือ ด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง จ.ยะลา ด่านสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ด่านประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา และด่านสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา
พล.ต.เกรียงไกร บอกว่า ขณะนี้ทุกหน่วยในระดับพื้นที่มีมาตรการที่เข้มงวดและรัดกุมในการคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้ามาตามแนวชายแดน ประกอบกับศูนย์แพทย์ทหารบก และหน่วยหารก็พร้อมสนับสนุนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้จึงยังไม่ถึงขั้นปิดจุดผ่อนปรนหรือ "ท่าข้าม" ที่ประชาชนใช้เดินทางตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยมาตรการปิดจุดผ่อนปรนและท่าข้ามทั้งหมด จะเป็นมาตรการสุดท้าย ซึ่งในสว่นของจังหวัดนราธิวาสมีทั้งหมด 13 จุด
----------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
132 คนไทยจากมาเลย์เสี่ยงโควิด ไม่ได้อยู่แค่สามจังหวัดชายแดนใต้