เป็นเรื่องน่าแปลกที่ประเทศไทยใช้กฎหมายฉุกเฉินทีไร คนกลับรู้สึกว่าไม่ฉุกเฉิน
ไม่ใช่ว่าสถานการณ์ไม่ฉุกเฉิน แต่เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ "ไม่ฉุกเฉิน"
กฎหมายที่รัฐบาลเพิ่งประกาศใช้สู้โควิด-19 คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือเรียกง่ายๆ ว่า "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ"
แต่วิธีการใช้ คือขออนุมัติ ครม.ประกาศใช้เมื่อ 24 มี.ค. และจะเริ่มทยอยออก "ข้อกำหนด" หรือพูดง่ายๆ คือประกาศ-คำสั่งต่างๆ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจที่ พ.ร.ก.ให้ไว้ ในวันที่ 26 มี.ค.
มีช่องว่างของเวลา 2 วัน แล้วแบบนี้จะเรียกฉุกเฉินได้อย่างไร?
ความพร้อมที่บอกว่าต้องเตรียมก่อน จริงๆ แล้วควรพร้อมมาก่อนขอมติ ครม.ให้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่
เพราะกฎหมายออกแบบไว้สำหรับรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง ถึงขั้นที่หากประชุม ครม.ไม่ได้ นายกฯก็สามารถประกาศไปได้ก่อนเลย แล้วค่อยรายงาน ครม.หรือขอมติทีหลัง
นี่แสดงว่าฉุกเฉินจริง ถึงขนาดรอประชุมครม.ยังไม่ทัน
แต่แม้กฎหมายออกแบบไว้อยางนั้น ของเรากลับใช้สวนทาง
ผลก็คือข่าวลือเรื่องเคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้าน ห้ามเดินทาง ห้ามการคมนาคม ทะลักออกมา ทำให้คนแห่กักตุนสินค้า คนที่เตรียมเดินทางก็รีบออกเดินทาง
แล้วอย่างนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะช่วยอะไร เพราะเมื่อนับ 1 ช้า การนับ 2 นับ 3 ไปจนถึง 10 ถึง 100 ก็ล่าช้าตามไปด้วย
เห็นแบบนี้ทำให้นึกถึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในภาคใต้
สถานการณ์ที่นั่นฉุกเฉินจริง มีคนตายทุกวัน ตั้งแต่ปี 47 มาถึงตอนนี้ก็ 4 พันกว่าศพแล้ว ถือว่าฉุกเฉินแน่ๆ
รัฐบาลยุคนั้น (ปี 48) ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีใครค้าน แต่ใช้มานานถึงปี 63 คือ 15 ปีแล้ว คนชักเริ่มสงสัย
กฎหมายออกแบบให้บังคับใช้คราวละ 3 เดือน แต่นี่ใช้มา 15 ปี ต่ออายุขยายเวลามาเกือบ 60 ครั้ง
ชาวบ้านงงว่า...มันหายฉุกเฉินหรือยัง หรือเมื่อไหร่มันถึงจะหายฉุกเฉิน?
มาตรการตาม พ.ร.ก.ล้วนเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ รัฐต้องใช้อย่างระมัดระวัง และใช้เพียงช่วงสั้นๆ ตามที่กฎหมายออกแบบไว้ใช่หรือไม่
เพราะถ้าจำกัดสิทธิ์นานๆ ก็เท่ากับจำกัดถาวร กลายเป็นการลิดรอนสิทธิ์
ฉะนั้นควรใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์ เมื่อคุมได้แล้วก็ถอนออกไป ใช้มาตรการระยะกลางและระยะยาวที่เตรียมไว้มาดูแลต่อ
เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินใหม่ ค่อยประกาศอีกรอบก็ยังได้
มิฉะนั้นกฎหมายจะไม่ศักดิ์สิทธิ์ และจะออกอาการ "ดื้อยา"
ที่สามจังหวัดใต้ ช่วงการต่อ พ.ร.ก.แต่ละครั้ง คือช่วงก่อเหตุของฝ่ายก่อความไม่สงบ
ระวังจะเกิดซ้ำรอยกับปฏิบัติการสู้โควิด!